Innovative Application

หลังจากได้รับเสียงตอบรับที่ดีเมื่อปีที่แล้ว ในปีนี้ “Hackathon: Innovative Application For Smart Life” ก็กลับมาเปิดเวทีให้นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Nichi Institute of Technology) ได้โชว์ไอเดียอีกครั้ง โดยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจบลงด้วยดีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา

กิจกรรม “Hackathon: Innovative Application For Smart Life” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น ณ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และสนับสนุนโดยบริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำจากญี่ปุ่น ร่วมด้วยบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรกดเงินสด A-Money ในประเทศไทย

Hackathon Innovative Application 2024 -ภาพถ่ายที่ระลึกพิธีเปิด
ผู้แทนคณาจารย์สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ร่วมกับผู้แทนบริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ร่วมถ่ายรูปที่ระลึก

กิจกรรมมีจุดประสงค์เพื่อให้นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากทุกชั้นปีและคณะ ได้มาร่วมกันใช้ชุดความรู้และไอเดียสร้างสรรค์ในการเสนอคำตอบให้กับโจทย์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงในสังคม และโจทย์ในปีนี้ก็คือ “AI Application for Smart Health” เพื่อการสร้างสุขภาพชีวิตที่ดีแบบ SMART นั่นเอง

พิธีเปิดงาน “Hackathon: Innovative Application For Smart Life” ประจำปี 2024

Hackathon Innovative Application 2024 - โซนต้อนรับพิธีเปิด
มาสคอตของบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) พร้อมรอต้อนรับนักศึกษาที่สนใจเข้าสู่พิธีเปิด

“Hackathon: Innovative Application For Smart Life” ประจำปี 2024 เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 กรกฎาคม 2024 ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 6 อาคาร E สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

Hackathon Innovative Application 2024 - รศ. รังสรรค์ เลิศในสัตย์ อธิการบดี
รศ. รังสรรค์ เลิศในสัตย์ อธิการบดี ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน

ภายในงาน รศ. รังสรรค์ เลิศในสัตย์ อธิการบดี ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “…ปีที่แล้วมีนักศึกษาของเราที่ได้ทำผลงานที่ดีที่เป็นที่น่าภาคภูมิใจ…ปีนี้ก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง และเราหวังว่าจะมีนักศึกษาเข้ามาร่วมงานกัน ซึ่งวันนี้ก็เห็นมากันเต็มห้องเลย ขอให้ใช้ความสามารถ ใช้ฝีมือ ใช้ความตั้งใจที่จะช่วยกัน แข่งขันกันเพื่อให้ได้ผลงานที่เป็นที่น่าพอใจและประทับใจของทุกฝ่าย…”

Hackathon Innovative Application 2024 - ไอร่า แอนด์ ไอฟุล
ช่วงการบรรยายแนะนำบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) โดยตัวแทน คุณชนิดา บุญไทย

ลำดับถัดมา ผศ. ดร. คณากาญจน์ รักไพฑูรย์ ผู้ดำเนินรายการได้เรียนเชิญ คุณชนิดา บุญไทยเป็นผู้แทนบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ขึ้นกล่าวแนะนำบริษัทก่อนจะส่งต่อให้อาจารย์สาเรศ วันโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ขึ้นแนะนำรายละเอียดของกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจได้ทำความเข้าใจกิจกรรมก่อนจะรวบรวมทีมเพื่อสมัครเข้าแข่งขันต่อไป

Hackathon Innovative Application 2024 - ช่วงบรรยายกติกาและรายละเอียด
อาจารย์สาเรศ วันโสภาบรรยายรายละเอียดกิจกรรมการแข่งขัน

Workshop พิเศษเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารอบชิงชนะเลิศ

หลังจากการประกาศทีมผู้ผ่านเข้ารอบ 10 ทีมในเดือนสิงหาคมไปเป็นที่เรียบร้อย ในเดือนกันยายนก็เข้าสู่ช่วงการเตรียมตัวสำหรับรอบชิงชนะเลิศ

โดยทางสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นได้จัดกิจกรรม Workshop ฟรีเพื่อเสริมความพร้อมให้กับทีมผู้ผ่านเข้ารอบรวมทั้งหมด 3 รอบ 3 หัวข้อด้วยกัน ได้แก่ “การพัฒนา Mobile Application ด้วย Low-code Technology” โดยอาจารย์พรรษชล แสงอรุณ, “เทคนิคการจัดการข้อมูล Data Collection Techniques” โดยอาจารย์กานดา ทิวัฑฒานนท์ และ “Basic AI (API: Application Programming Interfaces)” โดยอาจารย์ ดร.ศรายุทธ นนท์ศิริ

บรรยากาศในกิจกรรม Workshop

ความพิเศษคือ Workshop นี้ยังเปิดให้นักศึกษาที่ไม่ได้เข้าแข่งขันสามารถลงทะเบียนเพื่อฟังการบรรยายได้เช่นกัน นับเป็นอีกส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่นักศึกษาให้ความสนใจอย่างล้นหลาม

การประชันไอเดียใน Final Pitching รอบชิงชนะเลิศ

Hackathon Innovative Application 2024 - Final Pitching

หลังจากผ่านการคัดเลือกและการอบรมมาอย่างเข้มข้น และแล้วก็มาถึงวันสำคัญที่สุดของการแข่งขันในครั้งนี้ นั่นก็คือ วัน Final Pitching รอบชิงชนะเลิศ ที่เรียกได้ว่าปีนี้ยกระดับทั้งในด้านของไอเดียสร้างสรรค์และการต่อยอดแบบก้าวกระโดดไปอีกขั้น!

ผลงานของผู้เข้าชิงชนะเลิศทั้ง 10 ทีมในปีนี้นั้น เต็มไปด้วยความหลากหลาย ครอบคลุมในเรื่องการแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกทางด้านสุขภาพ ตามโจทย์  “AI Application for Smart Health” เช่น แอปพลิเคชันช่วยวางแผนสุขภาพและนัดพบแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน แอปพลิเคชันช่วยวิเคราะห์กล้ามเนื้อและเสนอแผนกายภาพบำบัด ไปจนถึงแอปพลิเคชัน

นที่แตะประเด็นในระดับสังคม ทั้งช่วยดูแลผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพังเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุในวันข้างหน้า หรือช่วยแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันและอาจนำมาสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพจิตได้

Hackathon Innovative Application 2024 - Final Pitching
บรรยากาศช่วง Presentation

Hackathon Innovative Application 2024 - Final Pitching

ในส่วนของการตัดสินนั้น ก็ได้รับเกียรติจากทีมงานไอร่า แอนด์ ไอฟุล 2 ท่าน ได้แก่ คุณวุฒิชัย สถิรแพทย์ รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และคุณสมพร บุญเกิด รองประธานฝ่ายวางแผนและกลยุทธ์การตลาด ร่วมด้วยคณาจารย์สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น 4 ท่าน ได้แก่ อาจารย์พงศ์ศรัณย์ วงศ์ชนเดช (คณะบริหารธุรกิจ) ดร.ศรายุทธ นนท์ศิริ (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ) ดร.พิกุล เวชชานุเคราะห์  (วิทยาลัยนานาชาติ) และ ดร.ชัชไชย วรรณบูณ์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์) รวมเป็นกรรมการทั้งหมด 6 ท่านที่ร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานและประเมินให้ความเห็นต่อผลงานของแต่ละทีม

Hackathon Innovative Application 2024 - กรรมการ

หลังจากการนำเสนอของทั้ง 10 ทีมผ่านไป ก็ถึงเวลาประกาศผล สำหรับผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ทีมผู้ชนะเลิศ (เงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท) ได้แก่ทีม ScamStop ผู้นำเสนอแอปพลิเคชัน ScamStop ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถคัดกรองแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้โดยมีการนำ AI มาช่วยตรวจจับรูปแบบแพทเทิร์นการพูดแล้วนำมาคาดการณ์บริบทและจำแนกว่าผู้ที่คุยด้วยเป็นมิจฉาชีพหรือไม่

Hackathon Innovative Application 2024 - ทีมชนะเลิศ
ทีมชนะเลิศ “ScamStop”

Hackathon Innovative Application 2024 - ทีมชนะเลิศ

ทีม ScamStop กล่าวว่า “ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้เข้าแข่งในงานนี้ รู้สึกว่าสนุกและได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เยอะ จุดที่เรารู้สึกว่าท้าทายที่สุดคือตัวโมเดล A.I. ที่เราทำซึ่งมันต้องใช้ Data Set จำนวนมาก และตอนแรกเราก็ไม่แน่ใจว่าโมเดลของเรามันจะเสร็จทันไหม แต่สุดท้ายมันก็ทัน โดยสรุปก็เป็นเรื่องของข้อมูลที่เราต้องไปหาเพื่อให้ทันการแข่ง ในด้านการเตรียมตัวพรีเซนต์ เราใช้เวลา 2 วันคือเมื่อวาน กับวันนี้ (ฮา) ถ้ามีโอกาสในปีหน้าก็อยากเข้าแข่งอีกเพราะรู้สึกว่าเราได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก และเชื่อว่าปีหน้าก็คงได้เรียนรู้อะไรเพิ่มอีก สำหรับคนที่จะแข่งในปีหน้า อยากฝากว่าให้พยายามตั้งเป้าหมาย และบอกเพื่อน ๆ ให้มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน และเราจะไปถึงจุดมุ่งหมายนั้นให้ได้”

Hackathon Innovative Application 2024 - ทีมรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง
ทีมรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง “YOLO”

และสำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ ทีม YOLO (เงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท) กับผลงานแอปพลิเคชัน ISIS แอปพลิเคชันที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหากรณีที่ไม่มีคนดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังหรือผู้ดูแลไม่สามาถจับตาดูแลผู้สูงอายุได้ตลอดเวลา ด้วยฟังก์ชันสุดสร้างสรรค์ทั้งเซนเซอร์ตรวจจับ ระบบแจ้งเตือน นัดจอง และประเมิณความเสี่ยงรายวันส่งตรงให้แก่ผู้ดูแลได้ทันที ทำให้ลูกหลานสามารถอุ่นใจได้แม้ไม่ได้อยู่กับผู้สูงอายุที่บ้าน

Hackathon Innovative Application 2024 - ทีมรองชนะเลิศอันดับสอง
ทีมรองชนะเลิศอันดับสอง “TheraphySpace”

และสำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองได้แก่ทีมที่เล็งเห็นถึงปัญหาของอาการออฟฟิศซินโดรมและการบาดเจ็บทางร่างกายจากการเล่นกีฬา อย่างทีม TheraphySpace (เงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท) ซึ่งมาพร้อมผลงานแอปพลิเคชัน TheraphySpace ที่จะช่วยเหลือผู้ใช้ให้สามารถประเมิณ วิเคราะห์ความเสี่ยงอาการเจ็บเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงยังมีการเสนอแผนกายภาพบำบัดในรูปแบบของตัวการ์ตูนวิดีโอที่น่ารักและเข้าใจง่ายให้แก่ผู้ใช้งานอีกด้วย

สำหรับ 7 ทีมที่เหลือนั้นต่างได้รับรางวัลชมเชยมูลค่า 5,000 บาทสำหรับผลงานไอเดียของตนที่ผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ

Hackathon Innovative Application 2024 - ช่วงปิดงาน
คุณวุฒิชัย สถิรแพทย์ ตัวแทนบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล ขึ้นกล่าวปิดงาน

ภายหลังการมอบรางวัล คุณวุฒิชัย สถิรแพทย์ กรรมการการแข่งขันและตัวแทนบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล ยังให้เกียรติขึ้นเป็นผู้กล่าวปิดงาน โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “ส่วนตัวแล้วรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่เห็นน้อง ๆ ได้ผลิตผลงานออกมาและนำเสนอให้เราดู …ประสบการณ์ผมเองเคยทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ต่างประเทศ การยอมรับที่ธุรกิจต่างชาติมีต่อโปรแกรมเมอร์คนไทยเราถือว่าค่อนข้างดี ดีกว่าหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย …อย่างที่เราได้ข่าวกันเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมานี้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Amazon และ Microsoft จะมาลงทุนทำ Data Center ระบบคลาวด์ของพวกเขาในเมืองไทย ผมจึงมองว่าตลาดงานไอทีในเมืองไทยยังคงเปิดกว้างและมีอนาคตที่สดใส เพราะฉะนั้นขอให้น้อง ๆ พัฒนาตนเองต่อไปในด้านไอทีและศึกษาหลาย ๆ ด้าน วันนี้เป็นเกียรติมาก ๆ ที่ได้มายืนตรงนี้และได้มาพูดกับน้อง ๆ ขอให้ทุกคนโชคดีในสาขาอาชีพนะครับ”

Hackathon Innovative Application 2024

เกี่ยวกับบริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น

บริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำของญี่ปุ่น โดยมีสำนักงานใหญ่ในจังหวัดเกียวโต และมี 23 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันดำเนินกิจการโดยมุ่งเติบโตในฐานะ “IT-based financial group” ที่นำความรู้ด้าน IT มาประยุกต์ใช้พัฒนาบริการสินเชื่อและการเงินต่างๆ ของบริษัทให้มีประสิทธิภาพและสนับสนุนลูกค้าผู้ใช้บริการได้ต่อไป

บริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น
ที่อยู่ (สำนักงานใหญ่)381-1 Takasago-cho, Gojo-Agaru, Karasuma-Dori, Shimogyo-ku, Kyoto 600-8420, Japan.
เว็บไซต์ir-aiful.com

เกี่ยวกับบริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)

บริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) เกิดจากการร่วมทุระหว่างบริษัทไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น และเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านสินเชื่อส่วนบุคคล เช่นบัตรกดเงินสด A-Money

บริษัทไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)
ที่อยู่เลขที่ 90 อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ ชั้น 33,34 ห้องเลขที่ บี 3301-2, บี 3401-2
ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
เว็บไซต์aira-aiful.co.th
ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า