หากเดินไปตามทางเดินและสวนสาธารณะที่ญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนจนถึงต้นเดือนตุลาคมก็มักจะได้กลิ่นหอมแรงคล้ายสบู่ที่เป็นเอกลักษณ์ กลิ่นดังกล่าวเป็นกลิ่นจากดอกหอมหมื่นลี้ เรามารู้เรื่องราวที่น่าสนใจของดอกไม้ชนิดนี้กันค่ะ
รู้จักดอกหอมหมื่นลี้
หอมหมื่นลี้ หรือ คินโมะคุเซอิ (Kinmokusei; 金木犀) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Osmanthus fragrans เป็นต้นไม้ที่มีดอกสีเหลืองหรือขาวขนาดเล็ก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ ดอกมี 4 กลีบ ปลายกลีบงุ้มเข้าหากัน มีกลิ่มหอมแรงคล้ายสบู่ซึ่งส่งกลิ่นหอมตลอดทั้งวันทั้งคืน และหอมไกลในระยะรัศมี 3,600 ถึง 4,500 เมตร
ดอกหอมหมื่นลี้เป็น 1 ใน 3 ดอกไม้ที่บานและให้กลิ่นหอมที่สุดในญี่ปุ่น ได้แก่ ดอกจิงโชเกะ (Jinchōge; 沈丁花; ジンチョウゲ) หรือดอกดาฟเน ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Daphne odora และดอกพุดญี่ปุ่นหรือคุชินาชิ (Kuchinashi; クチナシ) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia jasminoides
3 เรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับ “ดอกหอมหมื่นลี้”
1. เป็นดอกไม้ที่บาน 2 ครั้งในช่วงเวลาใกล้กัน
ดอกหอมหมื่นลี้มีคุณลักษณะพิเศษคือจะบานดอก 2 ครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วง โดยเมื่อดอกที่บานครั้งแรกร่วงโรยไปประมาณ 2 สัปดาห์ ก็จะมีการบานดอกออกมาใหม่อีกครั้ง เช่น หากดอกบานครั้งแรกประมาณวันที่ 23 กันยายน การบานดอกครั้งที่สองก็จะอยู่ในช่วงประมาณวันที่ 10 ตุลาคม
2. มีกลิ่นหอมมากจนคนญี่ปุ่นนำมาปลูกไว้ใกล้ห้องส้วมสาธารณะ
ในสมัยเอโดะต้นไม้ชนิดนี้ถูกปลูกไว้ใกล้ห้องส้วมสาธารณะเพื่อให้ความหอมของดอกดับกลิ่นของห้องส้วม แต่ด้วยระยะการบานเพียงประมาณ 10 วัน ทำให้ไม่มีผลในการดับกลิ่นส้วมระยะยาว ในปัจจุบันคนญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้ตามสวนที่บ้าน สวนสาธารณะ ตลอดจนพื้นที่ที่มีอากาศสะอาด กลิ่นหอมแรงเป็นเอกลักษณ์จากดอกคินโมะคุเซอิทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่รู้ว่าฤดูใบไม้ร่วงได้มาเยือนแล้ว
3. ในญี่ปุ่นมีแต่ต้นเพศผู้?
ต้นหอมหมื่นลี้เป็นต้นไม้ที่มีเพศแยกกันเหมือนกับต้นแปะก๊วย ที่เกสรจะปลิวจากต้นเพศผู้เพื่อผสมกับเกสรจากต้นเพศเมียและเกิดผลขึ้นมา อย่างไรก็ดี คนญี่ปุ่นในสมัยเอโดะนำเพียงแค่ต้นหอมหมื่นลี้เพศผู้เข้ามาปลูกในญี่ปุ่น ดังนั้นแม้จะมีกลิ่นหอมเชิญชวนให้แมลงมาตอม แต่ก็ไม่สามารถผสมพันธุ์สร้างเมล็ดขึ้นมาได้
ด้วยมีดอกขนาดเล็กแต่มีกลิ่นหอมในระยะไกล คนญี่ปุ่นจึงชื่นชอบดอกไม้ชนิดนี้และรอคอยการบานของพวกมันในช่วงฤดูใบไม้ร่วงทุก ๆ ปี การบานของดอก 2 ครั้งอาจมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้กลไกการทำงานของพืชเปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็รู้สึกดีใจที่ได้ชมความงามและดมกลิ่นของดอกหอมหมื่นลี้ถึงสองครั้งในเวลาที่ไม่ห่างกันมากค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: tenki, news.goo.ne