งานกีฬาของญี่ปุ่นมักจะจัดขึ้นในช่วงต้นฤดูร้อน หรือฤดูใบไม้ผลิ เป็นช่วงที่อากาศกำลังเย็นพอดีเหมาะกับการออกกำลังกาย ถ้าใครเคยเรียนที่โรงเรียนในญี่ปุ่นน่าจะเคยได้เข้าร่วมงานแข่งขันกีฬากันบ้างล่ะ แต่รู้ไหมคะว่างานกีฬาของญี่ปุ่นนั้นแตกต่างจากในประเทศอื่นมาก! บทความนี้จะมาเล่าให้ฟังถึงลักษณะเฉพาะ และความเป็นมาของงานกีฬาที่ญี่ปุ่น รวมถึงสิ่งที่แตกต่างจากงานกีฬาของประเทศอื่น ๆ
ต้นกำเนิดและลักษณะพิเศษของงานกีฬาญี่ปุ่น
ว่ากันว่าการจัดงานกีฬาของโรงเรียนญี่ปุ่นในทุกวันนี้มีต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนทหารเรือในสมัยเมจิ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีงานกีฬานั้นได้ถูกจัดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ กีฬาสีของญี่ปุ่นเองก็รับเอาแรงบันดาลใจมาจากตรงนี้ด้วยเช่นกัน
แต่หลังจากที่เกิดสงครามขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพทหารค่อย ๆ แข็งแกร่งขึ้น ก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อการฝึกฝนขึ้นมา และจากจุดนี้เองจึงสันนิษฐานกันว่า การแข่งม้าศึก (คล้ายขี่ม้าส่งเมืองของไทย), การเข้าแถว และการเดินขบวนในงานกีฬาของญี่ปุ่นทุกวันนี้ ก็เป็นสิ่งที่หลงเหลือมาจากกิจกรรมฝึกนั้นด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันงานกีฬาของญี่ปุ่นไม่เพียงแต่จัดขึ้นแค่ในมหาวิทยาลัย และโรงเรียนมัธยมปลายเท่านั้น แต่ยังมีในโรงเรียนมัธยมต้น โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนอนุบาล และเตรียมอนุบาลอีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีทั้งการแข่งขันประเภทบุคคล และประเภททีม
รูปแบบงานกีฬาญี่ปุ่นที่แตกต่างจากประเทศอื่น!
งานกีฬาของญี่ปุ่นนั้น นอกจากการจะมีแข่งขันประเภทบุคคลแล้ว ยังมีการเดินขบวนพาเหรดในพิธีเปิด ยิมนาสติกแบบกลุ่ม และการแข่งขันกีฬาประเภททีมอยู่มากมาย ตัวอย่างเช่น การแข่งขันม้าศึก เป็นต้น แต่งานกีฬาที่จัดขึ้นในประเทศอื่นนั้น ถ้าไม่นับกีฬาประเภททีมแล้วล่ะก็ แทบจะไม่มีกิจกรรมอื่นที่ให้เด็ก ๆ ได้ทำร่วมกัน ดังนั้นเมื่อคนชาติอื่นได้มาเห็นงานกีฬาของญี่ปุ่นก็จะมีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย มีทั้งคนที่กล่าวชื่นชมว่า “คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความร่วมมือและความสามัคคีดีจังเลย” “การจัดแถวและเดินขบวนอย่างเป็นระเบียบนี่ดูเรียบร้อยสวยงามดีนะ”
ทว่าในทางกลับกัน ก็มีบางความเห็นที่เป็นไปในเชิงลบอยู่เหมือนกัน เช่น “ดูน่ากลัวอย่างกับกองทัพทหารเลย” “เป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวไม่ได้” “ใช้เวลาฝึกซ้อมตั้งมากมายขนาดนี้ไปเพื่ออะไรกันหรอ?” เป็นต้น
คราวนี้เมื่อเรารู้ถึงมุมมองจากคนชาติอื่นที่มีต่องานกีฬาของญี่ปุ่นแล้ว มาดูบ้างว่าที่ประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เขามีการจัดงานกีฬากันไหมนะ และจัดกันในรูปแบบไหน?
“Field day” งานกีฬาของอเมริกา?
รูปแบบของงาน “Field day” ของอเมริกานั้นก็ตรงตามชื่อของงานเลย คือ เป็นกิจกรรมที่ให้เด็ก ๆ ได้ออกไปสนุกสนานกับการขยับร่างกายที่สถานที่ออกกำลังกาย หรือสนามเด็กเล่น ได้ตามใจ คำว่า “Field day” สามารถหมายรวมถึง “การแข่งขันกีฬา” “กิจกรรมกลางแจ้ง” ได้ด้วยเช่นกัน หรืออาจจะใช้ในความหมายของ “วันแห่งความสนุกสนาน” “วันแห่งความบันเทิง” ก็ได้เหมือนกัน
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุดระหว่าง Field day ของอเมริกา กับงานกีฬาของญี่ปุ่นก็คือ Field day ไม่มีการบังคับให้เด็กทุกคนต้องเข้าร่วมกิจกรรม เด็ก ๆ สามารถเข้าร่วมทำกิจกรรมได้ตามความสมัครใจ ตามความต้องการของพวกเขาเอง ซึ่งต่างจากงานกีฬาของญี่ปุ่น แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าเด็ก ๆ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามความสมัครใจแล้วนั้น แน่นอนว่าจะมีเด็กบางคนที่ไม่เข้าร่วมทำกิจกรรมอยู่ด้วย ดังนั้นจะไม่ได้เห็นภาพบรรยากาศของพ่อแม่ หรือครอบครัวมาร่วมทำกิจกรรมด้วยกันในวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันเสาร์อาทิตย์ เหมือนกันกับที่ญี่ปุ่น จะมีเพียงแค่เด็กที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้นที่จะมาที่สนาม และสนุกไปกับกีฬาที่พวกเขาชอบ อย่างเช่นฟุตบอล บาสเกตบอล เป็นต้น ซึ่งถ้าเทียบแล้วกิจกรรมในลักษณะนี้เหมือนกับเป็น “การใช้เวลาว่าง” และ “ช่วงเวลาพักผ่อน” ของคนญี่ปุ่นเสียมากกว่า
พลศึกษาในญี่ปุ่นแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างไร?
คราวนี้มาดูการเรียนวิชาพลศึกษากันบ้าง ไม่ใช่แค่เฉพาะงานกีฬาเท่านั้น วิชา “พลศึกษา” ในญี่ปุ่นเองก็แตกต่างจากประเทศอื่นเช่นกัน อันดับแรกคือเรื่องชุด แม้ถ้าเทียบกับไทยจะดูไม่ได้แปลกอะไร แต่ในบางประเทศนั้นชั้นเรียนวิชาพลศึกษาจะไม่ได้มี “ชุดพละ” เหมือนกับที่โรงเรียนญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีกรณีที่ครูแนะนำให้เด็ก ๆ ใส่เสื้อผ้าสบาย คล่องตัวต่อการเคลื่อนไหวมาในชั้นเรียนวิชาพละ แต่โดยทั่วไปแล้วเด็กก็จะใส่เป็นชุดกางเกงยีนส์ เสื้อยืด เสื้อคลุมฮู้ด กางเกงเลกกิ้ง ซึ่งครูก็จะปล่อยให้เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเด็กแต่ละคนเอง
ทีนี้เรามาดูที่เรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกในวิชาพลศึกษากันบ้าง ที่ญี่ปุ่นในแต่ละโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐ หรือเอกชนก็ดีต่างก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ให้ใช้บริการ เช่น โรงยิม แต่ว่าในบางประเทศ เช่น อเมริกา ความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีให้นั้นจะขึ้นอยู่กับสถานภาพความพร้อมทางการเงินของโรงเรียน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยถ้าเราจะพบว่าบางโรงเรียนในบางประเทศก็ไม่มีโรงยิม
เล่าแค่นี้อาจจะยังเห็นภาพไม่ชัด เรามาเทียบความแตกต่างของวิชาพลศึกษาใน 3 ประเทศ ได้แก่ อเมริกา สิงคโปร์ และจีน กันดูดีกว่าค่ะ!
1. พลศึกษาในอเมริกา
โรงเรียนในอเมริกา วิชาพลศึกษาจะมีชื่อว่าวิชา “PE” โดยทั่วไปจะมีการเรียนการสอนสัปดาห์ละประมาณหนึ่งถึงสองครั้ง ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงเรียน “PE” นั้นไม่เหมือนกับวิชาพลศึกษาของญี่ปุ่นที่เน้นการทดสอบสอบความสามารถด้านกีฬา การวิ่ง และด้านยิมนาสติกที่ต้องใช้อุปกรณ์จำพวกคานทรงตัว หรือม้ากระโดด แต่จะเน้นให้เด็กได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งหัวใจหลักของ “PE” คือการทำให้เด็ก ๆ ได้สนุกสนานไปกับการร่วมเล่นเกมที่ครูเป็นคนคิดขึ้นมา เช่น ขี่รถจักรยาน การปีนป่าย เป็นต้น
2. พลศึกษาในสิงคโปร์
วิชาพลศึกษาของสิงคโปร์จะมีเรียน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่จะเน้นไปที่กีฬาประเภทใช้ลูกบอล และจำพวกเกม อย่างเช่น ฟุตบอล และบาสเกตบอล เป็นหลัก โดยจากระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญและจริงจังในด้านวิชาการอย่างมาก พลศึกษาจึงเป็นการเรียนที่เน้นไปทางช่วยให้เด็ก ๆ ได้ผ่อนคลายจากความเครียดในการเรียนอย่างหนักมากกว่า
3. พลศึกษาในประเทศจีน
โรงเรียนที่จีนมีระบบที่มีส่วนคล้ายกับญี่ปุ่นตรงที่ในคาบวิชาวิชาพลศึกษาจะเน้นไปที่การทดสอบสมรรถภาพและกีฬาที่อยู่ในโรงยิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ในบางโรงเรียนเราก็อาจจะพบเห็นกีฬาพิเศษอื่น ๆ เช่น กีฬาประเภทน้ำแข็งหิมะในช่วงฤดูหนาว หรือกีฬาจีนโบราณ ด้วยเช่นกัน
สรุปแล้ว งานกีฬา และวิชาพลศึกษาของญี่ปุ่นนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นอย่างเห็นได้ชัด ในประเทศอื่นนั้นเด็ก ๆ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามความสมัครใจ และมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ในขณะที่งานกีฬาของญี่ปุ่นนั้นมีบรรยากาศที่ค่อนข้างเป็นทางการ และเด็กต้องเข้าร่วมทำกิจกรรมด้วยกันทุกคน ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยในการเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งความสามัคคีในแบบของญี่ปุ่น ว่าแต่งานกีฬาในโรงเรียนของไทยเราล่ะ เหมือนหรือต่างจากงานกีฬาของญี่ปุ่นยังไงบ้างนะ?
สรุปเนื้อหาจาก sportday studysupport30
ผู้เขียน : Hikary