งานแต่งงาน

วันแต่งงานเป็นวันพิเศษที่สุดวันหนึ่งของทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวที่จะจดจำไปตลอดชีวิต ประเทศไทยก็มีข้อควรระวังของเรา ส่วนคนญี่ปุ่นก็มีข้อควรระวังของคนญี่ปุ่นเช่นกัน หากเราได้รับคำเชิญให้เป็นแขกในงานแต่งงานของคนญี่ปุ่น เราก็จำเป็นต้องเรียนรู้วัฒนธรรม และ ทำความเข้าใจมารยาทของคนญี่ปุ่น เพื่อให้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกกาลเทศะ และสร้างความทรงจำที่ดีในช่วงเวลาที่แสนพิเศษนี้ ดังนั้น วันนี้เราจะพาไปดู 10 ข้อควรระวังที่คนไทยอย่างเราต้องจำให้ขึ้นใจเมื่อต้องไปร่วมงานแต่งงานของคนญี่ปุ่นค่ะ!

1. ไม่สวมชุดที่สีฉูดฉาดหรือชุดสีขาว

งานแต่งงาน

ผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงชุดสีขาวที่เป็นสีเดียวกับชุดแต่งงานของเจ้าสาว นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าสีฉูดฉาดที่โดดเด่นกว่าเจ้าสาวด้วย ซึ่งรวมไปถึงชุดที่เปิดเผยผิวกายจนเกินไป เช่น ชุดที่โชว์หน้าอกหน้าใจ อย่างไรวันงานก็เป็นช่วงเวลาที่เจ้าสาวและเจ้าบ่าวต้องโดดเด่นที่สุด ดังนั้นควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย นอกจากนี้ ยังห้ามสวมเสื้อผ้าที่ไม่เป็นมงคลอย่างเช่น ชุดดำล้วนที่ดูเหมือนชุดไว้ทุกข์ กระเป๋าและรองเท้าที่ทำจากหนังสัตว์ที่ชวนให้นึกถึงการฆ่าสัตว์ และเสื้อผ้าลำลองที่สวมใส่ในชีวิตประจำวัน

2. ไม่ควรพาเด็กเล็กไปด้วย

งานแต่งงาน

การควบคุมเด็กเล็กให้อยู่เงียบ ๆ เป็นเวลานานเป็นเรื่องยาก ซึ่งอาจทำให้รบกวนแขกคนอื่นๆ และคู่บ่าวสาว ดังนั้น พยายามอย่านำเด็กเล็กไปร่วมงานด้วย แต่หากหมายเชิญระบุว่า “ให้พาบุตรหลานมาร่วมงานด้วย” ก็สามารถพาเด็กเล็กไปด้วยได้ แต่เราต้องขอให้เจ้าภาพจองที่นั่งใกล้กับทางเข้าเพื่อให้สามารถเข้าออกงานได้บ่อยโดยไม่รบกวนแขกในงาน

3. ห้ามมาสาย

งานแต่งงาน

ห้ามไปงานแต่งงานสายโดยเด็ดขาด ต้องเผื่อเวลาเดินทางและลงทะเบียนหน้างานให้มากพอเพื่อมาถึงสถานที่จัดงานก่อนเริ่มพิธี 15 นาที อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการมาถึงสถานที่จัดงานเร็วเกินไปด้วย หากมาถึงก่อนเวลามากกว่า 30 นาที ควรรอในรถ หรือเดินเล่นรอบ ๆ สถานที่จัดพิธีก่อน และในกรณีที่คิดว่าจะไปสาย ต้องติดต่อสถานที่จัดพิธีล่วงหน้า โดยหลีกเลี่ยงการติดต่อกับเจ้าสาวและเจ้าบ่าวโดยตรง!

เมื่อมาถึงสถานที่จัดพิธีแล้ว ก็ให้แจ้งเหตุผลแก่เจ้าหน้าที่ และให้พวกเขานำทางไปยังที่นั่งอย่างเงียบ ๆ ไม่ควรเปิดประตูหรือวิ่งเข้าไปในสถานที่จัดงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะจะเป็นการทำลายบรรยากาศพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ และหลังจากจบพิธีอย่าลืมที่จะแสดงความยินดีกับเจ้าบ่าวและเจ้าสาวและกล่าวขอโทษด้วยล่ะ!

4. ไม่วางสัมภาระ เช่น ถุง กระเป๋า ไว้บนโต๊ะ

งานแต่งงาน

อย่าวางสัมภาระ เช่น ถุง กระเป๋า ไว้บนโต๊ะ ให้วางไว้ด้านหลังตัวเรากับเก้าอี้ หรือแขวนไว้กับที่แขวนกระเป๋า ทั้งนี้ การนำถุงกระดาษหรือเสื้อโค้ตไปยังสถานที่จัดงานอาจทำให้ดูไม่สวยงาม ดังนั้นควรวางไว้ในห้องรับฝากของล่วงหน้า

5. ไม่เล่นโทรศัพท์

โทรศัพท์

หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างพิธีแต่งงาน ควรไปสนทนาตอนที่ได้นั่งโต๊ะแล้วแทน และในการสนทนากับผู้ร่วมโต๊ะคนอื่นให้พยักหน้าและแนะนำตัวเองสั้น ๆ อันจะทำให้เริ่มต้นการพูดคุยได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือต้องตั้งค่าโทรศัพท์มือถือให้เป็นโหมดเงียบล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ส่งเสียงดังระหว่างพิธี

6. ไม่พูดคุยระหว่างการกล่าวคำอวยพรบ่าวสาว

งานแต่งงาน

งดเว้นการพูดคุยกับคนรอบข้างเพื่อตั้งใจฟังคำอวยพรคู่บ่าวสาว ทั้งนี้ เราสามารถรับประทานอาหารระหว่างการกล่าวแสดงความยินดีหรือคำอวยพรได้ แต่ต้องหยุดรับประทานอาหารและปรบมือเมื่อการกล่าวนั้นจบลง

7. ไม่กล่าวอวยพรยาวเกินไป และ ไม่พูดถึงเรื่องที่ไม่ถูกกาลเทศะ

คำอวยพรควรมีความยาวประมาณ 2 ถึง 3 นาที หรือก็คือความยาวราว 2 หน้ากระดาษ สิ่งสำคัญคือต้องสรุปสิ่งที่ต้องการจะสื่อให้กระชับที่สุด นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเปิดเผยเรื่องราวของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวมากเกินไป เพราะนอกจากญาติของทั้งสองครอบครัวแล้ว ก็อาจมีคนจากบริษัทมาร่วมงานด้วย ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงคำพูดที่อาจสร้างความอับอายให้กับเจ้าบ่าวและเจ้าสาว

8. ไม่ใช้คำพูดที่ไม่เป็นมงคล

งานแต่งงาน

มีคำศัพท์ไม่มงคลบางคำที่ไม่ควรใช้ในงานแต่งงาน อย่างเช่น คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการเลิกราในชีวิตสมรส คำศัพท์ที่ทำให้นึกถึงความทุกข์ และการแต่งงานใหม่ เป็นต้น ดังนั้น ต้องระวังคำพูดให้ดีทั้งในตอนทักทาย หรือ ตอนแสดงความยินดีกับคู่บ่าวสาว

สำหรับคนที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นดังต่อไปนี้คือคำที่ไม่ควรพูดในงานแต่งงาน

去る(จากไป), 出る(ออกจาก), 終わる(สิ้นสุด), 切る(ตัด), 死ぬ(เสียชีวิต), 戻る(ย้อนคืน), 繰り返す(ทำวนไปวนมา), 浅い(จืดจาง), 飽きる(เบื่อ), 流れ(หลุดไหล), 重ね重ね(อย่างซ้ำไปซ้ำมา), かえすがえす(ซ้ำไปซ้ำมา), たびたび(บ่อยครั้ง)

9. ไม่ควรกลับเร็วเกินไป

งานแต่งงาน

ไม่ควรลุกออกจากที่นั่งทันทีเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณ และควรหลีกเลี่ยงการออกจากงานเร็วเกินไปด้วย ให้ลองสังเกตแขกคนอื่นก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเราลุกออกจากที่นั่งในเวลาที่เหมาะสม เพราะการกลับเร็วเกินไปจะทำให้ดูเหมือนว่าเรารอเวลานี้อยู่ ซึ่งเป็นการเสียมารยาท

10. ไม่ควรกลับไปโดยไม่ได้ทักทายเจ้าบ่าวเจ้าสาวก่อน

เมื่องานแต่งงานจบลง ต้องอย่าลืมขอบคุณเจ้าบ่าวและเจ้าสาวสำหรับคำเชิญและแสดงความยินดีกับทั้งคู่ด้วย ถึงจะต้องต่อคิวยาวมาก ก็ห้ามเดินกลับไปเลยโดยไม่ทักทาย

จบไปแล้วกับข้อควรระวังทั้ง 10 ข้อ หากระมัดระวังและปฏิบัติให้ได้ตามนี้ ก็จะเป็นการแสดงความเคารพต่อเจ้าบ่าวและเจ้าสาว รวมถึงแขกในงานด้วย ทำให้บรรยากาศในงานมีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นวันที่เต็มไปด้วยโมเม้นต์พิเศษสมกับการเฉลิมฉลองความรักของคู่บ่าวสาวนะคะ

สรุปเนื้อหาจาก: Kankonsosai

Saruko-chan

เล่าเรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับญี่ปุ่น นำเสนอเสน่ห์ของญี่ปุ่นให้ทุกคนได้เห็นในหลากหลายแง่มุม

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า