หากพูดถึงร้านกาแฟในประเทศญี่ปุ่น เรามักจะพบคำหลักสองคำ คือ “คิสสะเตง” (Kissaten) และ “คาเฟ่” (Cafe) ซึ่งทั้งสองคำนี้ล้วนสื่อถึงร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มและกาแฟเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างที่น่าสนใจ ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “คิสสะเตง” และ “คาเฟ่” กันค่ะ
1. ภาพลักษณ์
ภาพลักษณ์ของ “คิสสะเตง” มักมีอิมเมจเป็นร้านที่มีบรรยากาศย้อนยุค ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้แบบโบราณ และมักเป็นร้านขนาดเล็กที่เปิดดำเนินการมานาน โดยเจ้าของร้านมักจะดูแลร้านด้วยตนเอง หรือเป็นร้านที่ตั้งอยู่ในบ้าน ไม่มีสาขาหรือเป็นร้านแฟรนไชส์ มีบรรยากาศเงียบสงบและอบอุ่น ลูกค้าสามารถนั่งจิบกาแฟหรือชาหอม ๆ ได้อย่างสบายใจ
ในทางตรงกันข้าม “คาเฟ่” มีอิมเมจเป็นร้านที่ทันสมัยและมีสไตล์ที่ดูสวยงามมากกว่า ภายในตกแต่งแนวตะวันตกหรือแบบโมเดิร์น ซึ่งทำให้บรรยากาศของร้านสว่างและเปิดกว้าง ขนาดร้านค่อนข้างใหญ่ มักตั้งอยู่ในเขตเมืองที่มีผู้คนหนาแน่น และมักมีหลายสาขาหรือเป็นร้านแฟรนไชส์ รวมถึงมีเมนูอาหารหลากหลาย เช่น พาสต้า สปาเก็ตตี้ เป็นต้น
2. ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ
“คิสสะเตง” และ “คาเฟ่” แตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ โดย “คาเฟ่” จะได้รับใบอนุญาตประเภทร้านอาหาร ซึ่งอนุญาตให้เสิร์ฟแอลกอฮอล์ได้ ในขณะที่ “คิสสะเตง” สามารถเปิดร้านได้ด้วยใบอนุญาตประเภทคิสสะเตง ซึ่งได้รับการอนุญาตที่ง่ายกว่า และไม่อนุญาตให้เสิร์ฟแอลกอฮอล์ แต่ก็มีคิสสะเตงบางร้านที่ได้รับใบอนุญาตประเภทร้านอาหาร ทำให้สามารถเสิร์ฟแอลกอฮอล์ได้เช่นกัน
ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจยังส่งผลต่อระดับความสามารถในการประกอบอาหารอีกด้วย เมนูในคิสสะเตงจึงมักมีเฉพาะอาหารที่มีขั้นตอนการทำง่าย เช่น ขนมปังปิ้งหรือเค้ก ส่วนคาเฟ่มักจะมีเมนูหลากหลายและมีขั้นตอนการทำที่ซับซ้อนมากกว่า นอกจากนี้ ใบอนุญาตยังระบุข้อกำหนดของอุปกรณ์ในร้าน เช่น คิสสะเตงต้องมีระบบจัดการน้ำสะอาดและน้ำเสียแยกกัน ส่วนคาเฟ่ต้องมีอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น เครื่องทำความเย็น เครื่องล้างจาน เครื่องทำความร้อน และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับลูกค้า เช่น ห้องน้ำ เป็นต้น
3. ประวัติศาสตร์
หลายคนอาจคิดว่า “คิสสะเตง” เกิดขึ้นก่อน “คาเฟ่” แต่จริง ๆ แล้ว “คาเฟ่” มีต้นกำเนิดมาก่อน โดยคาเฟ่แห่งแรกในญี่ปุ่นมีชื่อว่า “คะฮิสะคัง” (可否茶館) เริ่มให้บริการในปี 1888 ที่อุเอะโนะ โตเกียว (ปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว) หลังจากนั้นคาเฟ่เริ่มเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 1925 จำนวนร้านคาเฟ่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากรัฐบาลมีการออกกฎหมายควบคุมในปี 1929 จำนวนคาเฟ่ก็ลดลง และต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกาแฟในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่คาเฟ่ก็ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งในปี 1950 หลังสงคราม
หลังจากการออกกฎหมายควบคุมคาเฟ่ในปี 1929 ทำให้จำนวน “คิสสะเตง” เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ร้านที่เสิร์ฟกาแฟและอาหารว่างหลายร้านเริ่มใช้ชื่อ “คิสสะเตง” ทำให้ชื่อเสียงของคิสสะเตงเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คิสสะเตงก็ได้รับผลกระทบในช่วงสงครามเช่นกัน แต่เริ่มฟื้นตัวหลังสงครามสิ้นสุดลง ร้านกาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสะท้อนถึงงานอดิเรกและรสนิยมของเจ้าของร้านก็เริ่มได้รับความนิยม โดยเฉพาะคิสสะเตงที่สามารถนั่งฟังดนตรีพร้อมจิบกาแฟได้ เช่น คิสสะเตงร็อค คิสสะเตงแจ๊ส และคิสสะเตงมังงะ ที่สามารถอ่านการ์ตูนไปพร้อมกับจิบเครื่องดื่ม แต่หลังจากได้รับความนิยมสูงสุดในปี 1981 จำนวนคิสสะเตงเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
4. ร้านอื่น ๆ ที่คล้ายกัน
นอกจาก “คิสสะเตง” และ “คาเฟ่” ยังมีร้านอื่น ๆ ที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน แต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น
“จุนคิสสะ” (Junkissa)ในช่วงต้นยุคเมจิ คาเฟ่บาร์ที่เสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งได้กลายเป็นบาร์และคาเบเร่ต์ในเวลาต่อมา หลังจากการออกกฎหมายควบคุมในปี 1929 คาเฟ่และบาร์ได้รับการแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ร้านที่ให้บริการกาแฟตลอดวันเริ่มใช้ชื่อว่า “คิสสะเตง” หรือ “จุนคิสสะ” เพื่อแสดงให้เห็นว่าที่ร้านไม่ได้เสิร์ฟแอลกอฮอล์ ความแตกต่างระหว่าง “คิสสะเต็น” และ “จุนคิสสะ” คือ “จุนคิสสะ” หมายถึงร้านกาแฟที่เสิร์ฟเฉพาะกาแฟเท่านั้น โดยไม่มีเมนูหรือบริการอื่นเพิ่มเติม คำว่า “จุน” ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง “บริสุทธิ์” ซึ่งสะท้อนถึงการมุ่งเน้นเฉพาะกาแฟในร้านนี้
“บารุ” (Baru) คำว่า “บารุ” ในที่นี้หมายถึงร้านที่เสิร์ฟทั้งอาหารว่างและเครื่องดื่ม ตามความหมายในประเทศยุโรปตอนใต้ เช่น สเปน โปรตุเกส และอิตาลี ซึ่งไม่ใช่ “บาร์” แบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ บารุมีหลากหลายสไตล์ ขึ้นอยู่กับเมนูหลักที่เลือก เช่น อาหาร กาแฟ หรือเจลาโต้ เป็นต้น
ปัจจุบัน “คิสสะเต็น” และ “คาเฟ่” แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะคิสสะเต็นสามารถขอใบอนุญาตแบบเดียวกับคาเฟ่ และสามารถเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มในระดับเดียวกันได้ แต่อย่างไรก็ตามภาพจำและอิมเมจของ “คิสสะเต็น” และ “คาเฟ่” ยังคงแตกต่างกันอยู่ดี ถ้าถามว่าความต่างคืออะไร ส่วนตัวแล้วมองว่าเป็น บรรยากาศในร้าน มากกว่าค่ะ ถ้าไปญี่ปุ่น ลองแวะเข้า “คิสสะเต็น” และ “คาเฟ่” อย่างละร้าน เพื่อเทียบความแตกต่างดูนะคะ!
สรุปเนื้อหาจาก: ejcra.org