ความเจ็บป่วย เป็นเรื่องที่ไม่ว่าใคร ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากเราต้องเข้าทำการรักษา ค่าใช้จ่ายก็จะแตกต่างกันไปตามอาการของแต่ละคน และสิ่งจำเป็น ที่ช่วยแบ่งเบาภาระในส่วนนี้ได้ ก็คือ “ประกันสุขภาพ” นั่นเอง ในวันนี้ เราจะขอนำข้อมูลที่เคยได้เรียนรู้จากตอนที่ทำงานพิเศษในร้านขายยา (薬局, Yakkyoku) ในประเทศญี่ปุ่นมาอธิบายเรื่องประกันสุขภาพและสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของญี่ปุ่น ที่ติดอันดับต้น ๆ ในประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพและสวัสดิการที่ดีสุดในโลก (อ้างอิงจาก Wisevoter และ World Population Review) ให้เพื่อน ๆ ได้พอเข้าใจกันค่ะ!
ประกันสุขภาพของญี่ปุ่น
มาเริ่มกันที่ประกันสุขภาพของญี่ปุ่นก่อน โดยประกันสุขภาพจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท หลักๆ คือ
1. ประกันสุขภาพแห่งชาติ
ประกันสุขภาพแห่งชาติ (国民健康保険) เป็นประกันสุขภาพพื้นฐานของประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่นเอง หรือชาวต่างชาติทุกคนที่เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายและอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นจะถูกบังคับให้เข้าระบบ *(1)ประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเลขประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นจะเป็นเลข 6 หลัก โดยหมายเลข 2 ตัวหน้า คือ เลขบอกจังหวัด เช่น 20xxxx (เลขประกันที่ขึ้นต้นด้วย 20 จะเป็นเลขของจังหวัดนากาโนะ) และ 13xxxx (เลขประกันที่ขึ้นต้นด้วย 13 จะเป็นเลขของเมืองเกียวโต) ฯลฯ
ประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบไปด้วย
- เงินส่วนรักษาพยาบาล
- เงินสนับสนุนช่วงชราภาพ
- เงินส่วนคุ้มครองการรักษาระยะยาว (จำกัดที่อายุ 40 – 65 ปี)
ค่าประกันสุขภาพ ที่ผู้เข้าระบบต้องจ่ายในแต่ละเดือนนั้น จะแตกต่างกันตามรายได้ประจำปีของแต่ละคน (ที่ประเทศญี่ปุ่นจะคิดรายได้เป็นรายปี ต่างจากประเทศไทยที่คิดรายได้เป็นรายเดือน) โดยคำนวณจากรายได้ประจำปีของปีก่อนหน้า และคำนวณจากค่ารักษาโดยเฉลี่ยต่อหัว กับค่ารักษาโดยเฉลี่ยต่อครอบครัวของผู้ที่เข้าระบบประกันสุขภาพแห่งชาติในเขตนั้น ทำให้ค่าประกันจะแตกต่างกันไปตามแต่ละคน และขึ้นอยู่กับเขตที่อยู่อาศัยของผู้จ่ายค่าประกันด้วยเช่นกัน และหากผู้เข้าร่วมระบบประกันมี *(2)ฟุโยด้วย ค่าประกันสุขภาพแห่งชาติจะแพงขึ้นตามจำนวนฟุโยค่ะ ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (รวมไปถึงฟุโย) จะเสียค่ารักษาหรือค่ายาเองเพียง 30% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมดค่ะ
*(1) ผู้ที่ถูกบังคับให้เข้าระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ จะต้องมีรายรับเพียงพอต่อการใช้ชีวิตพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่น หรือไม่ได้อยู่ในระบบประกันบริษัท (รวมไปถึงฟุโย)
*(2)ฟุโย หรือ ฟุโยกิมุ (扶養義務) คือบุคคลในครอบครัว ทีต้องการได้รับการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากประกันสุขภาพ โดยมีเงื่อนไขคือ จะต้องเป็นครอบครัวสายเลือดเดียวกัน เช่น พ่อแม่ หรือบุตร ฯลฯ สามารถนับลำดับญาติได้ 3 รุ่น หรือเป็นคู่สมรสที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และคนที่จะเป็นฟุโยต้องมีรายได้ไม่เกิน 50% ของผู้เข้าระบบประกัน หรือไม่เกิน 1,300,000 เยน ต่อปี
2. ประกันบริษัท
ประกันบริษัท (社会保険) เป็นประกันบังคับของพนักงานทุกคนในบริษัท ที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยประกันบริษัท จะแบ่งออกเป็น 5 ประเภทย่อย ดังนี้
- ประกันสุขภาพ
- ประกันในส่วนเงินบำนาญ
- ประกันการคุ้มครองสำหรับการเจ็บป่วยระยะยาว
- ประกันการว่างงาน
- ประกันอุบัติเหตุ
ผู้ที่เข้าระบบประกันบริษัททุกคน จะถูกหักค่าประกันจากเงินเดือน ณ ที่จ่าย โดยอัตโนมัติ โดยค่าประกันจะถูกคำนวณจากประกันย่อยแต่ละประเภททั้งหมดรวมกัน (ถูกหักประมาณ 31.3% – 35.3% ของเงินเดือน) และถ้าผู้เข้าร่วมระบบประกันมีฟุโย ค่าประกันบริษัทในส่วนของประกันสุขภาพจะแพงขึ้นตามจำนวนฟุโยค่ะ
เลขประกันประกันบริษัทจะเป็นเลข 8 หลัก โดยที่เลข 2 ตัวหน้าจะแบ่งเป็น 01xxxxxx (สำหรับพนักงานของบริษัทธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) 06xxxxxx (สำหรับพนักงานของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่) และ 31-34xxxxxx (สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ และข้าราชการ) ผู้ที่อยู่ในระบบประกันบริษัท (รวมไปถึงฟุโย) จะเสียค่ารักษาหรือค่ายาเองเพียง 30% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมดค่ะ
3. ประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
อันที่จริง ประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ (後期高齢者) จัดเป็นหนึ่งในประกันสุขภาพแห่งชาติค่ะ แต่เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ เราจะขอแบ่งออกมาเป็นอีก 1 ประเภทค่ะ เลขประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ จะเป็นเลข 8 หลัก โดยที่เลข 2 ตัวหน้า จะขึ้นต้นด้วยเลข 39xxxxxx เสมอ
ผู้ที่สามารถเข้าระบบประกันนี้ จะต้องมีอายุ 75 ปีขึ้นไป (หากเป็นผู้ทุพพลภาพ จะสามารถเข้าระบบประกันได้ตั้งแต่อายุ 65 ปี ขึ้นไป) ค่าประกันต่อเดือนที่ผู้เข้าระบบประกันต้องจ่ายจะถูกคำนวณจากรายได้ประจำปีของปีก่อนหน้า และคำนวณจากค่ารักษาโดยเฉลี่ยต่อหัวในเขตที่อาศัย ผู้เข้าระบบประกันจะเสียค่ารักษาหรือค่ายาเองเพียง 20% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขคือต้องเป็นผู้ที่ตรงกับข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
- ผู้ที่ถูกเก็บภาษีเกิน 280,000 เยนต่อปี
- คนโสดที่มีรายได้มากกว่า 2,000,000 เยนต่อปี
- คนมีครอบครัวที่มีรายได้มากกว่า 3,200,000 เยนต่อปี
แต่ระบบประกันสุขภาพผู้สูงอายุ ก็มีข้อยกเว้นเช่นกันค่ะ ได้แก่
- ผู้ที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่า 280,000 เยนต่อปี
- คนโสดที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,000,000 เยนต่อปี
- คนมีครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,200,000 เยนต่อปี
โดยกลุ่มที่ยกเว้นนี้จะเสียค่ารักษาหรือค่ายาเองเพียง 10% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมดค่ะ
และผู้ที่ถูกเก็บภาษีเกิน 300,000 เยนต่อปี คนโสดที่มีรายได้มากกว่า 3,800,000 เยนต่อปี หรือคนมีครอบครัว ที่มีรายได้ มากกว่า 5,200,000 เยนต่อปี จะต้องเสียค่ารักษา หรือค่ายาเอง 30% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมดค่ะ
สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของญี่ปุ่น
สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของญี่ปุ่น หรือ ฟุคุชิอิเรียวฮิ (福祉医療費) เรียกย่อๆ ว่า “ฟุคุชิ” เป็นสวัสดิการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ที่ใช้คู่กับระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่น จำนวนเงินช่วยเหลือ และเงื่อนไขในการรับสวัสดิการนั้น จะแตกต่างกันไปตามแต่ละเขต ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการย้ายที่อยู่ข้ามเขต ก็ต้องทำเรื่องขอบัตรฟุคุชิใหม่ทุกครั้ง และบัตรฟุคุชิจะไม่สามารถใช้บริการข้ามเขตได้ค่ะ แต่ในกรณีที่ต้องใช้ข้ามเขต ผู้เข้ารับการรักษาจะต้องออกค่าใช้จ่ายสำรองไปก่อน และสามารถไปเบิกเงินส่วนต่างกับทางเขตที่อยู่ได้เช่นกันค่ะ ฟุคุชิแบ่งเป็น 2 ประเภท หลักๆ ดังนี้
1. สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของเด็ก
สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของเด็ก เป็นสวัสดิการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลของเด็กทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงอายุประมาณ 15-18 ปี (โดยนับตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันที่ 31 มีนาคมของปี) อายุสูงสุดที่เด็กสามารถรับสวัสดิการได้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละเขต เช่น ที่เมืองมัตสึโมโตะเด็กจะได้รับสวัสดิการจนอายุถึง 18 ปี ส่วนที่เมืองอุจิเด็กจะได้รับสวัสดิการจนอายุถึง 15 ปี เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายตามสวัสดิการนั้นจะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไปตามแต่ละเขตเช่นกันค่ะ เช่น เด็กที่อยู่ในเมืองมัตสึโมโตะจะเสียค่ารักษา 500 เยนต่อ 1 สถานพยาบาล และเสียค่ายา 500 เยน ต่อ 1 ร้านยา / เดือน หากภายในเดือนนั้น ไปสถานพยาบาล และร้านยาเดิม ก็จะไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่จะเสียค่าใช้จ่ายถ้าไปสถานพยาบาล หรือร้านยาใหม่ค่ะ ส่วนเด็กที่อยู่ในเมืองอุจิจะเสียค่ารักษา 200 เยน ต่อ 1 สถานพยาบาล / เดือน แต่ไม่เสียค่ายาใดๆ ทั้งสิ้นค่ะ
2. สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของผู้ใหญ่
สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของผู้ใหญ่ เป็นสวัสดิการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ช่วงอายุ 15-18 ปีขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับแต่ละเขต) ประเภทของฟุคุชิสำหรับผู้ใหญ่ แบ่งได้เป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของร่างกายหรือจิตใจ และรวมไปถึงความสามารถทางการเงินในการดำเนินชีวิตค่ะ เช่น ผู้ทุพพลภาพ ผู้ป่วยเป็นโรคร้ายแรงตามที่กำหนด ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต หรือพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ฯลฯ
ผู้ที่ถือบัตรฟุคุชิผู้ใหญ่บางคน จะมีวงเงินสูงสุดที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเอง แต่ถ้าค่ารักษาพยาบาล (รวมไปถึงค่ายา) เกินวงเงินตามที่เขตกำหนดให้ ผู้ถือบัตรฟุคุชิคนนั้นก็จะไม่เสียค่ารักษาพยาบาลและค่ายาค่ะ โดยมีเงื่อนไขคือ จะต้องใช้บริการสถานพยาบาลและร้านยาที่ได้แจ้งไว้กับทางเขตเท่านั้นค่ะ หรือหากเป็นคนที่มีรายรับไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตในประเทศ ก็อาจจะได้รับการยกเว้นค่ารักษาและค่ายาเช่นกันค่ะ เงื่อนไขสำหรับคนที่ถือบัตรฟุคุชิของผู้ใหญ่อีกหนึ่งอย่างคือ ผู้ที่มีบัตรฟุคุชิจะต้องไปต่ออายุกับทางเขตทุกๆ ปี ต่างจากเด็กที่จะได้รับบัตรฟุคุชิที่มีอายุการใช้งานครอบคลุมตั้งแต่วันที่แจ้งทำเรื่องฟุคุชิจนถึงอายุที่กำหนดโดยไม่จำเป็นต้องไปต่ออายุค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างคะ เรื่องราวที่เราได้นำเสนอไปในบทความนี้ ค่อนข้างซับซ้อนกันพอสมควรเลยใช่หรือเปล่าคะ? อันที่จริง ระบบประกันสุขภาพและสวัสดิการของญี่ปุ่นนั้นมีการอัพเดทข้อมูลอยู่เสมอๆ และยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกจำนวนมาก แต่จากที่เราสรุปคร่าวๆ ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันในบทความนี้ น่าจะช่วยให้เพื่อนๆ หลายคน เข้าใจได้ว่า ทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงเป็น “ประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพ และสวัสดิการที่ดีที่สุด” เป็นอันดับต้นๆ ของโลกค่ะ
สรุปข้อมูลเพิ่มเติมจาก: HR-Get, Ministry of Health, Uji City
เรียบเรียงโดย: Akime