เนบุตะ หรือ เนปุตะ เป็นเทศกาลสุดยิ่งใหญ่ที่ถือเป็นไฮไลต์หลักในฤดูร้อนของจังหวัดอาโอโมริ ท่ามกลางเสียงขลุ่ย เสียงกลอง และเสียงร้องที่ตะโกนอย่างองอาจ รวมถึงมีขบวนแห่โคมยักษ์ที่ตกแต่งเป็นรูปซามูไร
“เทศกาลอาโอโมริเนบุตะ” เป็นเทศกาลของเมืองอาโอโมริที่หลายคนรู้จักและภูมิใจนำเสนอก็จริง แต่เทศกาลที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานในเมืองรอบ ๆ ปราสาทแคว้นสึการุคือ “เทศกาลฮิโรซากิเนปุตะ” ในสมัยเอโดะเจ้าเมืองก็สืบทอดต่อกันมาว่าเป็นของน่าดูชม นับตั้งแต่ปี 1722 ของข้อความที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งหลงเหลือไว้ในบันทึก ก็ครบรอบ 300 ปีในปี 2022 นี้เอง
ในบทความนี้จะมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเมืองฮิโรซากิอย่าง Tsugaru-han Neputa Village ที่จะทำให้ทุกคนรู้จักกับเทศกาลฮิโรซากิเนปุตะมากขึ้น
Tsugaru-han Neputa Village
Tsugaru-han Neputa Village คือสถานที่ที่ถ่ายทอดเสน่ห์ของเทศกาลฮิโรซากิเนปุตะ ซึ่งเป็นเทศกาลแห่โคมยักษ์อันสวยงามในฤดูร้อน สถานที่นี้มีจุดน่าสนใจคือมีการจัดแสดงขบวนแห่โคมไฟขนาดยักษ์สูง 10 เมตร และเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถฟังการแสดงสดสึการุชามิเซ็น รวมถึงชมบรรยากาศการทำหัตถกรรมพื้นบ้านต่าง ๆ ที่มีเอกลักษณ์
ประวัติความเป็นมาของ “เนปุตะ” และ “เนบุตะ”
ในส่วนของพื้นที่จัดแสดงจะเริ่มที่ Hirosaki Neputa Hall ช่วงแรกเจ้าหน้าที่จะมาอธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาและลักษณะเด่นของเทศกาลฮิโรซากิเนปุตะ รวมถึงทำการแสดงมัทสึริบะยะชิ (祭り囃子) ซึ่งเป็นการแสดงญี่ปุ่นในงานเทศกาลด้วยขลุ่ยและกลองไทโกะ
ที่มาของ “เนปุตะ” และ “เนบุตะ” คือ เนมุรินะงะชิ (眠り流し) ที่มีอย่างแพร่หลายในภูมิภาคโฮคุ ดัดแปลงมาจากการลอยโคมในเทศกาลทานาบาตะ สมัยก่อนในฤดูร้อนจะเป็นที่ช่วงชาวนายุ่งมากๆ จึงมีการลอยโคมหรือไม้ไผ่ตามแม่น้ำหรือทะเลเพื่อขับไล่เทพแห่งนิทราที่จะมาทำให้ชาวนารู้สึกขี้เกียจ เป็นประเพณีที่สำคัญมากในจังหวัดอาโอโมริที่อยู่ทางตอนบนสุดของเกาะฮอนชูและมีช่วงหน้าร้อนที่สั้น ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็พัฒนาให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ชื่องานเทศกาลมาจาก เนมุตะ ที่แสดงถึงความง่วงนอน ส่วนที่มาของชื่อเรียก “เนปุตะ” และ “เนบุตะ” นั้นสันนิฐานว่ามาจากพื้นที่ด้านในที่ห่างจากชายฝั่งทะเล เช่น เมืองฮิโรซากิหรือเมืองโกโชงาวาระ มีสำเนียงนุ่มๆ จึงเรียกว่า “เนปุตะ” ส่วนพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล เช่น เมืองอาโอโมริ ได้รับอิทธิพลจากสำเนียงท้องถิ่นของชาวประมงที่มีความองอาจคึกคักจึงเรียกว่า “เนบุตะ”
ตัวเอกของงานเทศกาลอย่างขบวนแห่โคมจะมีรูปร่างแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จากแต่เดิมที่เคยทำโคมเป็นทรงสี่เหลี่ยมง่ายๆ ก็ค่อยๆ ทำเป็นรูปร่างที่ใหญ่ขึ้น ช่วงปลายสมัยเอโดะก็มีการทำเป็นรูปทรงตุ๊กตา (人形ねぶた, 組みねぷた) ในช่วงกลางสมัยเมจิก็เริ่มมีการทำเป็นรูปพัด (扇ねぷた) เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้เป็นที่รู้กันในวงกว้างว่าเทศกาลในเมืองฮิโรซากิจะมีจุดเด่นตรงที่ทำโคมเป็นรูปพัด ของเทศกาลอาโอโมริเนบุตะจะเป็นรูปทรงตุ๊กตาขนาดใหญ่ ส่วนในเมืองโกโชงาวาระจะทำโคมคล้ายๆ กับหอคอยทรงสูง (立佞武多)
โคมทรงพัดของเมืองฮิโรซากิจะใช้การดึงเชือกปอเพื่อหมุนทั้งหน้าหลัง ด้านหน้าจะเป็นรูป “คากามิเอะ” โดยจะอิงมาจากวรรณกรรมของประเทศจีนอย่างสามก๊กหรือซ้องกั๋ง หรือตำนานเรื่องเล่าผู้บัญชาการศึกในยุคเซ็นโกคุของญี่ปุ่น ให้ความรู้สึกคึกคักกระฉับกระเฉง ส่วนด้านหลังตรงกลางจะวาดเป็นรูปหญิงงามที่เรียกว่า “มิคาเอริเอะ” ซึ่งให้อิมเมจของความนิ่งเงียบสงบ
เหตุผลที่โคมในงานเทศกาลฮิโรซากิเนปุตะส่วนใหญ่ทำเป็นทรงพัดเพราะทำง่ายและใช้งบประมาณไม่เยอะ สำหรับงานเทศกาลอาโอโมริเนบุตะนั้นขบวนแห่โคมจะมีสปอนเซอร์ให้การสนับสนุน ทุกปีจะใช้ต้นทุนประมาณ 20 ล้านเยน อีกทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญในการทำโคมเนบุตะโดยเฉพาะคอยรังสรรค์ขัดเกลาแนวความคิดให้เป็นรูปเป็นร่าง เริ่มทำขึ้นมาตั้งแต่โครงเหล็กโดยใช้เวลา 3 เดือน
ในขณะที่ฮิโรซากิจะเป็นกลุ่มชุมชนท้องถิ่นซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อนหรือกลุ่มอาสาสมัครที่มาเข้าร่วม เหตุที่ทำโคมไฟเป็นรูปทรงพัดเพราะสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่าย ด้วยเพราะศิลปินผู้วาดเนปุตะทุกคนก็มีงานหลักเป็นของตัวเอง จึงทำให้ได้บรรยากาศของความเป็น “เทศกาลท้องถิ่น” อย่างเข้มข้น
Neputa Gallery (Ya-Ya Do)
ถัดจาก Hirosaki Neputa Hall จะเป็นเส้นทางไป Neputa Gallery (Ya-Ya Do) ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงข้อมูลสำคัญของงานเทศกาล และการสาธิตทำโคมรูปปลาทองของจริง
Ya-Ya Do เป็นเสียงร้องตะโกนคลอเสียงดนตรีในงานเทศกาลฮิโรซากิเนปุตะ ทำนองเดียวกับ Rasse ra ที่เป็นเสียงร้องในงานเทศกาลอาโอโมริเนบุตะ มีหลายทฤษฎีพูดถึงที่มาว่าทำไมถึงเป็น Ya-Ya Do บ้างก็ว่ามาจากเพลงเนปุตะเก่าแก่ที่มีท่อนเนื้อร้องว่า Iya iya iya yo บ้างก็ว่ามาจากเสียงตะโกนตอนโกรธว่า Ya ya!
ส่วนโคมปลาทองเนปุตะอันมีเอกลักษณ์นั้นทำเลียนแบบปลาทองพันธุ์ สึการุนิชิคิ (津軽錦) ซึ่งเป็นปลาที่เจ้าเมืองสึการุเคยเลี้ยงดูด้วยความรักความเอาใจใส่ ว่ากันว่าตอนนั้นเป็นของที่เจ้าเมืองคาดหวังว่าจะช่วยทำเงินให้กับเมือง แต่เพาะพันธุ์พลาด จึงสูญพันธุ์ไปแล้วในสมัยเอโดะ เจ้าปลาทองที่เจ้าเมืองเคยให้ความรักนั้นได้กลายมาเป็นโคมเล็กๆ ที่เด็กๆ ถือกันในวันเทศกาล
Tsugaru Craft Center Takumi & Sangendo
นอกจากจะได้รับรู้ประวัติความเป็นมาของเทศกาลแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถสัมผัสกับงานหัตถกรรมท้องถิ่นและการแสดงสึการุชามิเซ็นได้อีกด้วย ที่ Tsugaru Craft Center Takumi นักท่องเที่ยวจะได้ชมงานของช่างฝีมือ เช่น เครื่องเขินสึการุ เครื่องปั้นดินเผาสึการุ เทคนิคการปักผ้าที่เรียกว่าโคะกินซะชิ รวมถึงสามารถลองทำด้วยตัวเองได้ด้วย
ภายใน Sangendo ที่อยู่ลึกข้างในจะจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสึการุชามิเซ็น ที่นี่จะทำการแสดงสดทุกวันโดยนักดนตรีมากฝีมือ เสียงที่ก้องกังวานโดยไม่ต้องผ่านไมค์เป็นอะไรที่ไพเราะจับใจ
ส่วนของพื้นที่จัดแสดงจะมาจบตรงที่ Yokien ซึ่งเป็นสวนสไตล์ญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวสามารถซื้อของได้ที่ร้านขายของที่ระลึกและร้าน Antenna Shop รวมถึงทานอาหารท้องถิ่นได้ที่โรงอาหาร Umaiya
Tsugaru-han Neputa Village (津軽藩ねぷた村)
ที่ตั้ง | 61 Kamenokō-chō, Hirosaki, Aomori Prefecture |
เวลาทำการ | เปิดทุกวัน 9:00 – 17:30 (เข้าได้ถึง 17:00) |
ค่าเข้า | ผู้ใหญ่ ¥600, เด็กมัธยม ¥400, เด็กประถม ¥300, เด็กเล็ก 3 ขวบขึ้นไป ¥100 |
การเดินทาง | นั่งรถไฟมาลงที่สถานี JR Hirosaki แล้วนั่ง Konan bus Tamenobu-go ประมาณ 15 นาที ลงป้าย Tsugaru-han Neputa Village |
เว็บไซต์ (ภาษาอังกฤษ) | neputamura.com |
สรุปเนื้อหาจาก nippon.com (JP), nippon.com (ENG), shikitari, aomori-tourism.com, neputamura.com
เขียนโดย: Lamudni