ห้องรกมาก จัดเท่าไรก็กลับมารกตลอด? ไหนใครมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บ จัดระเบียบกันบ้างเอ่ย ใครอยากจัดบ้านให้น่าอยู่ หาอะไรก็เจอ เป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนคนญี่ปุ่น แต่ก็ขี้เกียจซะเหลือเกิน ตามมาอ่านเทคนิคสร้างนิสัยจัดเก็บบ้านสไตล์ญี่ปุ่นกันดีกว่า
ลักษณะของคนที่จัดเก็บของไม่เป็นที่
- มีของชนิดเดียวซ้ำกันหลายอัน
- ไม่สามารถทิ้งเอกสารใด ๆ ได้เลย มักสะสมไปเรื่อย ๆ แยกไม่ออกว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น
- มีถุงช้อปปิ้งเยอะ และมักทิ้งของที่ซื้อเอาไว้ในถุงนั้น
- พื้นที่สำหรับจัดเก็บของมักเต็มไปด้วยของที่ไม่ได้ใช้
- พื้นที่สำหรับจัดเก็บของแน่นเอี๊ยด ยากต่อการเอาของเข้าออก
- ไม่กำหนดพื้นที่สำหรับจัดเก็บของ (ตำแหน่งประจำ) มักจะวางของในพื้นที่ว่าง ๆ ตลอด
- กังวลว่าของจะหมด จึงสต็อกเก็บไว้มากเกินไป
- ขนาดกล่องเก็บของไม่สัมพันธ์กับขนาดของ
- จัดเก็บสิ่งของโดยไม่พิจารณาถึงความถี่ในการใช้งาน ทำให้หยิบจับใช้งานไม่สะดวก
- มีเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่เลยตลอด 2 ปี
ใครที่มีลักษณะตรงตามลิสต์ด้านบนตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไปละก็ ขอแสดงความเสียใจด้วย คุณคือคนที่จัดระเบียบสิ่งของไม่เป็นค่ะ! แต่ไม่เป็นไรค่ะ ทุกปัญหามีทางแก้ วันนี้เราจะพามาส่อง 5 ทริคดี ๆ ในการจัดเก็บบ้านของชาวญี่ปุ่นกันค่ะ
เทคนิคที่ 1: เริ่มจากพื้นที่เล็ก ๆ
พื้นที่เล็ก ๆ บริเวณห้องน้ำหรือทางเข้าบ้านสามารถจัดระเบียบและทำความสะอาดได้ง่ายค่ะ เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดในการจัดวางสิ่งของ จึงใช้เวลาไม่นาน แถมข้อดีอีกอย่างก็คือ การเริ่มจัดระเบียบจากพื้นที่เล็ก ๆ จะช่วยให้เรารู้สึกไม่ยุ่งยาก ไม่ลำบาก เกิดเป็นแรงจูงใจเล็ก ๆ ที่จะจัดเก็บในส่วนที่ใหญ่ต่อไปได้นั่นเอง เหมาะกับคนที่ไม่ถนัดงานจัดเก็บมาก ๆ เลย
เทคนิคที่ 2: ของสำคัญให้จัดทีหลัง
ของที่ชอบ ของสำคัญ จะจัดเก็บแต่ละทีก็คิดแล้วคิดอีกว่าจะเก็บไว้ตรงไหนใช่ไหมล่ะคะ รู้ตัวอีกทีก็เสียเวลาไปมากโขแล้ว ลองจัดเก็บของที่ไม่ค่อยใช้ ไม่ค่อยสำคัญดูก่อน หลังจากเก็บไปได้สักพัก พอเริ่มชินแล้วค่อยเริ่มจัดของสำคัญ รับรองว่าเครื่องติด สมองประมวลผลเร็ว จัดอะไรก็รวดเร็วไปหมดแน่นอน
เทคนิคที่ 3: จัดกลุ่ม
เทคนิคสำคัญของการจัดระเบียบสิ่งของ คือ การจัดกลุ่มแยกประเภท เริ่มจากแยกเครื่องเขียน เอกสาร หนังสือ และยาออกเป็นไอเทมต่าง ๆ โดยสิ่งของที่ใช้บ่อย ๆ ให้แยกออกเป็นไอเทมละ 1 ลิ้นชักเลย หรือจัดสรรพื้นที่จัดเก็บออกเป็นช่อง แล้วจัดสิ่งของแยกกลุ่มแยกประเภทเอาไว้ ก็จะช่วยให้เอาของเข้าออกได้ง่ายขึ้น เมื่อแยกประเภทเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อไปให้รวบรวมของที่ต้องใช้ในสถานการณ์เดียวกันเข้าไว้ด้วยกัน เช่น แยกเสื้อผ้า เข็มขัด ถุงเท้าสำหรับใส่ทำงานเอาไว้โซนหนึ่ง และแยกเสื้อผ้าสำหรับใส่ไปเที่ยวในวันสุดสัปดาห์เอาไว้อีกโซนหนึ่ง เป็นต้น ส่วนกรณีของเครื่องเขียน ให้รวบรวมกรรไกร เทปกาวต่าง ๆ ใส่ไว้ในกล่องเดียวกัน เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่มักจะใช้ร่วมกันอยู่แล้ว จะได้ไม่เสียเวลาหานาน
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการจัดเก็บกลุ่มอื่น ๆ อีก เช่น
- กลุ่มรับแขก (ผ้าเช็ดมือสำหรับโต๊ะอาหาร ตะเกียบ ที่วางตะเกียบ หลอด กระดาษเช็ดปาก ฯลฯ)
- กลุ่มพักผ่อน (ชุดว่ายน้ำ ฯลฯ ไม่จัดเก็บแยกกับที่บ้าน แต่ให้เก็บรวมไว้ในที่เดียวกัน)
- กลุ่มพิธีการ (ถุงน่อง กระเป๋า ซองสำหรับงานมงคล ฯลฯ)
- กลุ่มชั้นในและผ้าเช็ดตัว (เก็บชุดชั้นในในห้องแต่งตัวแทนตู้เสื้อผ้า)
[กล่องเก็บของแยกประเภท]
ถ้าอยากจัดเก็บของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ให้ใช้กล่องเก็บของที่มีขนาดพอดีกับชั้นเก็บ และหากกล่องนั้นมีสีและมีรูปแบบเดียวกันทั้งหมด จะช่วยเพิ่มความเป็นระเบียบ ดูมินิมอลเข้าไปอีก!
เทคนิคที่ 4: กำหนดตำแหน่งวางที่แน่นอน
เมื่อใช้งานสิ่งของใด ๆ เสร็จแล้ว ให้กำหนดตำแหน่งสำหรับเก็บสิ่งของนั้น ๆ เอาไว้ เพื่อให้ภายหลังสามารถหาเจอได้โดยง่าย ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาจนห้องรก! โดยทั่วไปแล้ว ตำแหน่งจัดเก็บควรอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลตำแหน่งที่ใช้งานค่ะ โดยให้วางสิ่งของที่มักจะถูกลืมไว้ในตะกร้าหรือบนถาด เช่น รีโมตที่มักหายเสมอก็ให้วางไว้บนชั้นวางทีวี เมื่อใช้เสร็จแล้วก็นำกลับมาไว้ที่เดิม ตรงจุดที่ตนเองกำหนดไว้ ก็จะช่วยป้องกันความยุ่งยากเพราะหาไม่เจอในภายหลังได้
เทคนิคที่ 5: แยกให้ได้ว่าอันไหนจำเป็นจริง ๆ
หากมีสิ่งของเยอะมาก เยอะเกินกว่าพื้นที่จัดเก็บของเราจะรับไหว ให้ตัดใจทิ้งมันไปเสียบ้างดีกว่า ไม่ควรเก็บทุกอย่าง แต่ก็เข้าใจนะคะ จู่ ๆ จะให้ทิ้งของเลยก็คงจะหักดิบเกินไป ค่อย ๆ ฝึกฝน เริ่มแยกทิ้งวันละชิ้นสองชิ้น โดยอาจเริ่มจากใบเสร็จ 1 ใบก่อน จากนั้นค่อย ๆ พยายามไปเรื่อย ๆ สักวันจะสามารถแยกได้เองค่ะ ว่าอันไหนจำเป็นอันไหนไม่จำเป็น
เป็นอย่างไรกันบ้าง ลองนำเทคนิคดี ๆ ไปปรับใช้กันดูนะคะ เชื่อว่าทริคเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสกิลจัดเก็บของทุกคนแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเทคนิคใด ๆ จะไม่สำเร็จเลยหากไม่เริ่มลงมือทำ ว่าแล้วก็เริ่มเก็บของในห้องบ้างดีกว่า !
สรุปเนื้อหาจาก pacoma.jp