กุยช่าย หรือ นิระ (ニラ) เป็นหนึ่งในผักที่มีคุณค่าสารอาหารสูงและเป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่น มารู้คุณค่าสารอาหารที่มีมากในกุยช่าย และวิธีการเตรียมกุยช่ายเพื่อให้มีคุณค่าสารอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อกันค่ะ
คุณค่าสารอาหารที่มีมากในกุยช่าย
1. โพแทสเซียม
โพแทสเซียม ที่มีมากในกุยช่ายมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเกลือส่วนเกินออกจากร่างกาย ช่วยลดอาการบวมน้ำของร่างกาย และช่วยลดความดันโลหิต
2. เบต้า-แคโรทีน
เบต้า-แคโรทีน (β-carotene) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงช่วยชะลอความแก่และป้องกันโรคมะเร็ง โดยสารชนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกายของมนุษย์
3. อัลลิซิน
อัลลิซิน (Allicin) เป็นสารที่ให้กลิ่นฉุน สารชนิดนี้จะช่วยส่งเสริมให้มีการสร้างน้ำย่อยในกระเพาะอาหารจึงช่วยให้รู้สึกเจริญอาหารและช่วยย่อยอาหาร นอกจากนี้ สารอัลลิซินยังช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 1 ซึ่งเป็นวิตามินที่มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความเหนื่อยล้า
4. วิตามินซี
วิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความแก่และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง
วิธีการเตรียมกุยช่ายที่เพิ่มคุณค่าสารอาหารให้แก่ร่างกายอย่างไม่น่าเชื่อ
1. ตัดเอาส่วนสีขาวใกล้รากทิ้งให้น้อยที่สุดเพื่อลดการสูญเสียสารอัลลิซินซึ่งมีมากในส่วนใกล้รากของกุยช่าย
2. หั่นใบกุยช่ายให้มีความยาวพอประมาณและไม่ควรหั่นละเอียดเพื่อลดการสูญเสียวิตามินที่มีมากในส่วนใบในขั้นตอนการปรุงอาหาร
3. หั่นส่วนใกล้รากให้ละเอียดเพราะการหั่นอย่างละเอียดจะช่วยให้สารอัลลิซินถูกปล่อยออกมาในปริมาณสูง
4. ปรุงกุยช่ายด้วยระยะเวลาอันสั้น โพแทสเซียมและวิตามินซีที่มีมากในกุยช่ายไม่ทนร้อน ดังนั้นจึงควรปรุงกุยช่ายอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 1-2 นาที
5. ปรุงด้วยน้ำมันกับอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 การปรุงเมนูจากกุยช่ายโดยการผัดด้วยน้ำมันจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอัลลิซินและเบต้า-แคโรทีนได้ดีขึ้น อีกทั้งเมื่อรับประทานพร้อมกับหมูหรือเมล็ดธัญพืชที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 ก็จะส่งผลให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 1 เข้าสู่ร่างกายได้สูงขึ้นถึง 10 เท่า
6. แช่แข็งกุยช่าย การแช่แข็งทำให้เซลล์ของกุยช่ายแตกออกซึ่งจะช่วยเปลี่ยนสารอัลลิอิน (Alliin) ไปเป็นสารอัลลิซินได้สูงขึ้นถึง 9.6 เท่า วิธีการแช่แข็งทำได้โดยหั่นกุยช่ายให้มีขนาดที่รับประทานได้ง่าย นำใส่ในถุงพลาสติก แล้วนำเข้าแช่ช่องแข็ง เวลาจะนำมารับประทานก็นำมาผัดหรือใส่ในซุปหรือต้มจืดได้ตามชอบ
คนจำนวนมากรวมทั้งผู้เขียนมักตัดเอาส่วนสีขาวใกล้รากทิ้งไปเพราะคิดว่าแข็งไม่อร่อย แต่กลายเป็นว่าเราทิ้งส่วนที่มีคุณค่าสารอาหารไป แทนการทิ้งไปอย่างไร้ค่า ลองนำส่วนสีขาวมาหั่นให้ละเอียดแล้วผัดผักไข่หรือใส่เป็นส่วนผสมในเมนูที่หลากหลายดูค่ะ นอกจากนี้ เวลาการปรุงที่สั้นและการเก็บถนอมโดยการแช่แข็งก็ช่วยเพิ่มคุณค่าของกุยช่ายอย่างไม่น่าเชื่อค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: yogajournal.jp