สายมูทั้งหลายเวลาที่ไปท่องเที่ยววัดญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าส่วนมากในชื่อวัดมักจะมีคำว่า ji, dera (寺) หรือ in (院) แต่บางคนอาจเคยเห็นตัว 山 อยู่ข้างหน้าชื่อวัดอีกที โดยคันจิตัวนี้หมายถึง ภูเขา เมื่ออยู่หน้าชื่อวัดจะมีชื่อเรียกว่า sangou (山号) ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อวัดของศาสนาพุทธ แล้ววัดกับภูเขามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร รวมถึงยกตัวอย่าง sangou (山号) ของวัดใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียง เราไปเรียนรู้เกี่ยวคำนี้กันค่ะ
sangou (山号) คืออะไร?
sangou (山号) คือคำนำหน้าที่วางไว้หน้าชื่อวัดของศาสนาพุทธ เนื่องจากมีวัดหลายแห่งสร้างขึ้นบนภูเขา จึงมีการนำชื่อของภูเขามาวางไว้นำหน้าชื่อวัด ซึ่งจะเรียกว่า sangou (山号) ว่ากันว่า sangou (山号) เริ่มใช้ในประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถังซึ่งเป็นช่วงที่พุทธศาสนานิกายเซนได้รับความนิยม จนเมื่อพุทธศาสนานิกายเซนแพร่กระจายเข้ามาในญี่ปุ่น sangou (山号) ก็ถูกนำมาใช้ด้วยเช่นกัน
ความเป็นมาของ sangou (山号)
ในสมัยราชวงศ์ถัง พระถังซัมจั๋งผู้ซึ่งเป็นต้นแบบของนิยายคลาสสิกเรื่องไซอิ๋ว ได้อัญเชิญคัมภีร์พุทธศาสนาหลายเล่มจากชมพูทวีปกลับไปยังประเทศจีน ตั้งแต่นั้นมาก็มีการสร้างวัดขึ้นมากมายหลายแห่งในประเทศจีน ด้วยเหตุนี้จึงเติมชื่อภูมิภาคนำหน้าชื่อวัดเพื่อเป็นการ แบ่งแยกความแตกต่าง นอกจากนี้ยังมีวัดอีกหลายแห่งที่สร้างขึ้นบนภูเขาอันห่างไกล วัดเหล่านี้จึงใช้ชื่อภูเขามาเป็นชื่อวัด ว่ากันว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของ sangou (山号)
ทั้งนี้ก็มีวัดหลายแห่งในญี่ปุ่นที่ไม่ได้มี sangou (山号) เป็นเพราะในช่วงแรกที่พุทธศาสนาเริ่มเข้ามา วัดเป็นสิ่งก่อสร้างสำหรับผู้มีอำนาจและจะถูกสร้างขึ้นในเมืองมากกว่าบนภูเขา แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มมีการสร้างวัดขึ้นบนภูเขาซึ่งห่างไกลจากผู้คนเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม จึงเริ่มมีการใช้ sangou (山号) ขึ้นมา และเหตุผลที่ประตูวัดถูกเรียกว่า sanmon (山門) ก็เนื่องมาจากวัดที่สร้างบนภูเขาเช่นกัน!
sangou (山号) กับความศรัทธาต่อภูเขา
สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วภูเขาเป็นสิ่งพิเศษที่มีความหมายอย่างมาก ด้วยภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขามากมาย ผู้คนจึงมองว่าภูเขาเป็นโลกแห่งเทพเจ้า ในสมัยโบราณภูเขาถือเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่เป็นทั้งอู่ข้าวอู่น้ำ หาอาหารเก็บผักล่าสัตว์ และยังเชื่อด้วยว่าหากทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อาศัยอยู่บนภูเขาขุ่นเคืองก็จะเกิดโชคร้าย แต่ถ้าเคารพบูชาอย่างถูกต้องก็จะได้รับสิ่งดีงาม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภูเขาเป็นหลักแห่งความศรัทธาสำหรับคนญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตประจำวัน สาเหตุที่วัดหลายแห่งมี sangou (山号) จึงอาจเป็นเพราะนำเอาความศรัทธาต่อภูเขาตั้งแต่โบราณมาเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาได้ง่ายนั่นเอง
ตัวอย่าง sangou (山号) ของวัดชื่อดัง
ในญี่ปุ่นมีวัดพุทธราว 75,000 แห่ง ในจำนวนนี้ก็มีวัดหลายแห่งที่เป็นสำนักใหญ่ของนิกายต่าง ๆ และเป็นที่รู้จักทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ มาดูชื่อวัดบางแห่งที่เป็นที่นิยมกันค่ะ
ชื่อเต็ม | sangou (山号) | ชื่อวัด | นิกาย |
---|---|---|---|
比叡山延暦寺 Hieizan Enryakuji | 比叡山 Hieizan | 延暦寺 Enryakuji | วัดพุทธนิกายเท็นได |
東叡山寛永寺 Toueizan Kaneiji | 東叡山 Toueizan | 寛永寺 Kaneiji | วัดพุทธนิกายเท็นได |
高野山金剛峯寺 Kouyasan Kongoubuji | 高野山 Kouyasan | 金剛峯寺 Kongoubuji | วัดพุทธนิกายชินกง |
華頂山知恩教院大谷寺 Kachouzan Chion kyouin Ootani dera | 華頂山 Kachouzan | 知恩院 Chion in | วัดพุทธนิกายโจโด |
三縁山広度院増上寺 Sanenzan Koudoin Zoujouji | 三縁山 Sanenzan | 増上寺 Zoujouji | วัดพุทธนิกายโจโด |
龍谷山本願寺 Ryuukokuzan Honganji | 龍谷山 Ryuukokuzan | 本願寺 Honganji | วัดพุทธนิกายโจโด |
吉祥山永平寺 Kichijyouzan Eiheiji | 吉祥山 Kichijyouzan | 永平寺 Eiheiji | วัดพุทธนิกายเซน |
諸岳山總持寺 Shyogakusan Sojiji | 諸岳山 Shyogakusan | 總持寺 Sojiji | วัดพุทธนิกายเซน |
東山建仁寺 Touzan Kenninji | 東山 Touzan | 建仁寺 Kenninji | วัดพุทธนิกายรินไซ |
正法山妙心寺 Shyoubouzan Myoushinji | 正法山 Shyoubouzan | 妙心寺 Myoushinji | วัดพุทธนิกายรินไซ |
身延山妙法華院久遠寺 Minobusan Myouhokkein Kuonji | 身延山 Minobusan | 久遠寺 Kuonji | วัดพุทธนิกายนิจิเร็น |
長栄山池上本門寺 Choueizan Ikegami Honmonji | 長栄山 Choueizan | 池上本門寺 Ikegami Honmonji | วัดพุทธนิกายนิจิเร็น |
คำอื่น ๆ ในชื่อวัดนอกจาก sangou (山号)
นอกจากตัว 寺, 院 และ 山 ที่มักพบอยู่ในชื่อวัด ก็ยังมีวัดบางแห่งที่ใช้ตัวอื่น ๆ เช่น 閣, 庵, 堂 อีกด้วย
1. ความหมายของ kaku (閣)
kaku (閣) แปลว่า หอคอย หมายถึง อาคารที่ใช้เก็บตำราและพระพุทธรูป ส่วนใหญ่สร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น มีประตูทั้งสี่ด้านพร้อมโครงสร้างที่มองเห็นได้ทุกทิศทาง ตัวอย่างเช่น Hiunkaku ของวัด Honganji, Kinkaku ของวัด Rokuonji หรือที่รู้จักกันในชื่อวัดทอง แหล่งท่องเที่ยวอันโด่งดังของเกียวโต
2. ความหมายของ an (庵)
an (庵) แปลว่า กุฏิ อาศรม อาราม หมายถึง วัดหรืออาคารเล็ก ๆ ที่นักบวชหรือพระสงฆ์อาศัยอยู่ ตัวอย่างเช่น Shuuonan ของวัด Ikkyuu
3. ความหมายของ dou (堂)
dou (堂) แปลว่า ห้องโถง หอประชุม โบสถ์ หมายถึง อาคารที่สร้างขึ้นเป็นหลัก มีชื่อเรียกหลายชื่อแตกต่างกันไปตามแต่ละวัด เช่น Hattou (法堂) Koudou (講堂) Kondou (金堂) ภายในมักมีพระประธานมาประดิษฐานไว้ ตัวอย่างเช่น Goeidou กับ Amidado ของวัด Koushouji
การมีชื่อภูเขาอยู่ในชื่อวัดทำให้เราได้เข้าใจถึงความเชื่อและความศรัทธาของคนญี่ปุ่นที่มีมาแต่โบราณ เป็นการเชื่อมโยงอันลึกซึ้งระหว่างภูเขาในธรรมชาติกับวัดวาอาราม ถ้าเพื่อน ๆ ไปเที่ยววัดพุทธในญี่ปุ่น ลองหา sangou (山号) ของวัดนั้น ๆ และเรียนรู้เกี่ยวกับที่มา ก็น่าจะทำให้การท่องเที่ยววัดสนุกยิ่งขึ้นด้วยนะคะ
สรุปเนื้อหาจาก: e-sogi