วันภูเขา

คนญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญถึงคุณประโยชน์และพรที่ได้รับจากธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่นในเดือนสิงหาคมนี้จะมีวันหยุดประจำชาติยู่วันหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ มีชื่อเรียบง่ายตรงตัวว่า “วันแห่งภูเขา” วันภูเขาถูกกำหนดไว้ให้เป็นวันที่ 11 สิงหาคมของทุกปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้คน “ได้ใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับภูเขาและซาบซึ้งถึงพระคุณของภูเขา”

ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายถึงที่มาของวันภูเขาว่ากลายเป็นวันหยุดประจำชาติญี่ปุ่นได้อย่างไร พร้อมทั้งแนะนำอีเวนต์ที่คนญี่ปุ่นชอบไปในวันนี้ด้วยค่ะ

วันแห่งภูเขามีที่มาอย่างไร?

วันภูเขา

แม้ว่าจะเป็นวันหยุดประจำชาติของญี่ปุ่น แต่อาจมีหลายคนที่ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับความหมายและที่มาของวันนี้ จากนี้เราจะมาแนะนำว่า “วันแห่งภูเขา” มีที่มาอย่างไร และกลายเป็นวันหยุดประจำชาติได้อย่างไร

วันแห่งภูเขาไม่เหมือนวันหยุดอื่น ๆ ตรงที่วันนี้ไม่ได้มีเหตุการณ์หรือที่มาซึ่งเกี่ยวข้องกับภูเขาเป็นพิเศษ แต่เหตุผลที่ “วันแห่งภูเขา” ถูกกำหนดขึ้นใหม่เป็นเพราะว่า “วันแห่งทะเล” ถูกกำหนดเป็นวันหยุดประจำชาติไปก่อนหน้านี้แล้ว

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยภูเขาและล้อมรอบด้วยทะเล ชาวญี่ปุ่นจึงใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวภัยจากภูเขาและทะเลมาตั้งแต่สมัยโบราณ ขณะเดียวกันก็ใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนและซาบซึ้งถึงพระคุณที่ได้รับจากธรรมชาติเช่นเดียวกัน

ต่อมาในปี 1995 วันแห่งทะเลได้ถูกกำหนดขึ้นให้เป็นวันหยุดประจำชาติ ในตอนนั้น จังหวัดยามานาชิและจังหวัดอื่น ๆ อีกหลายแห่งจึงได้จัดตั้งวันแห่งภูเขาขึ้นตามมา จากนั้นในปี 2013 เมื่อมีการเดินเรื่องของรัฐบาลเพื่อจัดตั้งวันแห่งภูเขา การเคลื่อนไหวเพื่อให้ “วันแห่งภูเขา” เป็นวันหยุดประจำชาติจึงเป็นกระแสไปทั่วประเทศ

วันแห่งภูเขากลายเป็นวันหยุดประจำชาติเมื่อใด?

วันภูเขา
ภูเขาโอสึทากะ จุดเกิดเหตุเครื่องบินตก

ในปี 2013 มีการเสนอให้วันแห่งภูเขาเป็นวันที่ 12 สิงหาคม เพื่อให้ใกล้กับเทศกาลโอบ้ง อย่างไรก็ตาม วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันที่เครื่องบินเจแปนแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 123 ตกบริเวณภูเขาโอสึทากะ จังหวัดกุนมะ  และยังมีพิธีรำลึกถึงดวงวิญญาณในวันนี้ของทุกปีจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีการเฉลิมฉลองในวันที่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น จึงได้ข้อสรุปว่าให้วันที่ 11 สิงหาคมเป็นวันแห่งภูเขา

ทว่าก่อนหน้าที่ “วันแห่งภูเขา” จะกลายเป็นวันหยุดประจำชาติ แต่ละภูมิภาคของญี่ปุ่นก็มีวันแห่งภูเขาของท้องถิ่นตัวเองอยู่ก่อนแล้ว โดยวันที่ของวันนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ เช่น วันที่ 8 สิงหาคมเป็นวันแห่งภูเขาของจังหวัดยามานาชิและกิฟุ วันที่ 11 พฤศจิกายนเป็นวันภูเขาของจังหวัดคางาวะ เอฮิเมะ และโคจิ

ว่ากันว่าตัวเลข 8 และ 11 นั้นก็มีความเกี่ยวข้องกับภูเขาเช่นกัน เลข 8 เมื่อเขียนเป็นตัวอักษรจะได้เป็น 八 ซึ่งดูเหมือนภูเขา ส่วนเลข 11 ก็มีรูปร่างเหมือนกับต้นไม้เรียงรายกัน แต่อย่างไรก็ตามเหตุผลที่แท้จริงนั้นยังไม่มีใครทราบแน่ชัด

งานอีเวนต์น่าไปในวันแห่งภูเขา

วันภูเขา

ในวันนี้หลาย ๆ จังหวัดจะมีการจัดอีเวนต์วันแห่งภูเขา ยกตัวอย่างเช่น วันแห่งภูเขา ที่ภูเขาทานิกาวะจังหวัดกุนมะ (山の日イベントin谷川岳) งานนี้มีทัวร์ 4 รายการที่เหมาะกับทั้งผู้เริ่มต้นไปจนถึงนักปีนเขาที่มีประสบการณ์ ทัวร์จะบรรยายโดยคุณ คุนิอากิ ยากิฮาระ (八木原國明) หนึ่งในนักปีนเขามากประสบการณ์ชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่น และมีกิจกรรมแสตมป์แรลลี่บนภูเขาทานิกาวะอีกด้ว

รายละเอียดของอีเวนต์เพิ่มเติม

enjoy-minakami.jp

อีกงานหนึ่งที่น่าไปไม่แพ้กันคืองานวันแห่งภูเขาจังหวัดยามานาชิ ซึ่งในปีนี้ได้จัดงานเพื่อรำลึกถึง “วันแห่งภูเขา” เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ทั่วจังหวัดยามานาชิจะมีการจัดงานต่าง ๆ โดยยึดแนวคิดหลัก 3 ข้อ ดังนี้

  1. ทำความคุ้นเคยกับภูเขา เพื่อให้คนตระหนักว่าา “ภูเขานั้นสนุก ภูเขานั้นสวยงาม” ให้ทุกคนได้สัมผัสกับป่าไม้ในรูปแบบต่างๆ
  2. เรียนรู้จากภูเขา โดยเป็นการเรียนรู้เรื่องการมีอยู่ของป่าไม้ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของหมู่บ้านบนภูเขา รวมไปถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและระบบนิเวศอันมีค่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้คนตระหนักว่า “ภูเขาทำให้มีชีวิตและภูเขาหล่อเลี้ยงคน”
  3. ใช้ชีวิตร่วมกับภูเขา ตามแนวทาง “วิถีชีวิตที่รักภูเขา” ทางจังหวัดมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนการรับรู้และพฤติกรรมเพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ สร้างป่าด้วยการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย มีการฟื้นฟูหมู่บ้านบนภูเขา และการร่วมมือกับชุมชนต้นน้ำลำธาร

รายละเอียดของอีเวนต์เพิ่มเติม

yamanohi.net

วันภูเขา

ใครเป็นขาลุยเตรียมวอร์มร่างกายให้พร้อมแล้วลองไปจอยอีเวนต์ปีนเขาหรือชมนิทรรศการเกี่ยวกับภูเขาพร้อมคนญี่ปุ่นดูนะคะ เพราะไม่ใช่แค่จะได้ชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามหรือสัมผัสความยิ่งใหญ่จากยอดเขาเท่านั้น แต่ยังได้เพิ่มความตระหนักรู้เรื่องการอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่นอีกด้วยค่ะ

ที่มา oggi.jp
เรียบเรียงโดย Puk

conomin

conomin คือกลุ่มนักเขียนใหม่ของ conomi ที่คอยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น เพื่อคนรักญี่ปุ่น จากปลายปากกาคนรักญี่ปุ่นด้วยกัน

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า