เมื่อมีภาวะความดันโลหิตสูง สิ่งสำคัญที่ต้องหลีกเลี่ยงเป็นอันดับแรกคืออาหารที่ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่โรคร้ายแรงต่างๆ โดยอาหารที่ส่งผลเสียต่อความดันโลหิตประกอบด้วยอาหารที่มีเกลือในปริมาณที่สูงและอาหารที่มีแคลอรี่สูง มารู้ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่นักกำหนดอาหารชาวญี่ปุ่นบอกว่าหากรับประทานมากเกินไปแล้วจะไม่ดีต่อความดันโลหิต ตลอดจนทำให้ภาวะความดันโลหิตสูงยิ่งแย่ลงกันค่ะ
3 อาหารที่คนญี่ปุ่นบอกว่าไม่ดีต่อความดันโลหิตสูงที่สุด
1. เนื้อสัตว์แปรรูป
เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม เบคอน และไส้กรอก 100 กรัม มีส่วนประกอบของเกลือประมาณ 2 กรัม แม้ว่าน้ำหนักของแฮมและไส้กรอกแต่ละชิ้นจะแตกต่างกันไปตามผลิตภัณฑ์ แต่การรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปวันละหลายชิ้นก็จะทำให้รับเกลือเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาก็ล้วนมีปริมาณเกลือที่สูง เช่น ชิกุวะ 1 ชิ้นมีปริมาณเกลือ 0.7 กรัม ลูกชิ้นฮันเปง 1 ชิ้น (100 กรัม) มีปริมาณเกลือ 1.5 กรัม และไส้กรอกปลา 1 ชิ้น (55 กรัม) มีปริมาณเกลือ 1.1 กรัม เป็นต้น
หากเลิกรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปไม่ได้ ก็ควรลดปริมาณและความถี่ของการรับประทานอาหารดังกล่าว อีกทั้งอาจเลือกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปที่มีปริมาณเกลือน้อยแทน
2. ราเม็ง
ราเม็งรวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอีกหนึ่งอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือสูงอีกทั้งยังให้พลังงานสูง แม้ปริมาณเกลือในราเม็งแต่ละชนิดจะแตกต่างกันแต่การดื่มน้ำซุปในราเม็งจนหมดก็อาจทำให้ร่างกายรับเกลือเข้าไปถึง 6 กรัมเลยทีเดียว กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่นได้กำหนดว่าผู้ชายไม่ควรรับประทานเกลือเกินวันละ 7.5 กรัม และผู้หญิงไม่ควรเกิน 6.5 กรัม ดังนั้นหากรับประทานราเม็งหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงไม่ควรทานน้ำซุปตามเข้าไปจนหมด
3. ขนมปัง
ขนมปังเป็นอาหารที่รับประทานได้เพลิน นอกจากมีปริมาณแคลอรี่ที่สูงแล้วขนมปังปอนด์หนึ่งชิ้น (ตัดแบ่งเป็น 6 ชิ้น) มีปริมาณเกลือประมาณ 0.8 กรัม และขนมที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปอาจมีปริมาณเกลือประมาณชิ้นละ 1.0-1.5 กรัม ปัจจุบันนี้คนจำนวนมากเลือกรับประทานขนมปังเป็นอาหารหลักแทนข้าวมากขึ้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมปังในปริมาณที่มากเกินไปหรืออาจเลือกผลิตภัณฑ์ขนมปังที่มีปริมาณเกลือต่ำแทน
3 ข้อคำนึงเกี่ยวกับการบริโภคอาหารเพื่อป้องกันความดันโลหิตสูง
นอกจากหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดังกล่าวข้างต้นในปริมาณมากและเป็นประจำแล้ว ก็มีข้อคำนึงเกี่ยวกับการบริโภคอาหารเพื่อป้องกันความดันโลหิตสูงดังนี้คือ
1. รักษาค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ให้สูงเกิน 25
หากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สูงเกิน 25 หมายความว่าเข้าเกณฑ์อ้วน และอาจมีโอกาสเกิดโรคอ้วนและความดันโลหิตสูงได้ง่าย ดังนั้นจึงควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลอรี่สูง เช่น อาหารทอดและเนื้อสัตว์ เป็นต้น
2. รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม
โพแทสเซียมมีบทบาทสำคัญในการลดเกลือส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ได้แก่ ผักต่างๆ สาหร่ายทะเล และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เป็นต้น
3. หลีกเลี่ยงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากในระยะยาวเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดความดันโลหิตสูง หากชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ควรลดปริมาณและความถี่ในการดื่มลง
ความดันโลหิตสูงอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ใส่ใจควบคุมก็อาจพัฒนาไปสู่โรคร้าย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงไปนาน ๆ มาใส่ใจดูแลความดันโลหิตของเรากันค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: yogajournal