“สัตว์เลี้ยง” เพื่อนคู่ใจของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทั้ง สุนัข แมว กระต่าย กระรอก เต่า เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงกันในญี่ปุ่น แต่ที่ญี่ปุ่นสัตว์บางชนิดถูกจัดให้เป็น “สัตว์ถูกจำกัด” หรือ “สัตว์ที่ไม่สามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้” ว่าแต่สาเหตุคืออะไร? และมีสัตว์ชนิดใดบ้าง ตามไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
จากกฎหมายคุ้มครองอนุรักษ์และควบคุมดูแลสัตว์ญี่ปุ่นได้ระบุไว้ว่า
“นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2020 เป็นต้นไป ห้ามเลี้ยงหรือครอบครองสัตว์ถูกจำกัดในฐานะสัตว์เลี้ยง ดังนั้นหากบุคคลใดนำสัตว์ถูกจำกัดไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้านเรือนทั่วไป จะถือว่าบุคคลผู้นั้นฝ่าฝืนกฎหมาย มีความผิดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือถูกปรับไม่เกิน 1 ล้านเยน”
ทั้งนี้ “สัตว์ถูกจำกัด” หรือ “สัตว์ที่ไม่สามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้” หมายถึง “สัตว์ที่อาจจะก่อให้เกิดความอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงสัตว์ที่ถูกผสมข้ามสายพันธุ์จากสัตว์ถูกจำกัดด้วย” ซึ่งได้แก่ เสือ หมี ช้าง แรด งูมามูชิญี่ปุ่น (Gloydius Blomhoffii) และอื่น ๆ อีกประมาณ 650 ชนิด ในกรณีที่จะเลี้ยงไว้ในครอบครอง เช่น เปิดเป็นสวนสัตว์ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้มีอำนาจสูงสุดของเทศบาลนครนั้น ๆ ก่อนเสมอ
สัตว์ 9 ประเภทที่ไม่สามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้
1. หมี
ตามปกติแล้วหมีเป็นสัตว์ที่มนุษย์เรามักจะรู้สึกมีความคุ้นเคยใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพราะในชีวิตประจำวันนั้น เรามักจะพบเห็นตุ๊กตาหมีหรือคาแรคเตอร์เกี่ยวกับหมีอยู่บ่อยครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะหมีถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่มีความดุร้ายเป็นอันดับต้น ๆ จากสัตว์บกทั้งหมดเลย พวกมันยังสามารถทำอันตรายต่อมนุษย์จนถึงขั้นเสียชีวิตได้อีกด้วย
สำหรับหมีที่ญี่ปุ่นจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ด้วยกันจากทั้งหมด 8 สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ทั่วโลก ได้แก่ (1) “หมีสีน้ำตาล” (Higuma = ヒグマ) หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Brown Bear” และ (2) “หมีดำเอเชีย” (Tsukinowaguma = ツキノワグマ) หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “Asian Black Bear”
2. ช้าง
ตามที่ทราบกันดี “ช้าง” ถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศไทย และยังเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่สมัยอดีต โดยในสมัยที่การคมนาคมยังไม่เจริญเทียบเท่ากับในปัจจุบัน และมนุษย์เรายังไม่ได้ทำการพัฒนาเครื่องจักรต่าง ๆ มาใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงเพื่อการขนส่งสิ่งของ ช้างถูกจัดให้เป็นพาหนะที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับมนุษย์ เพราะนอกจากจะมีความเฉลียวฉลาดแล้ว ยังเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และมีพละกำลังมหาศาล สามารถทำหน้าที่ขนส่งสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย
ในปัจจุบัน มนุษย์ไม่ได้ใช้ช้างในหน้าที่ดังที่กล่าวมากนักแล้ว เพราะมีรถยนต์ เรือและเครื่องบินเข้ามาแทนที่ทำให้พบเห็นช้างได้ยากขึ้น ส่วนใหญ่ก็มักจะต้องไปที่สวนสัตว์ แต่ทั้งนี้แม้ว่าช้างจะเป็นสัตว์ที่มีความเฉลียวฉลาดเพียงใด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าช้างก็ยังเป็นสัตว์อยู่ดี ซึ่งพวกมันอาจจะทำอันตรายต่อมนุษย์ได้
3. ยีราฟ
ยีราฟสัตว์ยอดนิยมหนึ่งในขวัญใจจากสัตว์หลายประเภทในสวนสัตว์ ถ้ามองเผิน ๆ ยีราฟก็ดูเป็นสัตว์ที่ชิว ๆ เรื่อย ๆ ที่วัน ๆ เอาแต่กินหญ้า ดูเหมือนว่าจะไม่มีท่าทีหรือพฤติกรรมทำร้ายหรือก่อให้เกิดความอันตรายต่อมนุษย์ได้ แต่ที่ญี่ปุ่นยีราฟถือว่าเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้ค่ะ
4. ฮิปโปโปเตมัส
ในต่างประเทศอาจจะเคยพบเห็นว่ามีคนเลี้ยงฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ในความเป็นจริงแล้วฮิปโปโปเตมัสถือว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ถือว่ามีอุปนิสัยที่ค่อนข้างดุร้าย อารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่ายโดยเฉพาะในช่วงผสมพันธุ์ เเละฮิปโปโปเตมัสยังเป็นสัตว์ที่ชอบเข้าจู่โจมมนุษย์โดยที่มนุษย์ยังไม่ได้ไปทำอะไรมันเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นที่ญี่ปุ่นจึงห้ามนำมาเลี้ยง
5. แรด
แรดถือว่าเป็นสัตว์ที่มีขนาดร่างกายใหญ่โต โดยจัดได้ว่ามีความใหญ่รองมาจากช้างเลยก็ว่าได้ ซึ่งส่วนใหญ่แรดจะมีความยาวมากกว่า 3 เมตรขึ้นไป แรดส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา อินเดียและมาเลเซีย เป็นต้น แต่ที่ญี่ปุ่นแรดถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีความอันตรายต่อมนุษย์ เนื่องจากมีหนังที่หนาและแข็งราวกับเกราะ ฆ่าให้ตายได้ยาก ดังนั้นแรดจึงถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่ไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้
6. สัตว์ในวงศ์ตระกูลหมา เช่น หมาจิ้งจอกแจ็กคัล (Jackal) หมาป่าโคโยตี้ (Coyote) และหมาป่า (Wolf)
ถึงแม้ว่าหมาจิ้งจอกแจ็กคัล (Jackal) หมาป่าโคโยตี้ (Coyote) และหมาป่า (Wolf) เป็นต้น จะถูกจัดให้เป็นสัตว์ในวงศ์ตระกูลหมาก็ตามแต่มีความแตกต่างจากหมาบ้านเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่สามารถเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้
7. สัตว์ในวงศ์ตระกูลแมว เช่น เสือชีตาห์ เสือดาว เสือพูม่า และสิงโต
เหมือนกับสัตว์ในวงศ์ตระกูลหมา แม้ว่าสัตว์ในวงศ์ตระกูลแมว เช่น แมวบ้าน จะถือว่าเป็นสัตว์ยอดนิยมที่มนุษย์ชอบนำไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ทว่าเสือชีตาห์ เสือดาว เสือพูม่า และสิงโต ถือว่าเป็นสัตว์ต้องจำกัดไม่สามารถเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้
8. ชะนี ลิงกอริลลา ลิงชิมแปนซีและลิงอุรังอุตัง
ที่ญี่ปุ่นลิงหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นทั้ง ชะนี ลิงกอริลลา ลิงชิมแปนซีและลิงอุรังอุตัง ไม่สามารถที่จะนำไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงทั่วไปในที่อยู่อาศัยได้ ถ้าจะเลี้ยงเพื่อไว้โชว์ในสวนสัตว์ต้องได้รับใบอนุญาตเสียก่อน
9. สัตว์อื่น ๆ เช่น นกและสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดก็ถูกจัดให้เป็นสัตว์ต้องจำกัด
โดยเฉพาะสัตว์ในวงศ์ตระกูลนก เช่น แร้ง นกอินทรี และสัตว์ในตระกูลวงศ์สัตว์เลื้อยคลาน เช่น มังกรโคโมโด งูหลามอเมทิสทีน และงูเห่า ถูกจัดให้เป็นสัตว์ต้องจำกัดเนื่องจาก มีพิษ อาจทำอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ได้
สรุปแล้วสัตว์ทุกชนิดแม้ว่าจะเป็นสัตว์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงไว้ในครอบครองได้เสมอไป ถึงแม้ว่าจะมีบางประเทศที่กฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองสัตว์มีการผ่อนผัน ไม่เข้มงวดเท่าใดนัก สามารถที่จะเลี้ยงหมีหรือสัตว์ที่ดุร้ายเช่น เสือหรือหมาป่าเป็นสัตว์เลี้ยงของตนได้ แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามก็ยังคงไม่สามารถที่จะนำสัตว์ต้องจำกัดเหล่านี้มาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้ ถ้าฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย แต่ต่อให้เราไม่สามารถนำสัตว์เหล่านี้มาเลี้ยงได้ เราก็ยังสามารถที่จะอ่าน ดู เรียนรู้ สัมผัสผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ โทรทัศน์ รวมไปถึงเดินทางไปเที่ยวที่สวนสัตว์ก็ยังทำได้อยู่นะคะ ถ้าใครมีโอกาสลองจัดแพลนเที่ยวสวนสัตว์กันดู เชื่อได้เลยว่าจะเป็นกิจกรรมน่าสนุกได้ประสบการณ์และความรู้ใหม่ ๆ กลับไปกันแน่นอนค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก : shufuse.com