ทุกคนน่าจะเคยเห็นผ่านอนิเมะหรือละครญี่ปุ่นมาบ้าง เมื่อมีฉากปฐมนิเทศหรือเปิดภาคเรียนใหม่ จะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิพร้อมกับดอกซากุระที่บานสะพรั่ง เหมือนต้อนรับฉากชีวิตที่กำลังจะเริ่มต้น ช่วงเปิดเทอมของญี่ปุ่นแตกต่างจากของไทยและประเทศอื่น ๆ ในบทความจะมาบอกเหตุผลว่าทำไมญี่ปุ่นถึงเปิดเทอมในเดือนเมษายน!
1. เพื่อรับกับปีงบประมาณของประเทศ
ในปัจจุบันเป็นเรื่องปกติของญี่ปุ่นที่จะเปิดเทอมในเดือนเมษายน แต่ถ้าย้อนกลับไปในอดีตจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1868) โรงเรียนไม่ได้กำหนดเวลาเปิดเทอมที่แน่นอน นักเรียนสามารถเข้าเรียนได้ตลอดเวลา เพราะเด็ก ๆ ในสมัยนั้นต้องทำงาน แต่เมื่อเข้าสู่สมัยเมจิ (ค.ศ. 1868 – 1912) ญี่ปุ่นรับการศึกษาแบบตะวันตกเข้ามาใช้ ทำให้การเปิดเทอมในเดือนกันยายนกลายเป็นกระแสหลักในการศึกษาระดับอุดมศึกษา
อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2429 มีการเปลี่ยนปีงบประมาณของประเทศให้เริ่มต้นที่เดือนเมษายนของปีนั้นจนถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป ทำให้กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นสั่งให้วิทยาลัยครูระดับสูงเริ่มเรียนในเดือนเมษายน โดยให้เหตุผลในเรื่องความสะดวกในการจ่ายงบประมาณจากทางรัฐบาล หลังจากนั้น การเริ่มภาคเรียนในเดือนเมษายนก็แพร่หลายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ จนกลายเป็นอย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน
2. ช่วงเปิดเทอมเกี่ยวข้องกับปีงบประมาณของประเทศ
เหตุผลที่โรงเรียนญี่ปุ่นเริ่มเปิดเรียนในเดือนเมษายนนั้นเกี่ยวข้องกับปีงบประมาณของประเทศ ปีงบประมาณ คือระยะเวลาที่ถือเป็นการแบ่งระหว่างรายรับและรายจ่าย และโดยปกติแล้วหนึ่งปีก็คือหนึ่งปีงบประมาณ ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ ระบุว่าระยะเวลาของปีงบประมาณกำหนดเป็นตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคมจนถึงค.ศ.1868 หรือปีเมจิที่หนึ่ง แต่ในปี ค.ศ. 1869 หรือปีเมจิที่สองรัฐบาลแห่งชาติได้กำหนดปีงบประมาณขึ้นมาใหม่เป็นตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกันยายนปีถัดไป หลังจากนั้นก็มีการแก้ไขระยะปีงบประมาณมาโดยตลอด เช่น ‘มกราคม-ธันวาคม’ หรือ ‘กรกฎาคม-มิถุนายน’ และในปี ค.ศ.1886 ก็เปลี่ยนเป็นตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมีนาคมปีถัดไป
สาเหตุหลักที่เริ่มปีงบประมาณในเดือนเมษายน มาจากในขณะนั้นมีประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวนา และมีข้าวเป็นแหล่งรายได้ภาษีหลักของรัฐบาล ทำให้มีเวลาไม่เพียงพอสำหรับปิดงบประมาณให้เสร็จก่อนเริ่มเดือนมกราคม
3. ช่วงเปิดเทอมของประเทศอื่นๆ
มาดูช่วงเปิดเทอมของประเทศอื่น ๆ กันบ้างดีกว่าค่ะ ในโซนยุโรปอเมริกาและออสเตรเลียจะเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ในเดือนกันยายน ซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกับช่วงหน้าร้อน แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสิงคโปร์หรือไทย ซึ่งมีอากาศร้อนเป็นปกติจะหยุดยาวในช่วงหน้าแล้งและหน้าฝน ซึ่งก็คือช่วงเดือนเมษายนและเดือนตุลาคมนั่นเอง นอกจากนี้เกาหลีใต้จะเปิดเทอมในเดือนมีนาคม ส่วนอินเดียจะมีช่วงเวลาค่อนข้างหลากหลายโดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกรกฎาคม
การเริ่มต้นภาคเรียนใหม่ในเดือนเมษายนของญี่ปุ่นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือจัดตารางเวลาชีวิตได้ง่าย เช่น ช่วงหางานที่ญี่ปุ่นก็จะเริ่มช่วงเมษายนเหมือนกัน แต่ข้อเสียก็คือถ้าไปเรียนต่างประเทศหรือสมัครงานต่างประเทศจะเริ่มต้นภาคเรียนหรือเปิดรับสมัครไม่เหมือนกัน ทำให้อาจจะเริ่มภาคเรียนไม่ตรงทำให้เสียโอกาสได้นั่นเอง
ช่วงเวลาในการเปิดภาคเรียนของญี่ปุ่นก็มีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่าที่คิดไว้อีกนะคะ จำได้ว่าตอนไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นเราต้องไปเริ่มเข้าเรียนในเทอมสองหรือภาคเรียนช่วงฤดูใบไม้ร่วง ทำให้บางวิชาเป็นตัวต่อจากภาคเรียนก่อน เลือกวิชาเรียนลำบากเอาเรื่องอยู่เหมือนกันค่ะ เพราะเหมือนว่าเราต้องเรียนล่วงหน้าก่อนแล้วค่อยมาตามเก็บบทเรียนข้างหน้า แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่สนุกค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก allabout