หากพูดถึงเทศกาลที่โดดเด่นของประเทศไทยนอกจากวันสงกรานต์แล้วก็ต้องเป็นวันลอยกระทงจริงไหมคะ? แต่วันนี้เราไม่ได้จะมาพูดถึงลอยกระทง แต่จะพาทุกคนข้ามฟากไปรู้จักเทศกาลที่คล้ายกันของฝั่งญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเรียกว่า โทโรนางาชิ เทศกาลลอยโคมไฟที่นิยมจัดในช่วงโอบ้งนั่นเองค่ะ!
ความหมายและที่มาของเทศกาลโทโรนางาชิ
ในภาษาญี่ปุ่น โทโร (灯篭) หมายถึงโคมไฟ ส่วน นางาชิ (流し) หมายถึง การไหล ดังนั้น โทโรนางาชิ (灯篭流し) จึงเป็นเทศกาลที่หมายถึงการลอยโคมไฟนั่นเอง โดยเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน แต่ละพื้นที่ของญี่ปุ่นก็จะเริ่มมีการจัดเทศกาลกันแล้ว ซึ่งโทโรนางาชินอกจากจะพัฒนามาจากธรรมเนียมพิธีดั้งเดิมในช่วงโอบ้งของญี่ปุ่นยังได้รับการกล่าวขานให้เป็นเทศกาลแห่งความโรแมนติกคล้ายกับลอยกระทงของไทยอีกด้วย อีกทั้งในด้านวัตถุประสงค์และที่มาก็แฝงไปด้วยความลึกซึ้ง โดยเราจะมาเล่าให้ฟัง 2 ข้อ ดังนี้ค่ะ
1. เทศกาลเพื่อไว้อาลัยแด่เหล่าคนที่ล่วงลับ
ในเทศกาลโทโรนางาชิ จะมีการนำโคมไปลอยกับสายน้ำ โดยเชื่อกันว่าแสงไฟที่จุดบนโคมนั้นจะคอยส่องสว่างนำทางดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับข้ามฝ่าแม่น้ำ มหาสมุทร ได้โดยไม่หลงทางและหวนคืนสู่โลกอื่นได้สำเร็จ
2. กิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการสูญเสียจากเหตุการณ์ระเบิดปรมาณู
โอคุริบิ (送り火) การจุดไฟเพื่อส่งวิญญาณ
เทศกาลโทโรนางาชิ คาดว่าเริ่มขึ้นที่จังหวัดฮิโรชิมะในช่วงสมัยหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหากเราลองย้อนความดูจะพบว่าก่อนจะมีเทศกาลดังกล่าว แต่ละพื้นที่ของญี่ปุ่นก็มีพิธีที่คล้ายกันเรียกว่า โอคุริบิ (送り火) หรือการจุดไฟเพื่อส่งวิญญาณที่กลับมายังโลกในช่วงโอบ้งให้เดินทางกลับสู่ภพภูมิได้อย่างปลอดภัย โดยในช่วงนั้นจะถือเป็นการทำบุญรำลึกให้เหยื่อจากเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูและขอพรให้ช่วยฟื้นฟูเมืองไปในตัวด้วย ในวันนั้นผู้คนก็จะมีการนำโคมทำมือมาจุดไฟทำพิธีโอคุริบิ แล้วจึงค่อยนำไปลอยกับสายน้ำ ซึ่งก็ว่ากันว่านั่นจึงเป็นที่มาของเทศกาลโทโรนางาชิในปัจจุบัน
บงโชชิน หรือการจุดไฟรอบ ๆ สุสานในช่วงเทศกาลโอบ้ง
นอกจากโทโรนางาชิแล้ว ที่จังหวัดฮิโรชิม่าก็ยังมีอีกธรรมเนียมดั้งเดิมที่เรียกว่า บงโชชิน (盆提灯) ซึ่งเป็นการจุดไฟรอบ ๆ สุสานในช่วงเทศกาลโอบ้ง โดยกล่าวกันว่าน่าจะมีส่วนเชื่อมโยงทำให้เกิดโทโรนางาชิ เช่นกัน
ช่วงเวลาและธรรมเนียมปฏิบัติ
แม้ช่วงเวลาในการลอยโคมจะเป็นในช่วงโอบ้งก็จริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ รวมถึงธรรมเนียมปฏิบัติก็อาจจะไม่เหมือนกันเช่นกัน แต่เราจะขอมาอธิบายในส่วนที่เป็นพื้นฐานคร่าว ๆ ให้ฟังกันค่ะ
1. ช่วงเวลาสำหรับเทศกาล
อย่างที่ได้กล่าวไปว่ามักจะจัดขึ้นในช่วงโอบ้งของทุกปี หากใครตั้งใจจะไปร่วมเทศกาลก็อาจจะใช้การอ้างอิงช่วงเวลาของการจัดโอบ้งในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละแห่ง เช่น จัดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม เพื่อรำลึกถึงเหยื่อในโอกาสครบรอบวันสิ้นสุดครามโลก หรือในฮิโรชิมะก็จะเป็นวันที 6 สิงหาคม เพื่อธิษฐานถึงสันติภาพ
2. ธรรมเนียมปฏิบัติ
โดยพื้นฐานแล้วจะจัดขึ้นในช่วงค่ำของวันสุดท้ายโอบ้ง ตัวโคมก็จะใช้ไม้หรือกระดาษมาทำแล้วค่อยนำไปลอยกับแม่น้ำหรือทะเล โดยเรายังสามารถเขียนชื่อหรือข้อความไว้บนตัวโคมได้อีกด้วย
มาตรการรักษาสิ่งแวดล้อม
บางคนอาจจะสงสัย เช่นเดียวกับประเด็นถกเถียงในช่วงลอยกระทงของไทยว่าเทศกาลแบบนี้เป็นสร้างขยะหรือไม่? ในส่วนของโทโรนางาชิในยุคปัจจุบันก็มีความเข้มงวดในเรื่องสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก โดยในบางพื้นที่มีการออกเป็นมาตรการสั่งห้ามลอยโคมในแม่น้ำหรือทะเลเลยทีเดียว แม้แต่ในพื้นที่ซึ่งอนุญาตให้ลอยได้ก็มีการกำหนดระยะเวลาในการลอยเช่นเดียวกัน ส่วนเทศกาลโทโรนางาชิที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่เองก็จะอนุญาตให้ลอยได้เฉพาะโคมที่ทางผู้จัดได้กำหนดไว้เท่านั้น
หากใครตั้งใจจะไปสัมผัสลอยกระทงฉบับญี่ปุ่น ก็ต้องอย่าลืมว่าไม่ใช่จะสุ่มสี่สุ่มห้าไปลอยได้ตามอำเภอใจ ควรศึกษาข้อกำหนดและรายละเอียดของงานนั้น ๆ ให้ดีซะก่อน ซึ่งถ้าใครพร้อมรักษากฏก็เตรียมจัดกระเป๋าแพลนรอเที่ยวได้เลย!
อ้างอิงบทความ : famille-kazokusou