เพื่อน ๆ เคยสงสัยกันหรือเปล่าคะว่า ทำไมบางคนที่เราพบเจอ ถึงเต็มไปด้วยพลังงานด้านบวก ดูมีความสุข สามารถยิ้มได้ แม้ในเวลาที่เจอกับปัญหาในชีวิต และในหลายต่อหลายครั้ง คนเหล่านั้นก็ยังส่งพลังงานดี ๆ มาให้เราด้วยเช่นกัน
คุณ ฟุรุคาว่า ทาเคชิ (古川武士) ที่ปรึกษาด้านการเสริมสร้างบุคลิกชาวญี่ปุ่น ได้กล่าวไว้ว่า “หากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมและเพื่อนที่ดี ก็จะมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นกับเราอย่างไม่น่าเชื่อ” เพราะว่าสภาพแวดล้อมและเพื่อนที่ดี จะดึงความโชคดีเข้ามาหาเรา ตามคำกล่าวที่ว่า “กาเข้าฝูงกา หงส์เข้าฝูงหงส์ (คนเรามักจะคบคนประเภทเดียวกับตน)” เช่นนั้น เราควรทำอย่างไรเพื่อดึงดูดความโชคดีเข้ามาได้? คำตอบคือ “อารมณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน (หรือความต่างของอุปนิสัย)” โดยในบทความนี้ เราจะมาดูอุปนิสัย 7 แบบที่คุณฟุรุคาว่าบอกว่าสามารถดึงความโชคดีเข้ามาหาตัวเราได้ค่ะ
มาดูกันก่อน ผู้ที่ปล่อยพลังด้านบวกและลบมีลักษณะอย่างไร?
คุณฟุรุคาว่าเชื่อว่า ชีวิตคนเรานั้นหมุนเวียนเป็นวัฏจักร ไม่ว่าจะดีหรือร้าย คนที่มีเวลาว่างเพียงพอ คนที่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น และคนที่มีความสัมพันธ์กับครอบครัวที่ดี ก็จะมีทั้งโอกาสและผู้คนเข้าหา อีกทั้ง คนที่เห็นคุณค่าในตัวเองมาก ก็จะมีความมั่นใจในตัวเอง ให้ความสำคัญกับเรื่องที่รอคอยอย่างใจจดใจจ่อ คนที่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุเป้า หรือคนที่มีความเชื่อว่าชีวิตจะมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอนนั้น จะทำให้มีความกล้าที่จะลงมือทำ ผู้คนเหล่านั้น จะสามารถแผ่ความรู้สึกดี ๆ นั้นออกไป และดึงผู้คนให้เข้ามาหาตัวเองได้
ในทางกลับกัน ก็มีคนที่ปล่อยพลังด้านลบ ยกตัวอย่างคนที่คอยปฏิเสธตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า และคนที่ทำงานแค่ตามหน้าที่ จะทำให้คนอื่นไม่เชื่อถือ และไม่ไว้ใจ หลัก ๆ ก็คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยปกตินั้น จะเป็นต้นกำเนิดวงจรดีและวงจรร้ายของชีวิตนั่นเองค่ะ
ถ้าอย่างนั้น “อุปนิสัยแบบไหนที่ดึงดูดความโชคดี” และ “อุปนิสัยแบบไหนที่ดึงดูดความโชคร้าย” จะขอแบ่งออกเป็น 7 แบบ ตามที่คุณฟุรุคาว่าได้แนะนำไว้ ดังนี้ค่ะ
จุดแบ่งแยกความโชคดีและความโชคร้าย อุปนิสัยทั้ง 7 แบบ
1. ปฏิเสธตัวเอง vs เห็นคุณค่าในตัวเอง
คุณฟุรุคาว่าเชื่อว่า ถ้าตัวเราคอยคิดอยู่ตลอดว่า “ทำไมเราทำไม่ได้นะ” หรือ “สุดท้ายแล้วฉันก็ทำอะไรไม่ได้เลย” คอยสะสมคำพูดเชิงลบไปเรื่อย ๆ ความมั่นใจของตัวเราเองก็จะค่อย ๆ หายไป แต่ถ้าหากเรายิ่งใช้คำชมตัวเองมากเท่าไหร่ เช่น “ฉันทำเต็มที่แล้ว ครั้งหน้าปรับให้ดีขึ้นอีกนะ” หรือ “เราพัฒนามากกว่าเมื่อวานอีกเรื่องแล้วนะ” เราก็จะยิ่งเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นเท่านั้น หากเพื่อนๆจะต้องไหว้วานใครให้ทำงานให้ หรือแนะนำใครให้รู้จัก ระหว่าง “คนที่ปฏิเสธตัวเอง” กับ “คนที่เห็นคุณค่าในตัวเอง” ก็น่าจะอยากแนะนำคนแบบหลังมากกว่าใช่ไหมคะ?
2. ทำตามหน้าที่ vs ทำด้วยความกระตือรือร้น
คนที่ทำงานที่ไม่ชอบหรือไม่ถนัด ก็จะรู้สึกไม่ค่อยมีพลังในการทำงาน เพราะคนเหล่านั้นทำงานแค่ตามหน้าที่ ทั้งไม่พอใจเงินเดือน หงุดหงิดเจ้านาย หรือเมื่อคิดว่าจะต้องเสียสละเพื่อคนอื่นด้วยแล้ว ก็จะทำให้เกิดความเครียดกับตัวเอง
ในทางกลับกัน คนที่ได้ทำงานที่ชอบ เมื่อได้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่อยากทำ ก็จะมีออร่าแผ่ออกมา เพราะงานที่ทำเป็นสิ่งที่ทำด้วยความกระตือรือร้น และไม่มีการกล่าวโทษคนอื่น จึงทำให้ได้รับผลประเมินที่ดีจากเจ้านาย และเจ้านายก็อยากมอบหมายงานให้ทำ
3. การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง vs ความอยากรู้
คุณฟุรุคาว่าได้กล่าวไว้ว่า หากคนเราหมดความอยากรู้ทั้งในเรื่องงานและในเรื่องการใช้ชีวิต เราก็จะติดอยู่กับความเคยชิน ทำให้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ได้น้อยลง ถ้าเรามัวแต่พูดว่า “ปีนี้ก็สายไปแล้ว” หรือ “ต้องใช้เงินอีกแล้ว” หนทางใหม่ ๆ ก็จะค่อย ๆ หายไป แล้วเราจะไม่ได้เปิดโลกตัวเอง และจะไม่ได้เจอคนที่จะมาช่วยพัฒนาตัวเราได้ ทั้งนี้ คุณฟุรุคาว่าก็ยังเชื่อว่า “ในชีวิตคนเรานั้น ยังมีรูปแบบการใช้ชีวิตอยู่อีกหลายแบบ ยังมีโลก มีผู้คนที่น่าสนใจ และน่าค้นหาอยู่อีกมาก” คนเหล่านั้นที่ทำงานและใช้ชีวิตด้วยความอยากรู้ราวกับเป็นเด็กนั้น จะมีโอกาสได้พบเจอกับสิ่งใหม่ ๆ และได้เปิดประตูสู่โลกใบใหม่ที่แตกต่างออกไป
4. ความไม่เชื่อใจ vs ความรัก
หากเราไม่เชื่อใจใคร เราก็จะเสียเปรียบในทุก ๆ ด้าน เพราะเมื่อไม่สามารถสร้างความเชื่อใจ ทั้งในเรื่องความรักและเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือการทำงานได้ ก็จะทำให้เกิดความโชคร้าย เมื่อเราไม่ไว้ใจผู้อื่น มัวแต่คิดว่า “สุดท้าย ยังไงคนเราก็ต้องหักหลังกัน ต้องห่างหายกันไปอยู่ดี” ท้ายที่สุด เรื่องที่คิดก็จะเกิดขึ้นได้จริง ถ้าเพื่อน ๆ ลองนึกภาพ “เจ้านายที่เข้มงวดแต่ยังมีความเอ็นดูลูกน้อง” กับ “เจ้านายที่ไม่ไว้ใจในตัวลูกน้อง” น่าจะทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นค่ะ
5. ความกลัว/ความกังวล vs ความหวัง
การกระทำคนเราจะเปลี่ยนตาม การมองเห็นความหวัง หรือ การมองเห็นความกลัวและความกังวล แน่นอนว่าไม่ใช่เป็นการมองเอียงไปทางข้างใดข้างหนึ่งนะคะ แต่ถ้าเรามองเห็นแต่ความกลัวและความกังวลในชีวิต เราก็จะคอยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งเรื่องเงิน ความสัมพันธ์ และเรื่องงาน จิตใจเราก็จะมีแต่อารมณ์ด้านลบ แต่ว่าคนที่มีความหวังและความสบายใจนั้น ก็จะไม่มีปัญหากับเรื่องดังกล่าวค่ะ
6. ความต้องการการยอมรับ vs ความต้องการความตื่นเต้น
คุณฟุรุคาว่าเชื่อว่า การใช้ชีวิตโดยอยากให้ผู้อื่นยอมรับนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะต้องพยายามทำในสิ่งที่ไม่ชอบ เพื่อให้ได้รับการยอมรับและได้รับคำชม พอเป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่าตัวเราจะมีความสุขที่ได้รับคำชม แต่ก็จะเจ็บปวดและทนไม่ได้ในที่สุด ส่งผลให้อุปนิสัยของเราเคลื่อนไปในด้านลบ อีกด้านหนึ่ง คนที่ต้องการความตื่นเต้นในตัวเอง หรือคนที่ต้องการทุ่มเทให้กับ การเรียนรู้ การจัดระบบ และความรู้สึก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ เป็นพลังงานบวกให้กับอุปนิสัยของเรา หากเรามีความต้องการความตื่นเต้นแล้ว ก็จะทำให้เกิดการยอมรับจากผู้อื่นได้นั่นเองค่ะ
7. รีบเร่ง/ใจร้อน vs เป้าหมาย
สุดท้ายก็คือ การรับรู้เป้าหมาย “อับราฮัม มาสโลว์” นักจิตวิทยา ได้กล่าวไว้ว่า “ความต้องการก้าวข้ามตัวตน” อยู่เหนือกว่า “ความต้องการพัฒนาศักยภาพของตน” เป็นความต้องการที่อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อผู้อื่นและสังคม แต่คนส่วนมากไม่ได้มีเป้าหมายยิ่งใหญ่เช่นนั้น เพราะแค่เรื่องของตนเองก็ตึงมือแล้ว แต่ไม่ว่าใครก็ตาม นอกจาก ความรู้สึกพึงพอใจของตนเองแล้วนั้น ยังมี “ความปรารถนาที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม” หลับใหลอยู่ในตัว เนื่องจากความปรารถนานั้นมีลำดับขั้นของมัน และกุญแจสำคัญที่จะทำให้อุปนิสัยของเราดีขึ้น ก็คือการค่อย ๆ หมั่นฝึกฝนอุปนิสัยทั้ง 6 แบบตามที่คุณฟุรุคาว่าได้แนะนำไปนั่นเองค่ะ
ดังนั้นแล้ว “อยากให้เพื่อน ๆ ใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกดี ๆ เท่าที่เราทำได้” ซึ่งมีหลายอย่างที่จะสามารถช่วยให้อุปนิสัยของเราดีขึ้นได้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม และผู้เขียนจะยินดีมาก หากเพื่อน ๆ สามารถนำเรื่องนี้ไปปรับใช้กับตัวเองได้ไม่มากก็น้อยค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: lifehacker
ผู้เขียน: Akime