ฮอกไกโด ภูมิภาคที่มีแต่หิมะ ส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นที่เขาว่ากันว่าไม่ค่อยเหมือนญี่ปุ่นสักเท่าไร ภูมิภาคที่ฤดูหนาวยาวนานกว่าครึ่งปี วิถีชีวิตของคนพื้นที่จึงค่อนข้างแตกต่างจากภูมิภาคอื่น
ผู้เขียนเองก็เคยมีประสบการณ์ผ่านความหนาวเยือกที่ฮอกไกโดมาเหมือนกัน จึงอยากแชร์เรื่องราวที่ตัวเองก็ได้พบเจอมาค่ะ ไปดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ชาวภูมิภาคอื่นอาจจะไม่เข้าใจ แต่ชาวพื้นที่จะต้องพยักหน้าแรง ๆ ว่านี่แหละวิถีชาวเราค่ะ!
1. ที่บอกว่าหิมะทับถมกันน่ะ ไม่ได้ครึ่งของเราเลยสักนิด!
เวลาที่แถวโตเกียวหิมะทับถมสักประมาณ 2-3 ซม. รายการทีวีต่าง ๆ ก็มักจะออกข่าวแล้ว แต่สำหรับชาวฮอกไกโดแล้ว บอกเลยว่า “นั่นไม่เรียกว่าหิมะทับถมเลยสักนิด” เหมือนกันกับที่คนคันโตหรือคนคันไซพูดว่า “วันนี้หนาวจัง” คนที่นี่ก็จะไม่อินด้วยเลยเช่นกันค่ะ
เหตุผลก็คือ พื้นที่ส่วนใหญ่ (ยกเว้นบางพื้นที่ทางตอนใต้) เป็นภูมิอากาศแบบกึ่งอาร์กติก ในอดีตมีบันทึกว่าอากาศติดลบถึง 40 องศาอยู่นับครั้งไม่ถ้วน อย่างในปี 2018 ก็มีบันทึกว่าที่เมืองยูบาริ หิมะทับถมถึง 101 ซม.ในเวลา 48 ชม. หรือพูดอีกอย่างก็คือหิมะทับถมเกิน 1 เมตรใน 2 วันเท่านั้น เมื่อเทียบกับโตเกียวหรือภูมิภาคอื่นแล้วต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยใช่ไหมคะ
2. เสียงรถกวาดหิมะดังจนนอนไม่หลับ!
นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ภูมิภาคอื่นไม่เข้าใจค่ะ สืบเนื่องจากข้อข้างต้น เนื่องจากมีปริมาณหิมะเยอะ ก็ต้องมีรถกวาดหิมะช่วยจัดการให้คนสามารถใช้ถนนกันได้สะดวก เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความวุ่นวายในตอนเช้าซึ่งเป็นเวลาที่คนไปทำงาน รถกวาดหิมะจึงต้องทำหน้าที่ตั้งแต่ตอนกลางคืนจนถึงช่วงเช้าตรู่
จริง ๆ ก็มีเสียงร้องเรียนจากผู้อาศัยไม่น้อยค่ะ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ในหน้าหนาว แต่เมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิปัญหานี้ก็จะหมดไปค่ะ เพียงแต่ว่าที่นี่หิมะจะตกนานหน่อยเท่านั้นเอง..
3.ใช้กระดานเลื่อนหิมะแทนรถเข็นเด็ก
ด้วยความที่เป็นสังคมที่ใช้รถเสียส่วนใหญ่ ยิ่งช่วงหน้าหนาวส่วนใหญ่จะใช้รถส่วนตัว ช่วงที่หิมะไม่ตก บรรดาคุณแม่ ๆ จึงมักจะใช้กระดานเลื่อนหิมะพาเด็ก ๆ เล่นแทนรถเข็นเด็กค่ะ สำหรับภูมิภาคอื่นอาจจะเป็นภาพที่แปลกตาสักหน่อย แต่สำหรับคนที่นี่แล้วจะเป็นภาพที่ชินตาเลยล่ะค่ะ
4. กับข้าวที่เหลือก็วางทิ้งไว้ ไม่ต้องเข้าตู้เย็น
ช่วงฤดูหนาวที่หนาวสุดขั้ว อุณหภูมิจะไม่ต่างอะไรกับตู้เย็นเลยค่ะ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีของเหลือก็จะวางทิ้งไว้บริเวณทางเข้าบ้านหรือที่เรียกว่า เก็งคัง (玄関) ได้เลย ไม่ต้องเข้าตู้เย็นแต่อย่างใด
5. ใช้ถั่วลิสงแทนถั่วเหลืองในเทศกาลเซ็ตสึบุน (เทศกาลปาถั่ว)
เมื่อเข้าเดือนกุมภาพันธ์ ที่ญี่ปุ่นจะมีการจัด เทศกาลเซ็ตสึบุน (เทศกาลปาถั่ว) ทั่วประเทศ ที่นี่ก็มีเทศกาลนี้เหมือนภูมิภาคอื่น ๆ ค่ะ แต่ที่ต่างก็คือ จะใช้ถั่วลิสงแทนถั่วเหลืองที่ใช้กันทั่วไป
ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเปลี่ยนตั้งแต่เมื่อไร แต่ดูเหมือนเหตุผลที่เปลี่ยนจะมีหลักการง่าย ๆ ก็คือ เพราะมันเก็บง่ายกว่านั่นเองค่ะ ก็จริงอยู่นะคะหิมะเยอะขนาดนี้ ถ้าเป็นถั่วเหลืองก็คงจะเก็บยากน่าดู
6. ฤดูหนาวก็ยังใส่เสื้อแขนสั้น กินไอศกรีม!
บ้านส่วนใหญ่ของที่นี่ถึงข้างนอกจะหนาวแต่ภายในบ้านอุ่นค่ะ ส่วนใหญ่จะมีฮีทเตอร์ช่วยทำความร้อน ตึกส่วนใหญ่ค่อนข้างที่จะมีระบบทำความร้อนที่ดี เพราะฉะนั้นถึงแม้ข้างนอกจะอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง แต่ในบ้านอุณหภูมิ 22-23 องศา ใส่เสื้อแขนสั้น กินไอศกรีมได้ชิล ๆ เลยค่ะ
ตอนที่ผู้เขียนอยู่ที่ฮอกไกโด เวลาออกข้างนอกก็ใส่เสื้อหนา ๆ หน่อย เข้าตึกเรียนเสร็จ ก็ถอดเสื้อนอกสบาย ๆ เลย ไม่จำเป็นต้องใส่ฮีทเทคข้างในด้วยค่ะ กลับกันถ้าใส่ฮีทเทค เวลาเข้าตึกหรือเข้าห้างจะร้อนแทน
7. ชมซากุระเดือนพฤษภาคม?!
ส่วนใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้นมักจะเป็นเรื่องราวในหน้าหนาว ข้อสุดท้ายจึงขอพูดถึงความแตกต่างในหน้าใบไม้ผลิบ้างค่ะ การชมซากุระที่นี่จะล่าช้ากว่าที่อื่น ถ้าเทียบกับที่โตเกียวก็ช้ากว่าประมาณ 1 เดือน โดยซากุระจะบานช่วงปลายเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคมค่ะ
ภูมิภาคที่ซากุระบานเร็วอย่างโอกินาว่าก็เริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนมกราคมทีเดียวค่ะ ส่วนภูมิภาคอื่น ๆ ก็ขยับตาม ๆ กันมา เมื่อเทียบเหนือสุดกับใต้สุดแล้วก็ห่างกันนานทีเดียว
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ผู้ที่ไปท่องเที่ยวระยะสั้น ๆ อาจจะไม่สังเกตเห็นความแตกต่างสักเท่าไร แต่สำหรับคนที่เคยไปอยู่แล้ว เห็นเลยว่ามีความต่างจากภูมิภาคอื่นมากมายทั้งที่เป็นประเทศเดียวกัน สำหรับคนที่ชื่นชอบความหนาวและหิมะขาว ๆ แล้ว รับรองว่าต้องชอบแน่นอนค่ะ!
สรุปเนื้อหาจาก traveroom