หลาย ๆ คนมักคิดว่าทุกอย่างที่ใส่ตู้เย็นจะเป็นอมตะไม่มีวันเน่าเสีย แต่ความจริงแล้วก็มีวัตถุดิบบางชนิดที่ไม่ควรเก็บในตู้เย็นเพราะอาจจะทำให้คุณภาพลดลงเร็วกว่าเดิม! วันนี้เราจะมาอธิบายถึงวัตถุดิบ 13 ชนิดที่ไม่ควรใส่ในตู้เย็นและวิธีเก็บรักษาอย่างเหมาะสมตามฉบับแม่บ้านญี่ปุ่น!
อาหารทุกชนิดไม่ได้เหมาะกับการเก็บในตู้เย็น!
อาหารแต่ละประเภทเหมาะกับสภาพแวดล้อมในการจัดเก็บแตกต่างกัน อาหารบางชนิดไม่เหมาะสำหรับการเก็บในตู้เย็น หรือแม้แต่อาหารที่สามารถเก็บในตู้เย็นได้ก็ต้องแยกเก็บในช่องที่ต่างกัน โดยพื้นฐานแล้ว อาหารที่ไม่เหมาะสำหรับการเก็บในตู้เย็นส่วนมากก็จะเป็นอาหารที่ไม่เหมาะกับอุณหภูมิต่ำ ส่งผลเสียต่ออาหารอื่น ๆ หรือได้รับผลเสียจากอาหารอื่น ๆ เกิดการเสื่อมสภาพเร็วขึ้น รสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัสอาจแย่ลง เราจึงควรเก็บอาหารไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับสิ่งนั้น แต่หลายคนมักติดนิสัยนำอาหารใส่ตู้เย็นโดยไม่รู้ตัวเพราะคิดว่าอยู่ในตู้เย็นจะไม่เน่าเสีย ซึ่งมันไม่เน่าเสียก็จริงแต่บางครั้งอาจทำให้อาหารคุณภาพลดลงได้
อาหาร 13 ชนิดที่ไม่ควรเก็บในตู้เย็น
1. ขนมปัง
ในตู้เย็นมีสภาพที่แห้ง และความแห้งก็เป็นศัตรูของขนมปัง! หากเก็บขนมปังไว้ในตู้เย็น ขนมปังจะสูญเสียความชุ่มชื้นทำให้แห้ง แข็ง เสื่อมสภาพ และรสชาติแย่ลง โดยทั่วไปควรเก็บขนมปังไว้ที่อุณหภูมิห้องและทานให้หมดภายในวันหมดอายุที่ระบุไว้ หากทานไม่หมด ให้ห่อกระดาษฟอยล์แยกทีละชิ้น ใส่ในถุงซิปล็อคและเก็บในช่องแช่แข็ง เมื่อจะนำมาทานก็สามารถปล่อยให้หายแข็งได้ตามธรรมชาติที่อุณหภูมิห้อง หรือนำไปปิ้งในเครื่องปิ้งขนมปังก็อร่อยเช่นกัน
2. กล้วย
กล้วยเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน จึงไม่ชอบสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น หากใส่ในตู้เย็นจะทำให้สุกช้าและมีจุดสีดำ แถมอุณหภูมิต่ำยังทำให้ความหวานหมดไป วิธีที่ดีที่สุดคือการแขวนไว้ในอุณหภูมิห้อง จะช่วยให้กล้วยสุกอย่างเหมาะสม มีรสหวาน และการแขวนไว้ยังช่วยไม่ให้กล้วยเสื่อมสภาพง่ายอีกด้วย นอกจากนี้ การนำกล้วยดิบใส่ในถุงกระดาษจะช่วยเร่งให้สุกเร็วขึ้นได้เนื่องจากมันจะปล่อยก๊าซเอทิลีนออกมา นี่เป็นเคล็ดลับที่สามารถใช้ได้หากต้องการให้กล้วยสุกอย่างเร่งด่วน
3. มะเขือเทศสุก
มะเขือเทศเป็นผักที่ถูกกระตุ้นให้สุกได้ในที่เย็น แต่หากเก็บมะเขือเทศที่สุกอยู่แล้วไว้ในตู้เย็น มะเขือเทศจะยิ่งถูกกระตุ้นจนเสื่อมสภาพเร็วขึ้นและไม่ค่อยมีกลิ่นหอม หากอากาศร้อนแนะนำให้เก็บไว้ในช่องเก็บผักในตู้เย็น แต่ในฤดูกาลอื่นสามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องได้ไม่มีปัญหา ห่อมะเขือเทศแต่ละลูกด้วย Kitchen Paper เก็บในที่เย็นและมืดโดยคว่ำด้านจุกลง หากต้องการทานมะเขือเทศสุกที่รสชาติหวานหอมก็ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง จะสามารถลิ้มรสรสชาติที่แท้จริงได้อย่างเต็มที่
4. แอปเปิ้ล
การเก็บแอปเปิ้ลในตู้เย็นไม่ได้ส่งผลเสียอะไรต่อตัวแอปเปิ้ลเอง แต่ก๊าซเอทิลีนที่แอปเปิ้ลปล่อยออกมาจะส่งผลกระทบกับอาหารอื่น ๆ จึงไม่เหมาะที่จะเก็บไว้ในตู้เย็น แนะนำให้ห่อแอปเปิ้ลแต่ละลูกด้วยหนังสือพิมพ์หรือ Kitchen Paper แล้วเก็บที่อุณหภูมิห้องในที่มืดและเย็น หากเป็นช่วงอากาศร้อนให้ห่อแต่ละลูกแล้วใส่ในถุงพลาสติก เก็บไว้ในช่องเก็บผักในตู้เย็นเพื่อป้องกันไม่ให้ก๊าซเอทิลีนส่งผลกระทบต่ออาหารอื่น ๆ ก๊าซเอทิลีนมีคุณสมบัติที่น่าสนใจคือมันมีผลในการเร่งการสุกของผลไม้อื่น ๆ ด้วย ดังนั้นการเก็บไว้กับผลไม้ที่ยังไม่สุกจึงสามารถเร่งให้สุกเร็วขึ้นได้ อย่างเช่นการใส่ลูกแพร์ลงในถุงกระดาษที่มีแอปเปิ้ลก็เป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้สุกเร็วขึ้น
5. มันฝรั่ง
การเก็บมันฝรั่งไว้ในตู้เย็นจะทำให้เสื่อมคุณภาพ สูญเสียรสชาติและเนื้อสัมผัสที่ดีไป โดยทั่วไปควรเก็บมันฝรั่งไว้ที่อุณหภูมิห้องในจุดที่ไม่โดนแสงแดด และควรเก็บไว้ในถุงผ้าลินินให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือหากไม่มีถุงแบบนี้ก็สามารถใส่ถุงพลาสติกแล้วเจาะรูหลาย ๆ รูก็ได้เช่นกัน หากมันฝรั่งโดดแสงแดดมันจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวและผลิตโซลานีนซึ่งเป็นสารพิษ จึงต้องเก็บไว้ในที่มืด หากมันฝรั่งเปลี่ยนเป็นสีเขียว ทางที่ดีควรตัดออกเป็นชิ้นใหญ่แล้วนำไปทิ้ง
6. เมล็ดกาแฟ
หลายครัวเรือนมักมีเมล็ดกาแฟเก็บไว้ที่บ้านเพื่อคั่วทานเอง แต่เมล็ดกาแฟไม่เหมาะสำหรับการเก็บในตู้เย็น โดยปกติแล้วภายในตู้เย็นจะมีแสงไฟ และแสงดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อกลิ่นและรสของเมล็ดกาแฟ อีกทั้งมันยังสามารถดูดซับกลิ่นจากอาหารอื่น ๆ ในตู้เย็นได้อีกด้วย คอกาแฟจะรู้กันดีว่ากลิ่นและรสของเมล็ดกาแฟมีความสำคัญมากต่อการชงกาแฟ จึงแนะนำให้เก็บใส่ในภาชนะสุญญากาศ ไว้ในตู้กับข้าวที่มืดและเย็น จะช่วยรักษาคุณภาพของเมล็ดกาแฟไว้ได้
7. น้ำผึ้ง
น้ำผึ้งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดีและไม่มีวันหมดอายุ แม้จะเปิดใช้แล้วก็สามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องได้ หรือหากนำไปแช่ในตู้เย็นก็สามารถทานได้ไม่มีปัญหา แต่น้ำตาลจะเกิดการตกผลึกทำให้ตอนทานแล้วจะรู้สึกมีอะไรกรุบ ๆ แถมความอร่อยก็จะลดลง จึงควรเก็บไว้ในที่มืดที่อุณหภูมิห้องดีกว่า สิ่งที่น่าสนใจคือมีรายงานว่าน้ำผึ้งที่ขุดจากสุสานอียิปต์โบราณยังคงสามารถทานได้แม้จะผ่านไปหลายพันปี ถือว่าหายากมากที่จะพบอาหารที่เก็บรักษาไว้ได้นานขนาดนี้
8. เนย
แม้ว่าเนยจะเป็นผลิตภัณฑ์จากนมแต่ก็สามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องได้ หลาย ๆ คนมักเข้าใจผิดว่าเนยต้องเก็บในตู้เย็นเพราะกลัวจะละลาย ซึ่งมันจะทำให้เนยแข็งตัวและทาบนขนมปังได้ยาก แต่หากอุณหภูมิห้องค่อนข้างร้อน การแช่เย็นก็จะปลอดภัยกว่า อีกวิธีคือการใช้จานใส่เนยโดยเฉพาะ มันจะช่วยให้สามารถเก็บเนยไว้ที่อุณหภูมิห้องและรักษาความสะอาดได้ดี ใช้งานง่ายและยืดอายุเนยได้ยาวนานขึ้นอีกด้วย
9. อะโวคาโด
อะโวคาโดจะถูกเก็บเกี่ยวก่อนที่จะสุกและวางจำหน่ายตามร้านค้า หากซื้ออะโวคาโดแบบแข็งมาก็ให้เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องและรอให้สุกเองตามธรรมชาติได้เลย เมื่อเปลือกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเข้ม ๆ บีบแล้วนิ่ม มีความยืดหยุ่นก็แปลว่าสุกพร้อมทาน ส่วนอะโวคาโดสุกสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ แต่หากอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาก็อาจได้รับความเสียหายจากความเย็นและช้ำจนเป็นสีดำ ทางที่ดีควรทานทันทีที่สุกจะอร่อยกว่า
10. หัวหอม
หัวหอมไม่ชอบความชื้น ในขณะเดียวกันหากใส่ไว้ในตู้เย็นก็จะเน่าเร็ว จึงแนะนำให้เก็บไว้ในจุดที่ระบายอากาศได้ดีและมีความชื้นต่ำ และจะยิ่งอยู่ได้นานที่อุณหภูมิห้อง เว้นเสียแต่ว่าหากเป็นช่วงฤดูฝนหรือฤดูร้อนที่อากาศมีความชื้นสูงควรเก็บในตู้เย็นจะดีกว่า หากเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องควรใส่ลงในถุงตาข่ายเพื่อระบายอากาศ หัวหอมจะมีอายุยาวนานขึ้น
11. น้ำมันมะกอก
น้ำมันมะกอกจะแข็งตัวได้ง่ายที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศา จึงไม่เหมาะที่จะเก็บไว้ในตู้เย็นและจะยิ่งเสื่อมสภาพเมื่อโดนแสงแดด ดังนั้นควรเก็บไว้ในที่มืดที่อุณหภูมิห้องจะดีที่สุด หากเคยเอาน้ำมันมะกอกไปแช่ตู้เย็น จะเห็นได้ว่าน้ำมันมีความขุ่นมากขึ้นซึ่งเกิดจากการเก็บไว้ในอุณภูมิต่ำ สภาพจึงดูไม่น่าใช้และใช้ได้ยาก แต่มันจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมเมื่อวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่ส่งผลเสียใด ๆ ต่อคุณภาพของน้ำมัน
12. ลูกพีช
ลูกพีชควรวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง หากใส่ในตู้เย็นจะสูญเสียความสด ความชุ่มชื้น ทำให้แห้งและความหวานลดลงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว แต่หากเป็นช่วงที่อากาศร้อน ให้ห่อแต่ละลูกด้วยแรปพลาสติกหรือใส่ในถุงพลาสติกแล้วนำไปแช่ในตู้เย็น ก่อนทานให้นำออกมาวางไว้ที่อุณหภูมิห้อง 2 ชั่วโมง ก็สามารถทานได้อย่างเอร็ดอร่อย นอกจากนี้ลูกพีชยังเป็นผลไม้ที่ควรเก็บแยกจากผลไม้ชนิดอื่น เพราะการเก็บรวมกับผลไม้อื่นจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ทั้งผลไม้อื่นและตัวลูกพีชเองสุกเร็วกว่าเดิม
13. แตงกวา
แตงกวาเป็นผักที่ไวต่ออุณหภูมิต่ำ น้ำ และความร้อน อุณหภูมิการเก็บรักษาที่เหมาะสมคือ 10-15 องศา หากใส่ในตู้เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่านี้จะทำให้สูญเสียวิตามินซี ควรเก็บไว้ในที่มืดและมีอากาศถ่ายเท แตงกว่าเป็นผักที่เน่าเสียง่าย ดังนั้นจึงควรทานให้หมดเร็วที่สุด แต่ก็มีเคล็ดลับที่ทำให้แตงกวาอยู่ได้นานขึ้นคือการเก็บโดยที่ยังไม่ต้องตัดจุกก้านออก เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นระเหยออกจากก้านและยังคงความกรุบกรอบไว้ได้ด้วย
นอกจากอาหาร 13 อย่างที่ได้แนะนำไป ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ไม่เหมาะสำหรับการเก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งแต่ละชนิดก็มีเหตุผลแตกต่างกันไป หากเรารู้วิธีการจัดเก็บอย่างเหมาะสมก็จะสามารถยืดอายุของวัตถุดิบและรักษารสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัสให้อร่อยไว้ได้ แถมยังช่วยลดขยะและประหยัดพลังงานของตู้เย็นได้อีกด้วย
สรุปเนื้อหาจาก shufuse