คนญี่ปุ่นผูกพันกับความเชื่อโบราณมาช้านาน แม้จะเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเช่นนี้แล้วก็ตาม เราก็ยังคงเห็นวัฒนธรรมความเชื่อสอดแทรกอยู่ตามเทศกาลต่างๆ อยู่เรื่อยมา เช่นเดียวกับเทศกาลจิ้งจอกสุดแปลก ดงกิ (Donki, どんき) แห่งเมืองโทโยคาวะ จังหวัดไอจิ ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านมาเปิดโลกทำความรู้จักเทศกาลที่ว่านี้กันค่ะ
เทศกาลประจำวันเหมายัน
เทศกาลดงกิ มักจัดขึ้นที่บริเวณ วัดโชโชจิ (choshoji, 長松寺) ในวันอาทิตย์ที่สาม เดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงของ “วันเหมายัน” หรือก็คือวันที่แกนซีกขั้วโลกเหนือจะเอียงออกห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด จนทำให้แสงจากดวงอาทิตย์อ่อนแรงลงและเกิดเป็นวันที่กลางวันสั้นที่สุดของปี
ทางฝั่งตะวันตกจะคุ้นเคยกับการเฉลิมฉลองวันเหมายันในฐานะของช่วง “เทศกาลคริสมาสต์” ส่วนในญี่ปุ่นก็จะเป็นเทศกาล “ดงกิ” นี่เอง โดยกล่าวกันว่าเมื่อถึงเวลาที่วันเหมายันมาเยือน เสียงกรีดร้องจะดังระงมไปทั่วเทศกาล เพราะ “มนุษย์จิ้งจอกสีขาว” จะปรากฏตัวขึ้นคอยไล่จับผู้คนที่ผ่านไปมา
ทำไมถึงต้องเป็น “สุนัขจิ้งจอก”
ก่อนจะไปที่จิ้งจอกเราจะต้องเริ่มจากเทพธิดาองค์หนึ่งก่อน นั่นก็คือ ฑากิณี (Dakini, ダーキニー) เป็นเทพธิดาที่มาจากความเชื่อโบราณทางพระพุทธศาสนาของอินเดีย กล่าวกันว่าเดิมทีนางเป็นผู้รับใช้ของพระนางกาลีเทพธิดาแห่งการฆ่าฟันของฮินดู โดยนางสามารถทำนายความตายล่วงหน้าได้ 6 เดือนด้วยการกินเนื้อและหัวใจ ทว่าต่อมาเมื่อความเชื่อแพร่เข้ามาในญี่ปุ่นเทพฑากิณีก็ได้กลายเป็นเทพธิดาฝั่งความดี มีรูปลักษณ์สวยงามขี่จิ้งจอกสีขาว
ด้วยประการเช่นนี้เองจิ้งจอกขาวจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของผู้ส่งสารเทพเจ้าในความเชื่อญี่ปุ่น ในปัจจุบันเราจึงมักเห็นรูปปั้นสุนัขจิ้งจอกประดับอยู่ตามอินาริของญี่ปุ่นเป็นปกติ และหนึ่งในสามอินาริสำคัญอย่าง โทโยคาวะอินาริ (Toyokawa Inari, 豊川稲荷) ก็เป็นอินาริที่แสดงให้เห็นถึงความเคารพจิ้งจอกอย่างสูง ภายในอินาริจะมีจุดที่เป็นที่ตั้งของรูปปั้นจิ้งจอก 1000 ตัว รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็นเขตแดนแห่งพลังงานศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย
ความหมายที่แท้จริงของเทศกาลสีชาด
แม้จะฟังดูน่าพิศวงแต่ความจริงแล้วเทศกาลดงกิไม่ได้มีอันตรายใด ๆ ตรงข้ามซะอีก เพราะเป็นงานที่จัดขึ้นมายาวนานตั้งแต่สมัยเอโดะเพื่อสวดภาวนาขอให้เทพเจ้าช่วยคุ้มครองผู้คนจากอัคคีภัย อีกทั้งการใช้สีแดงละเลงไปที่เด็กหรือคนที่ผ่านไปมาก็เป็นการขอพรให้เทพเจ้าช่วยดูแลสุขภาพคน ๆ นั้นให้แข็งแรง
เพราะสีแดงสำหรับญี่ปุ่นมีความเกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์ ไฟ และเลือด หรือก็คือเป็นสัญลักษ์ของชีวิตและพลังงานที่จะช่วยในการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ดังที่เราจะเห็นว่าประตูโทริอิเองก็ถูกทาด้วยสีแดงเช่นกัน นอกจากนี้แล้วยังมีอีกทฤษฎีว่าคันจิสีแดงคำว่าอากะ ( 赤 ) นั้น ประกอบมาจากคันจิคำว่าใหญ่ ( 大 ) กับไฟ ( 火 ) ซึ่งอนุมานได้ว่าหมายถึงการที่ผู้คนจะถูกชำระล้างด้วยกองไฟกองใหญ่นั่นเอง
พิธีกรรมในเทศกาลดงกิ
ในงานพิธีวันเทศกาลจะประกอบไปด้วยมนุษย์จิ้งจอกตาสีแดงและสีน้ำเงินอย่างละ 2 คน เทนงูสีแดง และเทนงูสีน้ำเงินอีกอย่างละ 1 คน รวมเป็น 6 คน โดยเริ่มแรกทั้งกลุ่มจะเข้าไปนั่งฟังบทสวดมนต์ป้องกันอัคคีภัยในห้องโถงพร้อมกับเด็ก ๆ จากนั้นจึงค่อยออกมาตั้งแถวขบวนแห่ โดยจะเรียงลำดับเป็น หัวหน้าชุมชน พระสงฆ์ คณะกรรมการชุมชน เด็ก และปิดท้ายด้วยกลุ่มมนุษย์จิ้งจอก ตลอดขบวนแห่ก็จะมีสวดอธิษฐานขอให้ไม่มีอัคคีภัยและสาดเกลือปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไปพร้อมกัน
ต่อมาก็จะเป็น กิจกรรมการวิ่งไล่ละเลงสีแดง ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่เป็นจุดเด่นสำคัญของงานเทศกาล บรรดามนุษย์จิ้งจอกขาว จะมีแผ่นกระดาษสีน้ำเงินซึ่งเอาไว้เป็นฐานจุดพักและเติมเสบียง ส่วนอุปกรณ์จะมีถังสีแดงเลือดหมู (เป็นสีผสมอาหาร) พร้อมกับแท่งคล้ายพู่กันยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งสิ่งนั้นเองที่เรียกว่า “ดงกิ” อาวุธที่มองเผินๆ ดูอันตราย แต่ความจริงแล้วทำมาจากกระดาษ
ขั้นตอนก่อนออกวิ่งไล่ เริ่มแรกจะมีเสียงสัญญาณระฆังดังขึ้น จากนั้นเหล่ามนุษย์จิ้งจอกขาวก็จะไปรวมตัวกันบนสะพานสีฟ้าเพื่อชนสาเกเริ่มการเฉลิมฉลอง สุดท้ายเมื่อมีการจุ่มดงคิที่มีผ้าลงในถังสีแดง จะถือเป็นการสิ้นสุดการเตรียมตัว กลุ่มมนุษย์จิ้งจอกขาวจะกระจายตัววิ่งไล่ละเลงสีคนในงานเทศกาลทันที โดยเป้าหมายส่วนใหญ่ของดงคิจะเป็นเด็ก จึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นเด็กร้องไห้วิ่งหนีไปทั่วงาน ส่วนคนที่ถูกจับได้ก็จะถูกตีเบาๆ หรือละเลงหน้าด้วยสีแดง พร้อมกับมีเสียงตะโกนอวยพรให้ว่า “ขอให้สุขภาพแข็งแรง!”
この投稿をInstagramで見る
รายละเอียดงานเทศกาล
สถานที่จัดงาน | บริเวณวัดโชโชจิ เมืองโทโยกาวะ จังหวัดเกียวโต |
ที่อยู่ | Kitaura-17-1 Mitocho Shimosawaki, Toyokawa, Aichi 441-0302 Japan |
วันเวลาจัดงาน | วันอาทิตย์ที่ 3 เดือนธันวาคมของทุกปี |
วิธีเดินทาง | ขึ้นรถไฟ JR ลงสถานี Aichi-Mito Station แล้วเดินต่ออีกประมาณ 15 นาที |
หากใครกำลังมองหาเทศกาลสนุก ๆ ที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น แถมแฝงไปด้วยความลึกลับทางวัฒนธรรมเช่นนี้ ก็อยากให้ลองแวะไปร่วมเทศกาลดงกิดูให้ได้สักครั้งนะคะ
สรุปเนื้อหาจาก web-mu.jp omatsurijapan