สวัสดีครับ แนวคิด “3Rs เพื่อสิ่งแวดล้อม” เป็นแนวคิดเพื่อลดปัญหาการบริโภคทรัพยากรและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน ประกอบด้วย Reduce (ลดการใช้) หมายถึงการลดการก่อขยะที่ไม่จำเป็น, Reuse (นำกลับมาใช้ซ้ำ) หมายถึงนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำเท่าที่จะทำได้ และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) หมายถึงการคัดแยกวัสดุที่นำมาเข้ากระบวนการแปรรูปหมุนเวียนมาใช้ผลิตใหม่
จากการ Reuse สู่กระแสนิยมสินค้ามือสอง!
การ “Reuse (รียูส) “ หรือการใช้สิ่งของซ้ำเท่าที่จะเป็นไปได้นี้รวมถึงการส่งต่อหรือขายของที่ไม่ใช้งานแล้วให้ผู้อื่นที่ต้องการ (ว่าง่ายๆ คือ “สินค้ามือสอง” นั่นเอง) โดยปัจจุบันการขายสินค้ามือสองไม่ใช่เรื่องยาก มีเว็บมีแอปพลิเคชันขายสินค้ามือสองให้ทำการซื้อขายจึงทำให้ตลาดสินค้ามือสองขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ
มีผลสำรวจจัดทำเมื่อปีที่แล้วระบุว่า ตลาดสินค้ามือสองในปี 2020 มีมูลค่า 2,416,900 ล้านเยน เพิ่มสูงขึ้น 2.5% เทียบจากปีก่อนและเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 11 ต่อเนื่องกันตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในปี 2009 อย่างไรก็ตามในปี 2020 ยอดขายสินค้ามือสองในหน้าร้านลดลง แต่ยอดขายทางอิเล็กทรอนิกส์กลับมียอดสูงและเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (C2C) ผ่านทางแอปพลิเคชันขายสินค้ามือสองมีมูลค่าสูงนับล้านล้านเยนเลยทีเดียว
ปัจจัยที่มีส่วนทำให้ตลาดขายสินค้ามือสองขยายตัวมากขึ้นนี้มาจาก ความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม การเปิดตัวของแอปขายสินค้ามือสองที่ทำให้การขายง่ายขึ้น และการจับจ่ายซื้อของผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ไวรัสโควิด และยังคาดการณ์กันว่าความตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดการขยายตัวของตลาดขายสินค้ามือสอง โดยน่าจะมีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 3 ล้านล้านเยนในปี 2022 และกลายเป็น 3 ล้านห้าแสนล้านเยนในปี 2025
นโยบายเพื่อการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นมีการกำหนดนโยบาย “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) จำนวน 17 ข้อหลัก 169 เป้าหมายที่ตั้งเป้าจะทำให้สำเร็จภายในปี 2030 โดยข้อที่ 12 ระบุถึง “ความรับผิดชอบที่จะสร้าง และความรับผิดชอบที่จะใช้” มีจุดประสงค์ที่จะสร้างรูปแบบการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่ลดการก่อให้เกิดขยะ แต่รวมไปถึงการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งต่าง ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังมีความพยายามสนับสนุนการรับรู้ความเข้าใจถึงนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในการสำรวจหนึ่งที่จัดทำขึ้นทุก ๆ ครึ่งปีต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปี 2020 ปรากฏว่าคนญี่ปุ่นรู้จักนโยบายเป้าหมายที่ว่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม และมีผลให้ตลาดขายสินค้ามือสองเติบโตขึ้นครับ
สรุปเนื้อหาจาก Ichiyoshi
ผู้เขียน: TU KeiZai-man