ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการไปเที่ยวญี่ปุ่นแถว ๆ ภูมิภาคคันไซ หรือต่อให้ไม่เคยไปญี่ปุ่นก็คงจะเคยได้ยินมาว่ากวางเป็นสัญลักษณ์ของเมืองนารา แต่นอกจากเรื่องที่น้องกวางเหล่านี้ชอบกินเซ็มเบ้แล้ว มีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกบ้าง? วันนี้เราขอแนะนำ 5 เกร็ดความรู้เกี่ยวกับกวางนาราให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักกัน
1. ทำไมสวนนาราถึงมีกวางเต็มไปหมด?
พื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนนี้ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของกวางนั้นครอบคลุมถึงพื้นที่ ศาลเจ้าคาสุกะ (春日大社, Kasuga-taisha) ด้วย โดยว่ากันว่า เทพทาเคมิคาซุจิโนะ มิโคโตะ (武甕槌命) แห่งศาลเจ้าคาสุกะได้เดินทางมาจาก ศาลเจ้าคาชิมะ (鹿島神社, Kashima-jinja) (จังหวัดอิบารากิ) โดยใช้พาหนะคือกวางศักดิ์สิทธิ์ ทำให้กวางได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างดีมาตั้งแต่อดีตในฐานะสัตว์รับใช้ของเทพเจ้า และปัจจุบันกวางนาระยังเป็นสัตว์คุ้มครองอีกด้วย
2. นอกจากเซ็มเบ้แล้ว กวางพวกนี้กินอะไร?
หลายคนอาจจะรู้กันดีว่ากวางนารากิน “ชิกะเซ็มเบ้” (鹿せんべい, Shika senbei) อย่างไรก็ตาม โดยพื้นเพแล้วกวางที่นี่เป็นสัตว์ป่าซึ่งสามารถหาอาหารได้เองอยู่แล้ว ในแต่ละปีกวางจะกินพืชชนิดต่าง ๆ ตั้งแต่หญ้าในสนามของสวน หญ้าสุสุกิ (ススキ) พืชสกุลข้าว และหญ้าแห้วหมูเวียนกันไป
เราสามารถแบ่งกลุ่มกวาง ออกได้เป็น 2 กลุ่มตามลักษณะอาหารที่พวกมันกิน ได้แก่ “กวางสวน” ที่อาศัยตามที่ราบของสวน และ “กวางภูเขาวาคาคุสะ” ทั้งนี้ กวางทั้งสองกลุ่มจะกินหญ้าของสวนนาระเป็นหลัก การที่พวกมันพึ่งหญ้าในสวนเป็นอาหารหลักนี้เองที่ทำให้กวางที่นี่แตกต่างจากกวางในพื้นที่อื่น ๆ ของญี่ปุ่น
3. ชิกะเซ็มเบ้ที่กวางกินทำมาจากอะไร?
จากที่เราทำความรู้จักกันไปก่อนหน้านี้ว่ากวางกินหญ้าเป็นอาหารหลัก บางคนอาจจะสงสัยว่าส่วนผสมของชิกะเซ็มเบ้ทำมาจากอะไรและดีต่อสุขภาพของกวางไหม? ซึ่งคำตอบก็คือไม่ต้องเป็นกังวลไป! เพราะชิกะเซ็มเบ้ทำจากแป้งสาลีและรำข้าวโดยคำนึงถึงสุขภาพของกวางเป็นสำคัญ และไม่มีการใส่เครื่องปรุงรสอย่างน้ำตาลเลย ดังนั้นจึงเป็นขนมที่มั่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้น้องกวางป่วย ซึ่งชิกะเซ็มเบ้เป็นแบรนด์ของสมาคมคุ้มครองกวางที่ขึ้นทะเบียนการค้าเรียบร้อย และเป็นแบรนด์ที่นำรายได้ส่วนหนึ่งไปใช้ในการดูแลคุ้มครองน้องกวางต่อไปอีกด้วย!
4. ประเพณีประจำปีที่เกี่ยวข้องกับกวางนารา
1. ประเพณีชุมนุมกวาง
ประเพณีชุมนุมกวาง (鹿寄せ) เป็นหนึ่งในประเพณีดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับกวาง โดยจะเป็นการใช้เสียงแตรเรียกกวางให้มารวมตัวกันดั่งเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาในนารายุคโบราณ กิจกรรมนี้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2405 และเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นปีละหลายครั้งที่ โทบิฮิโนะ (飛火野, Tobihino) ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของศาลเจ้าคาสุกะ
ปัจจุบันแตรที่ใช้คือแตร Natural Horn โดยเมื่อเจ้าหน้าที่เป่าปุ๊บ กวางจำนวนมากจะพากันออกมาจากป่าแล้วมารวมตัวกัน ถือเป็นบรรยากาศที่เห็นได้เฉพาะที่นาราเท่านั้น
2. ประเพณีตัดเขากวาง
ประเพณีตัดเขากวาง (角きり) เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่เป็นไฮไลต์ประจำฤดูใบไม้ร่วงของเมืองที่เป็นเมืองหลวงเก่า โดยเริ่มขึ้นในสมัยเอโดะ (พ.ศ. 2146 – พ.ศ. 2441) ด้วยจุดประสงค์เพื่อความปลอดภัยและป้องกันต้นไม้ในสวน โดยประเพณีจะเป็นการนำกวางตัวผู้มาตัดเขาที่ถือเป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของกวางให้สั้นลง แม้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่เขากวางก็สามารถงอกขึ้นใหม่ได้ตามธรรมชาติเช่นเดิม อีกทั้งประเพณีนี้ถือเป็นประเพณีเฉพาะตัวของนาราและมีจุดเริ่มต้นจากประวัติศาสตร์ที่คนและกวางอาศัยอยู่ร่วมกัน
5. จะไปเยี่ยมน้องกวาง ต้องระวังอะไรบ้าง?
ด้วยความที่กวางที่นี่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับคน ทำให้สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือการป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุขึ้น เพื่อความปลอดภัยของทั้งเราและน้องกวาง เพียงระวังใน 2 ข้อนี้ เพื่อน ๆ ก็สามารถเยี่ยมน้องได้อย่างสบายใจแล้ว
1. ความปลอดภัยทางด้านจราจร
ถ้าเพื่อน ๆ เช่ารถขับเที่ยว ขอให้ขับรถอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะในบริเวณสวน เพราะกวางในสวนมักจะกระโดดออกมาบนถนนอย่างกะทันหัน ดังนั้นขอให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดและระวังเรื่องความเร็ว
2.อาหาร
เพราะกวางไม่สามารถที่ย่อยอาหารของคนได้ ดังนั้นขอให้เพื่อน ๆ อย่าให้อาหารอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ชิกะเซ็มเบ้โดยเด็ดขาด และไม่ทิ้งถุงพลาสติกหรือขยะอื่น ๆ ไว้ในพื้นที่สวนเนื่องจากจะเป็นอันตรายหากกวางกินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว โดยในพื้นที่สวนจะมีถังขยะตั้งไว้ให้ในหลายจุด ดังนั้นขอให้เพื่อน ๆ ทิ้งขยะลงถังหรือถ้าหาถังขยะไม่เจอก็ขอให้เก็บกลับไปทิ้งที่อื่นหรือทิ้งที่บ้านแทน
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หวังว่าเพื่อน ๆ จะได้สนุกเกร็ดความรู้เกี่ยวกับกวางนาระไม่มากก็น้อย และหวังว่าทุกคนจะสนุกกับการไปเยี่ยมกวางที่สวนนารานะครับ
สรุปเนื้อหาจาก: narashikanko, prefnara
ผู้เขียน: แม่ของบุตรสาวแห่งกวังยา