ฤดูร้อน

“ฤดูร้อน” ถือว่าเป็น 1 ใน 4 ฤดู ของญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป สิ่งต่าง ๆ ก็จะแปรเปลี่ยนตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในเรื่องของงานอีเวนต์ อาหาร ดอกไม้ พืชพรรณธรรมชาติรวมไปถึงสภาพอากาศ เป็นต้น แต่ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมี 4 ฤดู แต่ก็มีฤดูที่บ้านเรามีเหมือนกับเขาก็คือ “ฤดูร้อน” นั่นเองค่ะ (ในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยก็มีฤดูหนาวเหมือนญี่ปุ่นแต่เราจะเรียกว่าฤดูหนาวหรือฤดูร้อนน้อยดี? สำหรับผู้เขียนบ้านเราเหมือนจะเป็นฤดูร้อนน้อยมากกว่านะคะ) ว่าแต่พอพูดถึง “ฤดูร้อน” แล้วตามปกติคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เขามักจะนึกถึงอะไรกันนะ? วันนี้เราจะมาอธิบายให้ฟังกันโดยแบ่งออกได้เป็น 4 เรื่อง และแถมท้ายด้วยคำศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับฤดูร้อน ตามไปดูกันเลยจ้า!

1. งานอีเวนต์ในฤดูร้อน

1.1 งานเทศกาลฤดูร้อน

ฤดูร้อน

งานเทศกาลฤดูร้อนของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะจัดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยจะมีการจัดด้วยกันทั่วประเทศ แต่สีสันและรูปแบบของงานเทศกาลก็จะเเตกต่างกันไปตามภูมิภาคและท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ก็ยังมีรูปแบบในบางส่วนที่เหมือนกันอยู่ และเราก็ยังสามารถสนุกสนานไปกับมันได้เช่นเดิมค่ะ

สำหรับกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่นิยมทำกันในงานเทศกาลฤดูร้อน ได้แก่ การแต่งตัวใส่ชุดยูกาตะเดินเล่นในงานวัด การชมการแห่ศาลเจ้าโอมิโคชิ การทำกิจกรรมรำวงบงโอโดริ หรือการชมดูเทศกาลจุดพลุดอกไม้ไฟ เป็นต้น โดยสามารถพูดได้เลยว่า “กิจกรรมงานอีเวนต์หรือเทศกาลฤดูร้อนถือว่าเป็นตัวแทนสำคัญที่สุดเมื่อเราพูดถึงฤดูร้อน และฤดูร้อนก็ยังถือเป็นสื่อตัวแทนสำคัญของฤดูกาลทั้ง 4 ญี่ปุ่น ที่ใคร ๆ ก็ต่างนึกถึงหรือรู้จักกันเป็นอย่างดี”

1.2 งานเทศกาลจุดพลุดอกไม้ไฟ

ฤดูร้อน

งานเทศกาลจุดพลุดอกไม้ไฟส่วนใหญ่จะถูกจัดขึ้นบริเวณแม่น้ำ ทะเลสาบ ในทะเลใกล้อ่าวหรือชายฝั่ง (เนื่องจากปลอดภัยกว่าการจัดในเมืองซึ่งลูกไฟอาจจะเกิดปัญหาผิดพลาดตกลงยังอาคารบ้านเรือนเกิดได้) โดยงานเทศกาลนี้ก็มีตั้งแต่งานขนาดเล็ก ไปจนถึงงานมหกรรมขนาดใหญ่ที่เหล่าช่างทำพลุจะตั้งใจทำดอกไม้ไฟขึ้นมาเพื่อประชันฝีมือกัน ซึ่งเทศกาลจุดพลุดอกไม้ไฟส่วนใหญ่ก็มักจะถูกจัดขึ้นพร้อมกับงานเทศกาลฤดูร้อน โดยถือว่าเป็นหนึ่งในไฮไลต์เมื่อพูดถึงฤดูร้อนสำหรับคนญี่ปุ่นเลยค่ะ

งานเทศกาลจุดพลุดอกไม้ไฟนั้น นอกจากจะจุดเพื่อแสดงถึงการต้อนรับการกลับมาของบรรพบุรุษในช่วงเทศกาลโอบ้งแล้ว ยังเป็นถือเป็นการจุดไฟส่งวิญญาณบรรพบุรุษให้กลับหลังจากเสร็จสิ้นเทศกาลโอบ้งอีกด้วย โดยการจุดไฟส่งถือได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการปล่อยโคมไฟเพื่อรำลึกถึงดวงวิญญาณที่ล่วงลับอีกด้วยค่ะ

สำหรับงานเทศกาลจุดพลุดอกไม้ไฟที่ริมแม่น้ำสุมิดะ ก็ถูกจัดขึ้นด้วยจุดประสงค์เพื่ออธิษฐานอ้อนวอนให้โรคระบาดหมดไป รวมถึงเป็นพิธีเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับจากการเสียชีวิตของโรคระบาดและความอดอยากแร้นแค้นในสมัยอดีต นอกเหนือไปจากนี้ ก็ยังมีเทศกาลจุดพลุดอกไม้ไฟที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงดวงวิญญาณทหารผู้เสียชีวิตในสงคราม และแบบที่จัดเพื่อจุดประสงค์ในการฟื้นฟูสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัตทางธรรมชาติต่าง ๆ อีกไม่น้อยเลยค่ะ

1.3 การแข่งขันกีฬาเบสบอลโคชิเอ็ง

koshien

“การแข่งขันกีฬาเบสบอลชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่นของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ” (Senkoku Koutou Gakkou Yakkyu Senshuken Taikai = 全国高等学校野球選手権大会) หรือที่คนญี่ปุ่นนิยมเรียกกันอย่างสั้น ๆ ว่า “โคชิเอ็ง” คือ การแข่งขันกีฬาเบสบอลชิงแชมป์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศญี่ปุ่น ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่น หรือก็คือช่วงเดือนสิงหาคม ที่สนามกีฬาฮันชิงโคชิเอ็ง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองนิชิโนมิยะ จังหวัดเฮียวโงะ โดยเจ้าภาพผู้สนับสนุนในการจัดการแข่งขันก็ได้แก่หนังสือพิมพ์ Asahi และสมาพันธ์เบสบอลมัธยมปลายญี่ปุ่น

โคชิเอ็ง จะเริ่มการแข่งขันตั้งแต่ระดับหาตัวแทนจังหวัด ไปสู่การแข่งขันเพื่อหาทีมชนะเลิศระดับประเทศต่อไป และในการแข่งขันกีฬาเบสบอลนี้ยังมีอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่น่าสนใจและมักจะถูกพบเห็นได้บ่อยในการเชียร์คือ “การทำพัดถือเชียร์นักกีฬาหรือทีมที่ตัวเองชอบ” โดยผู้คนส่วนใหญ่มักจะนิยมทำพัดที่มีการใส่ชื่อทีมหรือโลโก้เข้าไป หรือไม่ก็ดีไซน์ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ออริจินัลค่ะ

สำหรับเหตุผลที่ทำไมต้องจัดโคชิเอ็งขึ้นในฤดูร้อนก็มีหลายเหตุผลด้วยกัน เช่น ตรงกับช่วงหยุดปิดเทอมโรงเรียนพอดี, การจัดการแข่งในฤดูร้อนช่วยลดความเสี่ยงอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นได้

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการแข่งขันกีฬาเบสบอลนี้จะไม่ใช่การแข่งขันระดับมืออาชีพ แต่ก็มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง จะเห็นได้ว่าพอถึงฤดูร้อนคนญี่ปุ่นก็จะพร้อมใจกันส่งกำลังใจเชียร์เด็ก ๆ มัธยมปลายทั้งจากที่บ้านและที่สนามแข่ง ทว่าอย่างที่รู้กันดีว่าในทุกการแข่งขันถ้ามีผู้ชนะก็ย่อมต้องมีผู้แพ้ แต่แม้ผลจะออกมาเป็นยังไงก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วหยาดเหงื่อและคราบน้ำตาของเด็ก ๆ เหล่านั้นจะเป็นดั่งความทรงจำฤดูร้อนที่สลักลึกลงไปในหัวใจของพวกเขาตลอดไปค่ะ!

*เกร็ดความรู้*

ในฤดูใบไม้ผลิที่สนามกีฬาฮันชิงโคชิเอ็งยังมีการจัดการแข่งขัน “เซ็มบัตสึ” ที่ย่อมาจาก “การแข่งขันกีฬาเบสบอลระดับมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทคัดเลือก” (Senbatsu Koutou Gakkou Yakkyu Taikai = 選抜高等学校野球大会)หรือที่เรียกกันว่า “โคชิเอ็งฤดูใบไม้ผลิ” อีกด้วย โดยเป็นการแข่งขันจากทีมที่ถูกรับคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาผลการแข่งขันของแต่ละจังหวัดที่จัดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง)

2. อาหารในฤดูร้อน

2.1 แตงโม

watermelon

แตงโม เจ้าผลไม้ทรงกลม ลวดลายเส้นสีดำบนพื้นสีเขียว เมื่อส่องดูด้านในแล้วจะพบกับเนื้อแตงโมสีแดงสวยสด ดูชุ่มฉ่ำชวนให้ลิ้มลอง แค่ตามลักษณะที่บรรยายมาก็คงไม่เเปลกเลยที่จะเป็นเสมือนหนึ่งในผลไม้ตัวแทนแห่งฤดูร้อนที่ใครต่อใครก็มักจะนึกถึงกันใช่ไหมคะ โดยเจ้าแตงโมนี้แต่เดิมเป็นผลไม้ที่ถูกนำเข้ามาจากประเทศจีนในสมัยเฮอัน (ปี ค.ศ. 794 – ปี ค.ศ. 1180) พอเข้าสู่สมัยเอโดะ (ปี ค.ศ. 1603 – ปี ค.ศ. 1868) ก็กลายเป็นผลไม้ที่พบได้แพร่หลายทั่วไป แตงโม ยังสามารถเขียนเป็นตัวคันจิได้ 2 แบบ ซึ่งอ่านเหมือนกันว่า “ซุยกะ” (Suika = スイカ) คือ “西瓜” กับ “水瓜” ค่ะ โดยที่ญี่ปุ่นหน้าของแตงโมคือช่วง เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งตรงกับฤดูร้อนพอดี

*เกร็ดความรู้*

แม้ในปัจจุบันแตงโมจะเขียนด้วยตัวคันจิ “西瓜” แต่ในสมัยอดีตจะเขียนด้วยตัวคันจิ “水瓜” ยิ่งไปกว่านั้นเเตงโมในสมัยก่อนไม่ได้มีรสชาติหวานเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงมักจะนิยมโรยน้ำตาลลงบนแตงโมเพื่อเป็นการเพิ่มความหวานซึ่งสวนทางกับในปัจจุบันที่คนญี่ปุ่นในบางภูมิภาคจะโรยเกลือลงบนแตงโมเพื่อให้เกลือช่วยดึงความหวานออกมา และนอกเหนือไปจากที่จะนำแตงโมมากินหรือนำไปทำเป็นขนมหวานแล้ว คนญี่ปุ่นยังนิยมนำแตงโมไปแช่น้ำในแม่น้ำหรือทะเลแล้วนำไปผ่าเล่น เป็นกิจกรรมตีแตงโมกันอย่างสนุกสนานในหน้าฤดูร้อนอีกด้วย!

2.2 โซเม็ง

soumen

“โซเม็ง” อาหารประจำโต๊ะอาหารในฤดูร้อนของคนญี่ปุ่น วิธีการทำก็แสนง่าย แค่นำไปต้มหรือลวกในน้ำร้อนก็สามารถนำไปรับประทานกินได้ทันที โดยฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่คนเรามักจะมีความรู้สึกไม่อยากอาหาร โซเม็งเย็นก็ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความนิยม อีกทั้งยังมักนำไปใช้ส่งเป็นของขวัญกลางปีที่เรียกกันว่า “โอะจูเก็น” (Ochugen = お中元) อีกด้วย

*เกร็ดความรู้*

โซเม็งยังเป็นอาหารที่จะนิยมรับประทานในงานเทศกาล “ทานาบาตะ” (Tanabata = 七夕) ซึ่งมีจัดขึ้นทุกปีในวันที่ 7 กรกฎาคม ด้วยเหตุผล 2 ข้อด้วยกัน ดังนี้

(1) ในสมัยยุคโบราณของจีนเด็กที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้สูงในวันที่ 7 กรกฎาคมจะกลายไปเป็นเทพเจ้าแห่งความโหดร้าย เพื่อไม่ให้เป็นเช่นนั้นก็จะมีการเซ่นไหว้ “ขนมสาคุเบอิ” (Sakubei = 索餅) หรือไม่ก็รับประทานขนมดังกล่าวซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคไข้สูงได้ โดยขนมสาคุเบอิ เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งสาลีผสมรวมกันกับแป้งข้าวเจ้า นำมาผูกคดเป็นรูปร่างทรงเกลียวเชือก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นแบบของโซเม็งในเวลาต่อมา

sakubei
ขนมสาคุเบอิรูปร่างทรงเกลียวเชือก

(2) จากตำนานความเชื่อในวันทานาบะตะเกี่ยวกับเจ้าหญิงโอริฮิเมะที่ทำหน้าที่ทอผ้า กับ “พิธีคิโคเด็น” (Kikouden = 乞巧奠) ที่เป็นพิธีที่มาจากประเทศจีนซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่ออธิษฐานขอพรต่อเทพเจ้าให้งานเกี่ยวกับการใช้เข็มประสบความสำเร็จ และ “ทานาบาตะสึเมะ” (Tanabatatsume = 棚機津女) หญิงสาวผู้มีหน้าที่ใช้เครื่องทอผ้าทำการทอผ้าเพื่อนำไปถวายแด่เทพเจ้า ทั้ง 3 สิ่งนี้ล้วนเกี่ยวข้องกันกับการอธิษฐานขอพรให้การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เข็มและการทอผ้าประสบความสำเร็จ คนญี่ปุ่นจึงรับประทานกินโซเม็งกันในวันนี้ เนื่องจากตัวเส้นโซเม็งเมื่อพิจารณามองดูแล้วจะพบว่ามีลักษณะคล้ายเส้นด้ายที่เอาไว้ใช้ทอผ้านั้นเองค่ะ

tanabata

2.3 น้ำแข็งใส

kakigori

น้ำแข็งใส ราดน้ำเชื่อมแสนหวาน ถือเป็น 1 ในอาหารที่ช่วยดับกระหายและช่วยให้ร่างกายเย็นลงได้ดีในฤดูร้อน โดยน้ำแข็งใสปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรกใน “หนังสือข้างหมอน” (Makura no Soshi = 枕草子) ซึ่งเป็นบทประพันธ์ร้อยแก้วของ เซ โชนากง (Sei Shonagon = 清少納言) นักประพันธ์หญิงในสมัยเฮอันซึ่งมีชื่อเสียงเหมือนกับ มุราซากิ ชิคิบุ (Murasaki Shikibu = 紫式部) โดยสมัยนั้นจะเรียกว่า “เคซึริฮิ” (Kezurihi = 削り氷) เวลารับประทานก็แค่นำน้ำหวานอามาสึระ ซึ่งเป็นน้ำหวานที่ได้จากการต้มยางไม้เลื้อย มีรสชาติหวานเหมือนน้ำผึ้ง มาเทราดลงบนน้ำแข็ง

อย่างไรก็ตาม ในสมัยอดีตคนที่จะสามารถรับประทานน้ำแข็งใสได้มีเพียงแค่เชื้อพระวงศ์หรือคนชั้นสูงเท่านั้น เนื่องจากว่าในสมัยก่อนไม่มีตู้เย็น จึงต้องเก็บน้ำแข็งที่ได้มาจากน้ำในฤดูหหนาวไว้ในถ้ำ เลยทำให้น้ำเเข็งใสถือเป็นของที่ไม่สามารถเอื้อมถึงได้ง่ายๆ นั่นเองค่ะ

3. กิจกรรมนันทนาการในฤดูร้อน

3.1 การเล่นดอกไม้ไฟ

hanabisenkou

ก่อนหน้านี้เราได้อธิบายเกี่ยวกับงานเทศกาลจุดพลุดอกไม้ไฟไปแล้ว ดังนั้นในส่วนนี้เราจะมาคุยเกี่ยวกับการเล่นดอกไม้ไฟกันค่ะ โดยการเล่นดอกไม้ถือว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยเมื่อถึงฤดูร้อน ซึ่งดอกไม้ไฟถือมือก็มีเสน่ห์น่าค้นหาไม่ต่างกับดอกไม้ไฟที่ถูกจุดขึ้นในงานเทศกาลจุดพลุดอกไม้ไฟเลย ทั้งราคาไม่แพง แถมใช้พื้นที่ไม่มากอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น แสงไฟจากปลายก้านดอกไม้ไฟที่ดับลงอย่างแผ่วเบายังสะท้อนถึงความพิถีพิถัน ความสงบและความเรียบง่ายตามแบบฉบับคนญี่ปุ่นได้ดีอีกด้วย

3.2 การว่ายน้ำที่ทะเลหรือสระว่ายน้ำ

pool

การว่ายน้ำที่ทะเลหรือสระว่ายน้ำ ถือว่าเป็นกิจกรรมนันทนาการที่นิยมทำกันในฤดูร้อน โดยสระว่ายน้ำตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือสถานที่ราชการก็มักจะเปิดให้บริการ สามารถลงไปว่ายน้ำหรือเล่นน้ำผ่อนคลายความร้อนได้ ในส่วนของช่วงเวลาในการเปิดให้ลงเล่นน้ำในทะเลหรือในสระว่าจะเป็นได้เมื่อไรนั้น ก็จะต่างกันไปทุกปี เนื่องจากองค์กรหรือหน่วยงานผู้ควบคุมดูแลจะเป็นผู้ตัดสินใจ โดยคำนึงจากอุณหภูมิน้ำหรือคุณภาพของน้ำในทะเลหรือสระ เป็นต้น

3.3 กิจกรรมแคมปิง

camp

ในปัจจุบันแม้กระแสของกิจกรรม แกลมปิ้ง (Glaming) หรือ โซโลแคมป์ จะกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ การตั้งแคมป์ ก็ยังถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงชอบมาทำร่วมกันในช่วงฤดูร้อนอยู่เช่นเดิม

ยิ่งหากไปตั้งแคมป์ที่บริเวณใกล้ใกล้แม่น้ำหรือทะเล มีหรือจะพลาดกิจกรรมการเล่นน้ำหรือตกปลาที่ถือได้ว่าเป็นของคู่กัน! หรือถ้าใครอยู่ใกล้ภูเขา ก็มักจะนิยมไปทำกิจกรรมเดินป่าหรือปีนเขา ยิ่งไปกว่านั้นการทำ BBQ การหุงข้าวด้วยหม้อต้มสนาม รวมไปถึงการกางเต็นท์นอนท่ามกลางธรรมชาติ ก็ถือว่าเป็นจุดที่มีเสน่ห์ดึงดูด น่าลองไปเปิดประสบการณ์ดูสักครั้ง!

*เกร็ดความรู้*

แกลมปิ้งหรือ Glamping เหมือนการตั้งแคมป์หรือ Clamping ที่รู้จักกันแต่จะถือว่าหรูหรากว่าเนื่องจากจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันมากกว่าการตั้งแคมป์ปกติทั่วไป โดยส่วนใหญ่แล้วภายในสถานที่พักจะมีเตียงนอน แอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า พร้อมห้องน้ำในตัว อ่างอาบน้ำ  บริการอาหารและความบันเทิงต่าง ๆ เป็นต้นอย่างครบครันอีกด้วย

4. ดอกไม้ประจำฤดูร้อน

4.1 ดอกฮิมาวาริหรือดอกทานตะวัน

himawari

ดอกฮิมาวาริหรือดอกทานตะวันมีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาเหนือ โดยช่วงพีคคือ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาคที่ปลูก โดยจากการที่เป็นดอกไม้ที่มักจะหันหน้าเข้าพระอาทิตย์เลยมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า “Sunflower” และในสมัยก่อนจะเขียนด้วยตัวคันจิและฮิรางานะ คือ “ฮิ” (Hi= 日) ที่แปลว่า “พระอาทิตย์” กับ “มาวาริ” (Mawari =  廻り) ที่แปลว่า “วนหรือหมุน” และนอกเหนือจากที่ดอกทานตะวันจะเป็นหนึ่งในตัวแทนดอกไม้ประจำฤดูร้อนแล้ว ยังเป็นดอกไม้ที่มีประโยชน์ในหลายด้าน เช่น นำไปสกัดทำเป็นน้ำมันสะกัดดอกทานตะวันที่ใช้สำหรับนวดหรือบำรุงเส้นผม ในส่วนของเมล็ดก็นำไปรับประทานได้อีกด้วย

4.2 ดอกอาสะกะโอะหรือดอกบานเช้า

asakao

ดอกอาสะกะโอะหรือดอกบานเช้า ถือว่าเป็นหนึ่งในดอกไม้ที่เด็กประถมญี่ปุ่นแทบทุกคนจะต้องเคยปลูกเลี้ยงกัน โดยดอกอาสะกะโอะมีถิ่นกำเนิดจากพื้นที่เขตกึ่งร้อน โดยช่วงพีคคือ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาคที่ปลูก โดยเป็นดอกไม้ที่จะบานในช่วงเช้า ซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรคันจิ 2 คำ คือ “อาสะ” (Asa = 朝) ที่แปลว่า “เช้า” กับคันจิคำว่า “กะโอะ” (Kao = 顔) ที่แปลว่า “หน้าหรือใบหน้า”

ดอกอาสะกะโอะ ยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 พันธุ์ด้วยกัน คือ “ดอกอาสะกะโอะญี่ปุ่น” และ “ดอกอาสะกะโอะฝรั่ง” โดยดอกอาสะกะโอะญี่ปุ่นจะบานระหว่างเวลาตี 3 ไปจนถึงประมาณช่วง 9 โมงเช้าก็จะเริ่มหุบดอกลง ส่วนดอกอาสะกะโอะฝรั่งจะตรงข้ามคือจะบานในช่วงเย็นของวันแทนค่ะ

4.3 ดอกอะจิไซหรือดอกไฮเดรนเยีย

ajisai

ดอกอะจิไซ (Ajisai = 紫陽花 ) หรือ ดอกไฮเดรนเยีย จัดว่าเป็นดอกไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากญี่ปุ่น โดยช่วงพีคคือระหว่างเดือนมิถุนายนถึงช่วงต้นเดือนกรกฎาคม โดยคำว่าอะจิไซ มาจากการเปลี่ยนเพี้ยนมาจากคำว่า “อะซึสาอิ” (Azusai = 集真藍) ซึ่งมีความหมายคือ “การร่วมตัวกันของดอกไม้เล็กๆ หรือสิ่งเล็กๆ สีกรมท่า”

สำหรับสีของดอกอะจิไซที่พบเห็นได้บ่อยนั้นจะมี 3 สีด้วยกัน ได้แก่ สีฟ้า สีม่วงและสีชมพู อีกทั้งสีเหล่านั้นก็ยังเปลี่ยนไปตามระดับความเป็นกรดของดิน โดยดินที่มีค่าความเป็นกรดสูงสีของดอกจะออกเป็นตระกูลสีฟ้า ส่วนดินที่มีค่าความเป็นกรดกลางหรือมีค่าความเป็นกรดต่ำสีของดอกจะออกเป็นสีตระกูลแดงหรือชมพู ในส่วนของดอกอะจิไซสีม่วง จะเกิดจากการนำดินที่มีค่าความเป็นกรดกลางหรือค่าความเป็นกรดต่ำ มาใส่ปลูกดอกอะจิไซสีฟ้าค่ะ

คำศัพท์น่ารู้ประจำฤดูร้อน

1. ทะเล

sea

“อุมิ” (Umi = 海) หรือ “ทะเล” ถือว่าเป็นคำศัพท์แรก ๆ ที่ผู้คนมักจะนึกถึงกันเมื่อพูดถึงฤดูร้อน เวลาที่อากาศมันร้อนใคร ๆ ก็คงอยากที่จะไปว่ายน้ำเล่นกันที่ทะเลใช่ไหมคะ? แม้ว่าทะเลจะเป็นที่ที่เราสามารถไปเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ผิวน้ำทะเลสีฟ้าครามที่ส่องแสงสะท้อนระยิบระยับชวนให้ผู้คนหลงใหลของทะเลในฤดูร้อน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนอยากจะไปเที่ยวทะเลกันในฤดูร้อนมากกว่าฤดูอื่น ๆ นอกเหนือไปจากนี้แล้วคำว่า “อุมิบิรากิ” (Umibiraki = 海開き) หรือ “การเปิดให้ลงเล่นน้ำในทะเลได้” ก็เป็นอีกหนึ่งคำศัพท์เกี่ยวกับทะเลที่ผู้คนมักจะนึกถึงกันค่ะ

2. ร้อนจัด

hot

“โมโช” (Mousho = 猛暑) หรือ “ร้อนจัด” เป็นคำศัพท์ที่มักจะพบเห็นได้บ่อย ๆ เวลาที่มีข่าวพยากรณ์อากาศ โดยสำนักงานกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้กำหนดไว้ว่าวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียสจะเรียกว่า “วันโมโช” (Moushobi) หรือ “วันที่อากาศร้อนจัด” แต่ก็ยังมีคำศัพท์อีกหนึ่งคำที่มีความหมายแทบไม่ต่างกันคือคำว่า “โคคุโช” (Kokusho = 酷暑) หรือ “อากาศร้อนจัด” โดยช่วงอากาศร้อนจัดของญี่ปุ่นตามปกติช่วงระหว่างปลายเดือนกรกฎาคมถึงช่วงกลางเดือนสิงหาคมของทุกปีค่ะ

3. เรื่องผีหรือเรื่องสยองขวัญ

obake

เมื่อถึงฤดูร้อนก็เชื่อได้เลยว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยชอบที่จะทำการ “ไคดัน” (Kaidan = 怪談) หรือ “การเล่าเรื่องผีหรือเรื่องสยองขวัญ” กัน  เหตุผลที่ทำไมผู้คนชอบทำเช่นนั้นก็เพราะว่าอยากที่จะรู้สึกเย็นในฤดูร้อนค่ะ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถึงฤดูร้อนงานเทศกาลโอบ้งซึ่งเป็นเทศกาลที่เชื่อกันว่าดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะกลับมายังโลกปัจจุบัน จึงทำให้การเล่าเรื่องผีหรือเรื่องสยองขวัญจึงนิยมทำกันค่ะ

summer

สรุปแล้วแม้ว่าฤดูร้อนของญี่ปุ่นจะเป็นช่วงที่อากาศร้อนมาก บางวันอากาศร้อนยิ่งกว่าประเทศไทยของเราเสียอีกที แต่ถ้าใครมีโอกาสได้มาเที่ยวหรือสัมผัสบรรยากาศและสีสันต่าง ๆ ของฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นก็เชื่อว่าคงติดใจกันอยู่พอสมควรค่ะ เพราะว่านอกจากจะมีทั้งงานเทศกาล กิจกรรมอีเวนต์ต่าง ๆ ให้ได้เข้าร่วมสนุกแล้ว อาหาร เสื้อผ้า ราคาตั๋วเครื่องบินจากประเทศไทยมาก็ถือว่าถูก มีราคาไม่แพงมากอยู่นะคะ ยังไงก็หวังว่าทุกคนคงมีโอกาสได้มาเที่ยวญี่ปุ่นในฤดูร้อนกันดู เชื่อได้ว่าจะได้ความทรงจำในฤดูร้อนที่ดีกลับไปค่ะ

สรุปเนื้อหาจาก : utiwaya.com
เรียบเรียงโดย : XROSSX

conomin

conomin คือกลุ่มนักเขียนใหม่ของ conomi ที่คอยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น เพื่อคนรักญี่ปุ่น จากปลายปากกาคนรักญี่ปุ่นด้วยกัน

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า