คำว่า すみません (sumimasen) หรือขอโทษ อย่างที่หลาย ๆ คนรู้กันว่าเป็นคำที่ใช้ในการแสดงการขอโทษแบบทั่ว ๆ ไป แต่ดูเหมือนว่าแม้แต่คนญี่ปุ่นบางส่วนก็เคยเขียนคำนี้แบบผิด ๆ อยู่เหมือนกัน!
เว็บไซต์ Sirabee ทำการสำรวจหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นจำนวน 1,000 คนทั่วประเทศ ในช่วงวัย 10 – 60 ปี เกี่ยวกับการเขียนคำว่า すみません (sumimasen) เป็น すいません (suimasen) ผลปรากฏว่ามีถึง 46.4% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยมีประสบการณ์เขียนคำว่า すみません เป็น すいません มากกว่า 40% ถือว่าค่อนข้างเยอะพอสมควร
คำว่า すみません เป็นรูปที่สุภาพกว่าของคำว่า すいません ใช้ในการขอโทษเหมือนกัน เดิมมาจากคำว่า 済む (sumu) หากเขียนคำว่า すみません เป็นตัวคันจิก็จะเขียนว่า 済みません ส่วนคำว่า すいません เป็นวิธีพูดแบบง่าย ๆ มักใช้ในภาษาพูดมากกว่า ดังนั้นคำที่ถูกต้องก็ต้องเป็น すみません
แต่ในด้านการทำงาน ทั้งคำว่า すみません และ すいません จะถือเป็นภาษาพูด เป็นคำที่ไม่ได้ใช้ในเชิงธุรกิจ ดังนั้นเวลาที่ต้องการขอโทษทางอีเมล์ ควรใช้คำว่า 申し訳ありません (moushiwake arimasen) แทนเพื่อแสดงเจตนาที่ต้องการจะขอโทษให้ชัดเจน
นอกจากนี้ すみません และ すいません เป็นคำที่ไม่หนักแน่นเท่าไหร่ในแง่ของความรู้สึก แม้เราจะคิดว่าตัวเองขอโทษอย่างถูกต้องแล้ว แต่หัวหน้าก็อาจมองว่ายังไม่จริงจังและไม่จริงใจพอ การจะเลือกใช้คำไหนจึงต้องพิจารณาฝ่ายตรงข้ามและสถานการณ์เป็นสิ่งสำคัญ
ชายวัย 20 ปี ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “เมื่อไม่นานมานี้ ผมก็เข้าใจผิดและพูดว่า すいません บอกตามตรงเลยว่าผมคิดว่า すみません กับ すいません เป็นคำเดียวกัน แล้วเวลาพูด すいません ก็ออกเสียงง่ายกว่า ก็เลยใช้ผิดไปหมดเลย” แต่หลังจากนั้นหัวหน้าก็ตักเตือนเขาเรื่องการใช้คำ ทำให้ชายหนุ่มระมัดระวังในการใช้มากขึ้น
ผู้เขียนมองว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เขียนผิดก็อาจเป็นเพราะว่าพูดผิดมาแต่แรกด้วยนะคะ อย่างเช่นพอติดพูดคำว่า すい เวลาจะเขียนก็เลยเขียนเป็น すい ตามไปด้วย จะว่าไปก็คล้าย ๆ กับประเด็น คะ ค่ะ ของภาษาไทยเลยนะคะ ซึ่งส่วนมากเวลาพูดไม่มีใครพูดผิด แต่มักจะผิดที่ตอนเขียนกันมากกว่าจริงไหมคะ หรือคำบางคำที่เราเขียนตามที่ออกเสียงทั้ง ๆ ที่จริงแล้วเขียนผิดตามหลักภาษา ตรงนี้ก็ต้องระมัดระวังให้ดีนะคะ ไม่อย่างนั้นก็อาจจะจดจำไปแบบผิด ๆ ก็ได้ ^^
สรุปเนื้อหาจาก sirabee