หลาย ๆ คนคงสังเกตเห็นว่า คนญี่ปุ่นนั้นชอบการจัดสอบวัดระดับ และชอบจัดอันดับของสรรพสิ่งมาก ๆ ใครที่เรียนภาษาญี่ปุ่นและเข้าสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นก็คงเก็ตในทันทีว่าหมายถึงอะไร
แต่ที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือหลาย ๆ สิ่งที่ชาวโลกไม่ได้จัดอันดับไว้ อย่างเช่น หมากล้อมของจีน หรือ มวยไท้เก๊ก ญี่ปุ่นก็ยังมีการสอบวัดระดับเป็นดั้งของหมากล้อม และเป็นดั้งของมวยไท้เก๊กในแบบเดียวกับคาราเต้ญี่ปุ่นอีกต่างหาก หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษที่ชาวโลกมีการสอบ TOEFL หรือ IELTS อยู่แล้ว แต่ญี่ปุ่นก็ไม่พอใจ ต้องจัดสอบวัดภาษาอังกฤษสำหรับชาวญี่ปุ่นเองคือ “เอโงะเค็นเทชิเค็ง (英語検定試験)” แม้แต่ภาษาจีนที่มีการสอบ HSK สำหรับนานาชาติอยู่แล้ว แต่ญี่ปุ่นก็ไม่พอใจอีกเช่นกัน ต้องจัดสอบวัดภาษาจีน “ชูโงะคุโงะเค็นเทชิเค็ง (中国語検定試験)” ไปอีก จะอะไรกันนักกันหนาก็ไม่รู้ นอกจากภาษาต่างประเทศแล้ว ญี่ปุ่นยังมีการสอบวัดระดับหรือวัดความรู้หรือสอบจัดอันดับบลา ๆ ๆ อีกมากมายตั้งแต่ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ บัญชี การเงิน การตลาด ฯลฯ ที่ญี่ปุ่นใช้มาตรฐานของญี่ปุ่นเองที่ไม่ได้ใช้เกณฑ์สากลแบบชาวโลกอีกต่างหาก สาเหตุที่ญี่ปุ่นชื่นชอบการจัดสอบวัดระดับหรือจัดอันดับแบบนี้ น่าจะคิดได้จาก 2 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความเป็นกลุ่ม
นักวิชาการญี่ปุ่นศึกษาชื่อดังอย่าง Makino (1996) กล่าวไว้ชัดเจนว่า ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความเป็นกลุ่มอย่างมาก เวลาจะพูดแสดงความคิดเห็นอะไร มักไม่มีความเห็นของตัวเอง แต่จะหยั่งเชิงกลุ่มของตัวเองก่อนว่าอีกฝ่ายคิดเห็นอย่างไร แล้วตัวเองค่อยพยายามแสดงความเห็นที่ไม่ไปหักล้างกับอีกฝ่ายที่อยู่ในกลุ่ม จนกลายเป็นเหมือนคนญี่ปุ่นจะไม่มีความคิดเห็นเป็นของตัวเองก็ว่าได้ หรือใหม่กว่านั้นอีกหน่อยก็มีกลุ่มนักวิชาการตะวันตกอย่าง Hofstede, Hofstede & Minkov (2010) ก็ได้ข้อค้นพบคล้ายกันว่าสังคมญี่ปุ่นมีแนวโน้มเป็นสังคม Collectivism คือเน้นความเป็นกลุ่มมากจนความเป็นปัจเจกค่อนข้างเบาบาง
ในตัวภาษาญี่ปุ่นเอง เวลาเจอกันแล้วต้องแนะนำตัว ก็นิยมเอาสังกัดของตัวเองขึ้นเป็นลำดับแรกในการแนะนำตัว ในวงธุรกิจก็ต้องแลกนามบัตรกันก่อน เพื่อให้รู้สังกัดของอีกฝ่าย และรู้ระดับตำแหน่งของอีกฝ่าย จึงจะคาดคะเนความสุภาพในบทสนทนากันได้ จึงจะเริ่มบทสนทนา เลยกลายเป็นว่า คนญี่ปุ่นมีธรรมชาติทั้งภาษา สังคม และวัฒนธรรมมานานแสนนานที่ชอบแบ่งกลุ่มและเน้นความเป็นกลุ่มเหนือความเป็นปัจเจก จนปรากฏการณ์นี้อาจเป็นสาเหตุให้ชาวญี่ปุ่นชอบจัดสอบวัดระดับบลา ๆ อะไรพวกนี้มาก ๆ เพื่อแบ่งกลุ่ม จัดกลุ่ม หรือแบ่งประเภทคน ให้จัดระเบียบง่าย ๆ กระมัง
2. ระบบชนชั้น ชิโนโคโช หรือ นักรบ-ชาวนา-ช่างฝีมือ-พ่อค้า
ระบบชนชั้นชิโนโคโช (士農工商) นั้น แต่เดิมเชื่อว่าเป็นระบบชนชั้นแบบเก่าสมัยยุคเอโดะ (1603 – 1868) แม้เมื่อในทศวรรษที่ 1990s จะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจนแล้วว่าในยุคเอโดะนั้นไม่ได้ใช้ระบบชิโนโคโชอีกแล้วเพราะจริง ๆ ระบบนี้มันเก่ากว่านั้น แต่ในตำราเรียนต่าง ๆ ของญี่ปุ่นสมัยก่อนและในระบบการศึกษาก็เผยแพร่แนวคิดนี้ไปทั่วญี่ปุ่นเป็นวงกว้าง คือชนชั้น 4 ชนชั้นในญี่ปุ่นโบราณดังนี้
1. ชิ (士) หมายถึง ชนชั้นนักรบ หรือ ซามูไรนั่นเอง
2. โน (農) หมายถึง ชนชั้นชาวนา
3. โค (工) หมายถึง ชนชั้นช่างฝีมือ
4. โช (商) หมายถึง ชนชั้นพ่อค้า
แม้ว่าปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นจะกำจัดเนื้อหาเกี่ยวกับชนชั้นทั้ง 4 นี้ออกจากตำราเรียนญี่ปุ่นแล้วเนื่องจากไม่ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ล่าสุดที่พบ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่ามีการเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับชนชั้นทั้ง 4 นี้ไปทั่วญี่ปุ่นก็เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ จึงเป็นแนวคิดที่ฝังหัวคนญี่ปุ่นเรื่องเกี่ยวกับการจัดอันดับหรือวัดระดับความสามารถของแต่ละวิชาชีพ (เพราะแต่ละอาชีพก็มีการจัดระดับกันในสมัยก่อน) และเกี่ยวกับความเชื่อว่าคนเราควรมีกลุ่มอาชีพที่สังกัด สังเกตได้จากเกม RPG ของญี่ปุ่นที่มักจะมีตัวละคร นักสู้ พ่อค้า ช่างตีดาบ ฯลฯ อะไรแบบนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของอิทธิพลจากแนวคิดชนชั้นทั้ง 4 นี้
นอกจากนี้ในการ์ตูนเองก็จะเห็นการแบ่งระดับอยู่ในหลายเรื่องมาก ยุคเก่าหน่อยก็อย่างเช่น Saint Seiya ที่แบ่งเป็น Gold Saint, Silver Saint, Bronze Saint ไว้อย่างชัดเจน หรือถ้าในการ์ตูนยุคใหม่อย่างพวก One Punch Man ก็จะเห็นว่ามีการแบ่งระดับฮีโร่ออกเป็น ระดับ S, A, B, C เป็นต้น ก็คิดได้ว่าเป็นอิทธิพลจากแนวคิดการแบ่งระดับชนชั้นทั้ง 4 ที่ยังเหลืออยู่ในจิตใจคนญี่ปุ่นก็เป็นได้
กล่าวโดยสรุป
อย่างไรก็ตาม สาเหตุทั้ง 2 ที่อาจเป็นที่มาของความชื่นชอบในการจัดสอบวัดระดับของคนญี่ปุ่นนี้ ก็เป็นเพียงการคาดเดาเชิงวิชาการเท่านั้น อาจมีสาเหตุอื่น ๆ อีกบ้าง แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบการจัดสอบวัดระดับมากจริง ๆ และทุกวันนี้ก็ยังคงมีการสอบประเภทใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดไปตามกระแสเวลาที่หมุนเปลี่ยนไปตลอด ซึ่งก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างของประเทศญี่ปุ่น เพราะสามารถสนุกกับการสอบต่าง ๆ ได้หลากหลายแม้ว่าในประเทศอื่นเขาจะไม่ได้จัดสอบกันในเรื่องนั้น ๆ ก็ตามที
หนังสืออ้างอิง
1. Hofstede, G., Hofstede, G. J., & Minkov, M. (2010). Cultures and Organizations: Software of the Mind: Intercultural Cooperation and Its Importance for Survival. (3rd ed.). New York, NY: McGraw-Hill.
2. Makino, S. (1996). The Study of Culture of In-Group and Out-Group [Uchi to Soto no Gengo-Bunka]. Tokyo, Japan: ALC.
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas