ในภาษาญี่ปุ่นมีสำนวนว่า usohappyaku (嘘八百) โดยมีคำว่า โกหก (嘘) กับ แปดร้อย (八百) อยู่ด้วยกัน เพื่อน ๆ สงสัยไหมคะว่าทำไมต้องแปดร้อย ทำไมไม่เป็นห้าร้อย หกร้อย ?? วันนี้เราจะอธิบายความหมาย ที่มา และวิธีการใช้สำนวนนี้ให้เข้าใจแบบง่าย ๆ กันค่ะ แล้วจะรู้ว่า คำว่าแปดมีอะไรมากกว่าที่คิด!
usohappyaku (嘘八百) หมายถึงอะไร ?
usohappyaku (嘘八百) แปลเป็นภาษาไทยว่า โกหกร้อยแปด (แต่หากแปลตรงตัวจะแปลว่าโกหกแปดร้อย) เป็นสำนวนที่หมายถึงว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องโกหก หรือเต็มไปด้วยการโกหกเหลวไหลมากมาย
usohappyaku (嘘八百) มีที่มาอย่างไร ทำไมต้องแปดร้อย ?
usohappyaku (嘘八百) เป็นการผสมคำว่า โกหก (嘘) กับ แปดร้อย (八百) เข้าด้วยกัน ซึ่งคำว่าแปดร้อยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเลขจำนวนแปดร้อยโดยตรง แต่มีความหมายว่า จำนวนมากมาย
มีทฤษฎีหลายอย่างเกี่ยวกับที่มาของสำนวนนี้ โดยแต่แรกเริ่มเดิมที แปด (八) ใช้หมายถึงว่ามีจำนวนมาก แล้วก็มีการเติมหลักเข้าไป มีทั้งแปดสิบ แปดร้อย แปดพัน แปดหมื่น ให้กลายเป็นสำนวนที่บ่งบอกว่ามีจำนวนมากเกินความเป็นจริง คล้ายกับสำนวนในภาษาไทยว่า ร้อยแปดพันเก้า ซึ่งก็ไม่ได้เแปลว่ามีร้อยแปดพันเก้าอย่างตรงตัว แต่หมายถึงมีจำนวนมากมายเสียเหลือเกิน
ตัวอย่างวลีที่ใช้ แปด (八) ในความหมายว่าจำนวนมาก
1. แปด (八) กับพุทธศาสนา
ในทางพุทธศาสนามีคำว่า hachimanjigoku (八万地獄) หรือ hachimannaraku (八万奈落) แปลว่า แปดหมื่นนรก ซึ่งเปรียบเทียบจำนวนความทุกข์ทรมานที่คนเราทนทุกข์จากกิเลสตันหาทางโลก นอกจากนี้ยังมีคำว่า hachimanshisen (八万四千 : แปดหมื่นสี่พัน) และคำว่า hachiokushisen (八億四千 : แปดร้อยล้านสี่พัน) ซึ่งแสดงถึงจำนวนที่มากมายไม่จำกัดหรือนับอนันต์
2. แปด (八) กับกวีโบราณ
ในโคจิกิและนิฮงโชกิ (พงศาวดารญี่ปุ่น) มีคำว่า yasogami (八十神 : เทพเจ้าสิบองค์) ที่หมายถึงเทพเจ้าหลายองค์ และคำว่า yaoyorozu no kami (八百万の神 : เทพเจ้าแปดล้านองค์) ก็หมายถึงเทพเจ้าจำนวนนับไม่ถ้วน
แปด (八) ยังปรากฎในบทกวีวากะที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นซึ่งประพันธ์โดยเทพ Susanoomikoto (須佐之男命) เมื่อครั้นเขารับเจ้าหญิงคุชินาดะมาเป็นภรรยา และตั้งบ้านใหม่ในอิซุโมะ โดยมีเนื้อความว่า
「八雲立つ 出雲八重垣 妻ごみに 八重垣つくる その八重垣を」
(yakumotatsu izumoyaegaki tsumagomini yaegakitsukuru sonoyaegakiwo)
หมายความว่า เมฆหลายชั้นที่ลอยขึ้นในอิซูโมะที่นี่ ราวกับรั้วหลายชั้น เทพ Susanoomikoto จึงได้สร้างรั้วหลายชั้นที่บ้านหลังใหม่ให้กับภรรยา
จะเห็นว่าคำว่า yaegaki (八重垣 : รั้วแปดชั้น) หมายถึงรั้วที่ประกอบด้วยหลายชั้น ดังนั้นในบทกวีวากะนี้ แปด (八) ไม่ได้หมายถึงตัวเลขเฉพาะเจาะจง แต่หมายถึงจำนวนมากมีหลายชั้นนั่นเอง
3. แปด (八) ในสมัยเอโดะ
ในสมัยเอโดะก็มีวลีที่ใช้ แปด (八) อยู่เยอะเช่นกัน มีทั้ง
- happyakuyachou (八百八町 : แปดร้อยแปดเมือง) หมายถึงเมืองต่าง ๆ มากมายในเอโดะ
- happyakuyabashi (八百八橋 : แปดร้อยแปดสะพาน) หมายถึงสะพานหลายแห่งในโอซาก้า
- happyakuyadera (八百八寺 : แปดร้อยแปดวัด) หมายถึงวัดหลายแห่งในเกียวโต
นอกจากนี้ยังมีร้านขายผักที่เรียกกันว่า yaoya (八百屋 : ร้านแปดร้อย) เนื่องจากในสมัยเอโดะร้านพวกนี้ไม่เพียงแต่ขายผักและผลไม้เท่านั้น แต่ยังขายวัตถุดิบอื่น ๆ อีกมากมายทั้งสาหร่ายและอาหารแห้ง จึงใช้แปด (八) เพื่อสื่อว่าขายหลายสิ่งหลายอย่างนั่นเอง
ตัวอย่างการใช้สำนวน usohappyaku (嘘八百)
彼女の気を惹くために嘘八百並べてしまって後悔している。
ฉันเสียใจที่โกหกไปเยอะเพื่อเรียกความสนใจจากเธอ
この芸能雑誌は嘘八百ばっかりだから信用できない。
นิตยสารบันเทิงเล่มนี้มีแต่เรื่องโกหก เชื่อถือไม่ได้
嘘八百を並べ立ててその場を切り抜けた。
ฉันผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยการโกหกมากมาย
嘘八百だと気づかず騙されるところだった。
ฉันเกือบถูกหลอกเพราะไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องโกหก
彼の武勇伝は嘘八百らしいよ。
เรื่องราวความกล้าหาญของเขาล้วนเป็นเรื่องโกหก
あの人の言うことは嘘八百だよ。
สิ่งที่คนคนนั้นพูดเป็นเรื่องโกหก
そんな嘘八百は通用しないよ。
การโกหกแบบนั้นยอมรับไม่ได้
สำนวนภาษามักมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ ทำให้บางครั้งการจะแปลความหมายของคำ ๆ หนึ่งออกมา ไม่สามารถทำได้โดยการแปลตรงตัวเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยการสืบค้นรากของศัพท์นั้นเพิ่มเติมให้ละเอียดถี่ถ้วน ดังนั้นใครอยากเรียนภาษาให้สนุก ต้องหมั่นสืบค้นข้อมูลควบคู่กันไปด้วยนะคะ!
สรุปเนื้อหาจาก jpnculture