เมื่อฤดูร้อนใกล้สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นจะเข้าสู่ “เทศกาลชมจันทร์” หรือ “โอสึกิมิ” (Otsukimi : お月見) ซึ่งจัดขึ้นใน “วันจูโกะยะ” (Juugoya : 十五夜) หมายถึง คืนวันที่สิบห้าค่ำเดือนแปดตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งไม่ตรงกับปฏิทินสากลที่เราใช้กันในปัจจุบัน กิจกรรมหลักในวันดังกล่าวคือการชมจันทร์ แม้ว่าเราจะสามารถเห็นพระจันทร์ได้ตลอดทั้งปี แต่การชมจันทร์ในวันนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ ในบทความนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับวัฒนธรรมการชมจันทร์ของคนญี่ปุ่นในคืนวันที่สิบห้าคำ่เดือนแปดกันค่ะ!
ต้นกำเนิดวัฒนธรรมชมจันทร์ของคนญี่ปุ่น
เทศกาลชมจันทร์ของชาวญี่ปุ่นมีรากฐานจากการเคารพนับถือพระจันทร์มาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีบันทึกว่าคนญี่ปุ่นเริ่มชมจันทร์กันมาตั้งแต่ยุคโจมง (ประมาณ 14,000 ถึง 300 ปีก่อนคริสตกาล) แนวคิดเทศกาลนี้ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนก่อนสมัยเฮอัน (ค.ศ. 859-877) และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ขุนนางในสมัยเฮอัน
ในยุคนั้น การชมจันทร์ถือเป็นกิจกรรมหรูหราสำหรับคนชนชั้นสูง ที่มักจะสนุกสนานไปกับการดื่มสุรา ขับบทกลอน และฟังดนตรีขณะล่องเรือ ความแตกต่างจากปัจจุบันคือ คนในสมัยก่อนไม่ได้มองขึ้นฟ้าเพื่อชมพระจันทร์ แต่จะมองจันทร์ที่สะท้อนอยู่ในน้ำหรือในถ้วยสุราแทน
ต่อมาในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) การชมจันทร์ได้รับความนิยมแพร่หลายไปยังประชาชนทั่วไป เทศกาลชมจันทร์ตรงกับช่วงเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้กลายเป็นวันเฉลิมฉลองและขอบคุณสำหรับผลผลิตในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งสืบทอดจนถึงทุกวันนี้ (ญี่ปุ่นยังมีคำบอกรักอ้อมโลกที่ใช้การชมดวงจันทร์มาช่วยเปรียบเปรยอีกด้วย ใครอยากรู้ตามไปอ่านต่อได้ที่บทความนี้เลยนะคะ)
สำหรับเทศกาลชมจันทร์ในปี 2024 จะตรงกับวันอังคารที่ 17 กันยายน แม้ว่าจะมีชื่อว่าเทศกาลชมจันทร์ หลายคนอาจคิดว่าต้องเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง แต่จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่เสมอไป เพราะการที่พระจันทร์จะเต็มดวงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งสัมพัทธ์ของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ทำให้ในบางปี ญี่ปุ่นอาจมองไม่เห็นพระจันทร์เต็มดวงในคืนเทศกาลชมจันทร์ แต่ก็ถือเป็นคืนที่พระจันทร์สวยงามที่สุดในรอบปี
กิจกรรมในวันชมจันทร์ของคนญี่ปุ่น
มาดูกันว่าคนญี่ปุ่นนิยมทำกิจกรรมอะไรบ้างในวันเทศกาลชมจันทร์!
1. ตกแต่งด้วยหญ้าสุสุกิ
ในวันเทศกาลชมจันทร์ คนญี่ปุ่นมักนำหญ้าสุสุกิหรือหญ้ามิสแคนทัสมาจัดใส่แจกันหรือจอกไม้สี่เหลี่ยมสำหรับใส่สาเก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการอัญเชิญเทพแห่งดวงจันทร์ ในอดีตเคยใช้รวงข้าว แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้หญ้าสุสุกิแทน เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกัน หญ้าสุสุกิมีขอบแหลม เชื่อว่าช่วยปัดเป่าโชคร้ายและวิญญาณชั่วร้าย โดยจำนวนที่ใช้มักเป็นเลขคี่ เช่น 1, 3 หรือ 5 ต้น
2. กินสึกิมิดังโงะ
เมื่อพูดถึงเทศกาลชมจันทร์ ต้องมีการกินสึกิมิดังโงะ! ขนมดังกล่าวทำจากแป้งข้าวเจ้าและน้ำตาล ปั้นเป็นก้อนกลม ชวนให้นึกถึงพระจันทร์เต็มดวง เชื่อว่ากินแล้วจะนำโชคดีมาให้
3. ถวายเครื่องบูชา
ในคืนจูโกะยะหรือคืนคืนวันที่สิบห้าค่ำเดือนแปด มีอีกชื่อว่า “อิโมะเมเกตสึ” (Imomeigetsu : 芋名月) คำว่า “อิโมะ” หมายถึงเผือกหรือมัน มีที่มาจากการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว โดยจะนำเผือกที่ขุดขึ้นไปถวายในจุดที่แสงจันทร์ส่องถึง นอกจากเผือกแล้วยังมีการถวายผักและผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มันเทศ เพื่อขอบคุณสำหรับการเก็บเกี่ยว
ตำนานกระต่ายกับพระจันทร์
เมื่อพูดถึงพระจันทร์ หลายคนมักนึกถึงกระต่าย โดยเฉพาะในตำนานที่เกี่ยวกับกระต่ายบนพระจันทร์ ซึ่งมีหลายเวอร์ชัน ในที่นี้จะขอเล่าเรื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีกระต่าย สุนัขจิ้งจอก และลิงอาศัยอยู่ด้วย วันหนึ่งพวกมันพบชายชราคนหนึ่งที่เหนื่อยล้าและหิวโหย พวกมันจึงออกไปหาอาหารให้ชายชรา เจ้าลิงนำลูกไม้มาให้ ส่วนเจ้าสุนัขจิ้งจอกนำปลามาให้ แต่เจ้ากระต่ายไม่สามารถหาอาหารมาให้ชายชราได้ จึงตัดสินใจที่จะกระโดดเข้ากองไฟเพื่อช่วยชายชรา ชายชราผู้มีชื่อว่า ไทชะคุเทน คือเทพผู้ปกครองสวรรค์ที่ต้องการทดสอบความเสียสละของสัตว์ทั้งสาม เทพเห็นความเสียสละของกระต่ายจึงชุบชีวิตมันให้ไปเกิดใหม่บนดวงจันทร์”
นอกจากนี้ยังมีตำนานกระต่ายตำโมจิบนดวงจันทร์ ซึ่งมาจากตำนานจีนโบราณที่เล่าว่ากระต่ายบนพระจันทร์ใช้สากและครกในการทำโมจิ สาเหตุที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนจากยาเป็นโมจิ มีหลายเวอร์ชัน เช่น กระต่ายตำโมจิเพื่อถวายไทชะคุเทน หรือเพราะโมจิมีลักษณะคล้ายพระจันทร์เต็มดวง แต่ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นไหน ถ้าพิจารณาลึกลงไปจะเห็นว่าเทศกาลชมจันทร์มีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวเอเชียและเป็นส่วนประกอบหลักของโมจิ
คืนวันที่สิบห้าค่ำเดือนแปดถือเป็นวันที่พระจันทร์สวยที่สุด และยังเป็นวันหยุดในญี่ปุ่นอีกด้วย เป็นโอกาสที่ดีในการหยุดพักจากความเร่งรีบในชีวิตประจำวันและชื่นชมความงามของธรรมชาติ ลองมองดูดี ๆ นะคะ อาจจะเจอกระต่ายกำลังตำโมจิอยู่ก็ได้ค่ะ!
สรุปเนื้อหาจาก: oggi.jp , allabout.co.jp