ญี่ปุ่นยังคงเผชิญปัญหาการขาดแคลนข้าวอย่างต่อเนื่อง แม้ในเดือนกันยายนจะเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวของญี่ปุ่นก็ตาม แต่ข้าวสารในคลังสินค้าของซูเปอร์มาร์เกตหลายแห่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เพราะอะไร ‘ข้าวใหม่’ ถึงยังขาดตลาด? วันนี้เราจะไปเพื่อน ๆ ไปหาคำตอบกัน!
กว่าจะมาเป็นข้าวสารบรรจุถุง เรียงรายตามซูเปอร์มาร์เกตอย่างที่เราเห็นกันนี้ ต้องใช้เวลาและผ่านกระบวนการมากมาย โดยที่ประเทศญี่ปุ่น หลังจากชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะต้องนำข้าวใหม่ไปผ่าน ‘เครื่องอบ’ เพื่อลดความชื้นข้าวเปลือก หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โมมิ (籾) ซึ่งจะทำให้ข้าวสารสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน โดยต้องใช้เวลาอบข้าวนานถึงครึ่งวันเลยทีเดียว
ข้าวเปลือกที่แห้งแล้ว จะถูกส่งไปยัง ‘เครื่องกะเทาะเปลือก’ เพื่อแยกแกลบออกจากเมล็ดข้าว ทำให้ได้ข้าวกล้อง ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เก็นไม (玄米) ก่อนส่งไปยังขันตอนที่สำคัญอย่าง ‘การตรวจสอบ’ เพื่อตัดสินราคาข้าว
หนึ่งในขั้นตอนการตรวจสอบข้าวของญี่ปุ่น คือการวัดปริมาณน้ำในเมล็ด โดยเมล็ดข้าวคุณภาพดีจะต้องมีส่วนประกอบของน้ำมากกว่า 15% หากต่ำกว่านี้จะถือว่าไม่ผ่านมาตรฐาน
โดยข้าวที่ผ่านเกณฑ์ จะถูกส่งไปยังสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศญี่ปุ่น (JA) หรือพ่อค้าคนกลาง ก่อนนำข้าวกล้องที่ได้ไปผ่านกระบวนการขัดสี จนกลายเป็นข้าวขาว เพื่อบรรจุถุงและส่งไปยังซูเปอร์มาร์เกตต่อไป
ในแต่ละขั้นตอนที่เล่ามานี้ ล้วนใช้เวลานานเกือบ 1 วัน ทำให้เกษตรกรต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 1 สัปดาห์กว่าที่ข้าวจะถูกบรรจุลงถุงและส่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งยังไม่นับรวมปัญหาผลผลิตข้าวลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดในซัมเมอร์ที่ผ่านมา โดยญี่ปุ่นอาจต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนข้าวนี้
เนื้อหาจาก: youtu.be, ja-niigatashi.jp