คำว่า รุ่นซาโตริ (さとり世代, Satorisedai) ในญี่ปุ่นนั้นมีความหมายถึงคนรุ่นที่เกิดตั้งแต่ช่วงปลายปี 1980 จนถึงกลางปี 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเผชิญกับสภาวะสังคมที่ยากลำบากจนทำให้คนรุ่นนี้มีขาดความต้องการทางวัตถุและความก้าวหน้าในชีวิต ในส่วนของบทความนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักคนกลุ่มนี้กันให้มากขึ้น
คนรุ่นซาโตริ เด็กผู้เกิดช่วงปี 90
การกำหนด Gen ของคนรุ่นซาโตรินั้นมีหลายขอบเขตด้วยกัน แต่จะมี 2 นิยามหลักที่เป็นที่ยอมรับกัน คือ
- คนที่เกิดตั้งแต่ปี 1996 – 2005
- เด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 1990
นอกจากนี้ที่ญี่ปุ่นยังมีอีกคำเอาไว้ใช้เรียกคนที่เกิดในช่วงปีที่ซ้อนทับกับรุ่นซาโตริ (1987 – 2004) ว่า คนรุ่นยูโตริ (ゆとり世代, Yutorisedai) คำว่ายูโตริมาจากการที่เด็กในยุคนี้ที่ได้รับการศึกษาแบบยูโตริ (ゆとり教育, Yutori Kyoiku) ซึ่งเป็นระบบการศึกษาแบบหย่อนที่มีการปรับลดหลักสูตรลงมาให้ไม่เคร่งเท่ากับแบบเก่านั่นเอง
แม้ช่วงปีเกิดของคนรุ่นซาโตริและยูโตริที่ซ้อนทับกันจะทำให้จำแนกทั้งสองกลุ่มด้วยเกณฑ์อายุได้ค่อนข้างยาก จึงมีการนิยามให้ชัดเจนว่าคนรุ่นซาโตริคือคนที่เกิดในช่วงปีเดียวกับรุ่นยูโตริแต่จะมีไลฟ์สไตล์ที่ต่างออกไปและปัจจุบันจะมีอายุอยู่ในช่วง 19 – 36 ปี
ลักษณะของคนรุ่นซาโตริ และเหตุการณ์ที่ประกอบสร้างคนรุ่นนี้ขึ้นมา
คำว่า ซาโตริ (さとり, Satori) หมายถึง การตื่นรู้เข้าสู่แก่นของความจริง กล่าวคือการตรัสรู้ในพุทธศาสนานั่นเอง ซึ่งคำนี้ถูกนำมาใช้นิยามลักษณะเด่นของคนรุ่นซาโตริที่จะเป็นคนแข็ง ๆ ไม่ค่อยแสดงออกถึงความอยากหรือความทะเยอทะยาน ราวกับเป็นคนที่ละทางโลกแล้ว
แน่นอนว่าคนยุคซาโตริก็ใช่ว่าจะมีลักษณะดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่ม แต่เป็นผลจากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา โดยเราจะไล่ไทม์ไลน์ตั้งแต่ตอนที่คนรุ่นซาโตริเกิดจนถึงวัยทำงานกันได้ดังนี้
- ปี 1990 เกิดวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตกในญี่ปุ่นซึ่งส่งผลให้คนรุ่นซาโตริต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีบริษัทจำนวนมากล้มละลายลง รวมถึงมีอัตราคนว่างงานที่สูงแต่จำนวนการเสนอเข้าทำงานน้อย (แม้ในปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถเติบโตได้เท่ากับช่วงยุค 1990)
- ปี 1995 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพื้นที่ จังหวัดโอซาก้า เมืองโกเบและเกาะอาวาจิในจังหวัดเฮียวโกะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 ราย และบ้านเรือนเสียหายอีกกว่า 100,000 หลัง
- ปี 2008 แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่ประเทศก็ยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์
- ปี 2011 ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โทโฮคุ) ของญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวระดับ 9 แมกนิจูด มียอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 15,000 คน
- ปี 2019 ทั่วโลกและญี่ปุ่นเผชิญกับเหตุการณ์โรคระบาด COVID-19 ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานจนถึงปัจจุบัน (ณ ปี 2023)
จะเห็นได้ว่าการเติบโตผ่านช่วงที่สภาวะสังคมและเศรษฐกิจไม่มั่นคงนั้นทำให้คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเก็บความฝันเข้าลิ้นชักและยอมแพ้กับชีวิต เพราะคิดว่า “ชีวิตไม่มีอะไรเป็นไปตามที่หวังหรอก” และหันไปหาเส้นทางชีวิตที่เรียบง่ายและสงบแทน และในจำนวนนี้ก็คือคนรุ่นซาโตรินั่นเอง
6 จุดเด่นของคนรุ่นซาโตริ
1. เป็น Digital Native
พวกเขาเติบโตมาในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ฯลฯ คนรุ่นซาโตริจึงเป็นคนที่ไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง กลับกันพวกเขาเปิดรับสิ่งใหม่ๆ อย่างกระตือรือร้น และเพราะแบบนั้นเราจะสังเกตได้ว่าผู้บริหารบริษัทสตาร์ทอัพที่ริเริ่มนำอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีมาใช้ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นซาโตริเสียมาก
2. ความคุ้มค่าและฟังก์ชันการใช้งานมาเป็นอันดับหนึ่ง
การที่คนรุ่นนี้โตมาโดยเห็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจญี่ปุ่นทำให้พวกเขาไม่ได้ใส่ใจกับความเป็นแบรนด์ หรือการแสดงออกทางสถานะมากนัก แต่เน้นที่ฟังก์ชันและความคุ้มค่าของราคามากกว่า ดังนั้นในการเลือกซื้อสินค้า พวกเขาจึงมักใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลทั้งเรื่องราคา คุณสมบัติต่าง ๆ ของสินค้าและเชื่อถือในคำรีวิวปากต่อปากมากกว่าชื่อแบรนด์
3. อยู่กับความเป็นจริง
คนรุ่นซาโตริไม่ใช่กลุ่มคนที่ไล่ตามความฝันแต่เลือกที่จะอยู่กับปัจจุบัน เพราะคนเหล่านี้อยู่ในโลกที่โหดร้ายมาก่อนที่จะโตถึงวัยออกไปไล่ตามความฝัน พวกเขาจึงไม่ปรารถนาชีวิตที่ต้องฝืนเกินตัว อีกทั้งเชื่อว่าแม้จะพยายามไล่ตามความฝันแค่ไหน สักวันหนึ่งทั้งหมดนั่นก็อาจจะอันตรธานหายไปกับภัยธรรมชาติและพิษเศรษฐกิจต่างๆ ก็ได้ จึงเป็นเหตุทำให้บางครั้งเราจะเห็นได้ว่าพวกเขาไม่สนใจลาภยศใดๆ จนผู้ใหญ่ที่โตกว่าก็อาจรู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนเย็นชาไม่กระตือรือร้นกับชีวิต
4. ต้องการวิถีชีวิตแน่นอน
คนรุ่นนี้ไม่ได้มองว่าการทำตามความฝันเป็นเรื่องแย่ แต่รับไม่ได้กับการที่ความฝันจบที่ความล้มเหลว คนรุ่นซาโตริจึงมักไม่ทำอะไรที่เสี่ยงเกินตัว แม้นั่นจะทำให้พวกเขาถูกมองว่าขาดจิตวิญญาณในการท้าทายอะไรใหม่ ๆ ก็ตาม กล่าวคือคนรุ่นซาโตริจะชอบชีวิตที่มั่นคงไม่หวือหวามากกว่า ซึ่งสะท้อนออกมาในวิถีการใช้ชีวิตของพวกเขาด้วย เช่น ในแบบสอบถามเกี่ยวกับการทำงาน คนรุ่นซาโตริที่เข้ามาทำงานใหม่มักจะตอบว่า “ใช้ชีวิตแบบคนปกติก็พอแล้ว” “ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องโหมงานตอนนี้เลย” “ไม่มีจุดมุ่งหมายอะไรเป็นพิเศษ” เป็นต้น
5. ไม่ถนัดในการแสดงออกหรือการทำตัวให้เด่น
คนรุ่นนี้มักไม่เก่งในการแสดงออกถึงตัวตนของตัวเองและไม่สันทัดกับการเป็นจุดสนใจของคนอื่น แม้คนรุ่นนี้จะไม่ได้ปฎิเสธความเห็นรอบตัวและให้ความสำคัญกับส่วนรวม แต่พวกเขาก็มีภาพลักษณ์ในแง่ลบตรงเฉยชาและขาดการแสดงออก ซึ่งคนจำนวนมากในสังคมญี่ปุ่นเองก็มีแนวโน้มเป็นแบบนี้เช่นกัน
6. ความทนทานต่อสถานการณ์ตึงเครียดมีน้อย
คนรุ่นซาโตริต้องการชีวิตที่ไม่กดดัน นั่นทำให้พวกเขามีจุดที่ต่างจากคนเจนอื่นตรงที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเงินหรือสิ่งในครอบครอง แต่จะให้ความสำคัญกับการ ใช้ชีวิตแบบไม่เครียด (Stress Free) ทำให้มักเลือกถอยออกมาจากสถานการณ์ที่ดึงเครียด จนบ้างอาจกลายเป็นคนที่ไม่ทนต่อความกดดันไปโดยปริยาย
คนรุ่นซาโตริชอบให้ปฏิบัติด้วยยังไง?
รู้จักที่มาและลักษณะเด่นของคนรุ่นซาโตริกันแล้ว มาดูกันว่าการจะทำงานหรือคบหากับคนรุ่นซาโตริให้ราบรื่นนั้นมีเคล็ดลับอะไรบ้าง ซึ่งอาจจะง่ายกว่าที่คิด!
1. ไม่ใช้วิธีพูดแบบนามธรรม
คนรุ่นนี้ไม่ชอบการลองทำอะไรแล้วสูญเปล่า พวกเขาใช้ชีวิตแบบมีเป้าหมายและวิธีการชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลว ดังนั้นการไล่ให้พวกเขาลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ด้วยความคิดที่ยึดติดกับความเชื่อส่วนตัวหรืออุดมคติส่วนตัวโดยคิดว่าพวกเขาจะฮึดขึ้นมาลองทำ อาจส่งผลในทางลบให้พวกเขาไม่อยากทำเสียมากกว่า แต่ถ้าให้งานที่มีวิธีการขั้นตอนชัดเจนเป็นรูปธรรมก็จะช่วยให้พวกเขาปลดปล่อยศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ แต่ในอีกด้าน ด้วยความที่คนรุ่นนี้ไม่ได้ต้องการอะไรมาก จึงทำให้คนรุ่นซาโตริมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่นอกเหนือขอบเขตงานที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้นวิธีแก้คือการอธิบายเนื้อหางานหรือคำสั่งไม่ควรใช้คำพูดหรือวิธีอะไรที่เป็นนามธรรมเกินไป ต้องมีเหตุผลและเนื้อหาที่กระชับชัดเจน
2. กล่าวชมแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย
สำหรับคนรุ่นซาโตริที่ไม่ชอบงานหนักนัก การแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความประณีตในกระบวนการที่นำไปสู่เป้าหมายนั้นเป็นสิ่งจำเป็น วิธีหนึ่งคือการกล่าวชื่นชมทั้งผลลัพธ์และแต่ละขั้นตอนที่เขาทำอยู่เพื่อให้เขารู้สึกว่ามีคนสนใจการทำงานของตัวเองในทุกขั้นตอน ซึ่งนั่นจะทำให้พวกเขาทำงานได้อย่างตั้งใจมากขึ้น
แม้คนรุ่นซาโตริจะดูเป็นคนอีโก้สูงและรักความสมบูรณ์แบบแต่พวกเขาก็มีด้านที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนเช่น ถ้าเสียกำลังใจก็อาจจะเอากลับมาไม่ได้ ซึ่งนั่นก็เป็นจุดที่ควรต้องระวังไว้ให้ดี ซึ่งสำหรับหลักการชมนั้นในกรณีที่เป็นการติเชิงลบให้ยึดหลัก ชม (Praise) → เตือน (Negative) → ชม (Praise) หรือจำง่ายๆ ว่า “PNP” การชมด้วยหลักดังกล่าวจะทำให้คนรุ่นนี้เปิดใจฟังคำติมากขึ้น รวมถึงพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปอีกด้วย ที่สำคัญคือผู้เป็นหัวหน้าไม่ควรพูดกับคนรุ่นนี้ด้วยในเชิงให้คำแนะนำมากกว่าสั่งสอน นั่นก็จะทำให้คนรุ่นซาโตริมองว่าคนที่เขาทำงานด้วยใส่ใจที่จะแนะนำเขาและเปิดใจกับการทำงานมากขึ้น
3. ไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว
คนรุ่นซาโตริ ให้ความสำคัญกับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life Balance) เพราะต้องการชีวิตที่มั่นคง ดังนั้นพวกเขาจะมีเส้นแบ่งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวที่ชัดเจน การเลี่ยงถามเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว รวมถึงการแบ่งส่วนที่เป็นงานกับเวลาส่วนตัวอย่างชัดเจนก็จะทำให้เราทำงานกับพวกเขาได้อย่างราบรื่นขึ้นด้วย
แถมอีกนิด ลองมาดูคำเรียกเจเนอเรชันอื่น ๆ ในญี่ปุ่นกัน
นอกจาก “คนรุ่นซาโตริ” แล้วที่ญี่ปุ่นยังมีคำเรียกเจเนอเรชันอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างกับทั่วโลกอีกหลายแบบ อย่างเช่น คนรุ่นยูโตริ ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ก็เช่นกัน
- คนรุ่นสึคุชิ (つくし世代, Tsukushi Sedai) เกิดตั้งแต่ปี 1985 สึคุชิ มาจาก Tsukuseru (尽くせる) แปลว่า ใส่สุดเต็มกำลัง มีจุดเด่นที่คบหาคนหลากหลาย ให้ความสำคัญกับความเห็นใจผู้อื่นแต่จะไม่คบหากับกลุ่มใดหลุ่มหนึ่งอย่างลึกซึ้ง
- คนรุ่นเพรชเชอร์ (プレッシャー世代 , Pressure Sedai) เกิดประมาณปี 1982 – 1987 ซึ่งเป็นช่วงหลังที่เด็กจบใหม่ไม่สามารถหางานเพราะเศรษฐกิจที่ถดถอยและเนื่องจากญี่ปุ่นนิยมจ้างงานเด็กจบใหม่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถหางานได้อีกเลย (เรียกว่า Lost Generation) คนรุ่นเพรชเชอร์เห็นความยากในการหางานเลยมีความคิดที่จะจะยืนด้วยลำแข้งของตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ
ที่มา: chatwork
เรียบเรียงโดย: หนัตโต นัตโตะ