ในการเรียนหรือการอ่านภาษาญี่ปุ่น สิ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็คือโรมาจิ ซึ่งเป็นตัวอักษรโรมันที่ใช้ถอดเสียงการอ่านจากตัวอักษรญี่ปุ่น ถือเป็นตัวช่วยที่ดีมากให้กับผู้เรียนชาวต่างชาติ แต่รู้ไหมคะว่าโรมาจิที่ใช้แทนการออกเสียงภาษาญี่ปุ่นนั้นมีถึง 3 ประเภท คือแบบเฮบง (標準式) แบบคุนเร (訓令式) และแบบญี่ปุ่น (日本式) เราจะพาไปดูความแตกต่างของโรมาจิทั้ง 3 แบบรวมถึงการใช้โรมาจิในปัจจุบันกันค่ะ

จุดเริ่มต้นการใช้โรมาจิ

ว่ากันว่าการถอดเสียงภาษาญี่ปุ่นเป็นตัวอักษรโรมันเริ่มต้นในช่วงปลายสมัยมุโรมาจิหรือราวศตวรรษที่ 16 โดยมิชชันนารีชาวโปรตุเกส แต่การถอดเสียงภาษาญี่ปุ่นให้เป็นอักษรโรมันนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น ตัวโรมาจิใน Sanctos no Gosagyou no Uchinuki Gaki (หนังสือศาสนาคริสต์ ปี 1591) กับ Heike Monogatari (มหากาพย์การต่อสู้ระหว่างตระกูลไทระและตระกูลมินาโมโตะ ปี 1592) ใช้ตัวโรมาจิแบบโปรตุเกส แต่ช่วงปลายสมัยเอโดะ (ต้นศตวรรษที่ 18 จนถึงปลายสมัยรัฐบาลโชกุน) ใช้ตัวโรมาจิแบบฮอลันดาตามเหล่านักวิชาการที่ศึกษาภาษาดัตช์ นอกจากนี้ ตั้งแต่สมัยเมจิถึงสมัยไทโชยังมีการใช้โรมาจิแบบเยอรมันและฝรั่งเศสอีกด้วย

ตัวอย่างโรมาจิวรรค ta ในภาษาต่าง ๆ

1. โรมาจิแบบเฮบง

J.C. Hepburn

ปี 1859 J.C. Hepburn มิชชันนารีชาวอเมริกันได้เดินทางมาญี่ปุ่นและทำงานด้านการแพทย์ในเมืองโยโกฮาม่า เขามีส่วนร่วมในการรวบรวมจัดทำพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น-อังกฤษเล่มแรก ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1872 เรียกว่า A Japanese and English Dictionary with an English and Japanese Index เมื่อตีพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี 1886 ก็มีการเรียกตัวโรมาจิที่ใช้ในฉบับนี้ว่าโรมาจิแบบเฮบงหรือเฮบงแบบดั้งเดิม และในปี 1908 เขาได้ตีพิมพ์ฉบับแก้ไขโดยเป็นการแก้ไขบางส่วนจากเฮบงแบบดั้งเดิม มีการใช้ขีดข้างบนสระในคำที่เป็นเสียงยาวและใช้เครื่องหมาย ‘ เพื่อแบ่งพยางค์ เช่น じゅんいちろう เขียนเป็นโรมาจิว่า Jun’ichirō โรมาจิแบบเฮบงเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบันรวมถึงในหมู่นักเรียนต่างชาติและในทางวิชาการ

2. โรมาจิแบบญี่ปุ่น

Tanakadate Aikitsu

อย่างไรก็ตาม โรมาจิแบบเฮบงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการออกเสียงเอนเอียงไปทางภาษาอังกฤษ ในปี 1886 (ปีเมจิที่ 19) Tanakadate Aikitsu นักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่น จึงเสนอวิธีการสะกดโรมาจิแบบญี่ปุ่นซึ่งมีจุดเด่นคือจะสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ตาราง 50 เสียงของภาษาญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น ในโรมาจิแบบเฮบง วรรค ta จะเขียนเป็น ta chi tsu te to แต่เขามองว่าเมื่อเป็นวรรค ta ก็ควรใช้ตัว t ให้เหมือนกันทุกตัวเป็น ta ti tu te to จะตรงกับกฎเกณฑ์ทางภาษาและเหมาะกับคนญี่ปุ่นมากกว่า อาจกล่าวได้ว่าโรมาจิแบบญี่ปุ่นเป็นการอิงตามกฎเกณฑ์มากกว่าการออกเสียง

3. โรมาจิแบบคุนเร

ต่อมาในปี 1937 (ปีโชวะที่ 12) ได้มีการออกไกด์ไลน์เกี่ยวกับวิธีการสะกดโรมาจิ นั่นก็คือโรมาจิแบบคุนเร โดยยืนพื้นมาจากโรมาจิแบบญี่ปุ่นและแก้ไขตัวที่ออกเสียงเหมือนกันให้ใช้โรมาจิเหมือนกัน เช่น ตัว じ กับ ぢ เขียนเป็น zi, ตัว ず กับ づ เขียนเป็น zu, ตัว お กับ を เขียนเป็น o ต่อมาในปี 1954 (ปีโชวะที่ 29) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศใช้ “ข้อกำหนดการถอดเป็นอักษรโรมัน” อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วยตารางที่เป็นโรมาจิแบบคุนเรและตารางที่เป็นวิธีถอดแบบอื่น ๆ ที่ไม่ตรงกับคุนเร โดยกำหนดให้ใช้แบบคุนเรเป็นหลักและใช้ตารางแบบอื่น ๆ เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้ตามระบบที่กำหนดได้ ปัจจุบันโรมาจิแบบคุนเรจะใช้ในการเรียนการสอนชั้นประถม

ตัวอย่างโรมาจิที่แตกต่างกันทั้ง 3 แบบ

การใช้โรมาจิในปัจจุบัน

ในปัจจุบันการใช้ตัวโรมาจิจะใช้เพียง 2 แบบคือโรมาจิแบบคุนเรที่เน้นอิงตามกฎเกณฑ์ภาษาญี่ปุ่นโดยจะใช้ในการเรียนการสอนชั้นประถม และโรมาจิแบบเฮบงที่เน้นตามการออกเสียงของชาวต่างชาติโดยจะใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน เช่น

1. ชื่อสถานีรถไฟ: อย่างสถานีชิมบาชิ 新橋 เขียนเป็นโรมาจิว่า Shimbashi สถานีชินจูกุ 新宿 เขียนเป็นโรมาจิว่า Shinjuku

2. ชื่อคนบนพาสปอร์ต: นอกจากนี้ชื่อนามสกุลที่มีเสียงยาวอย่าง oo หรือ ou ยังสามารถเขียนเป็น oh ได้ตามความต้องการของบุคคลนั้น
– โทยามะ 遠山 เขียนเป็นโรมาจิว่า Toyama หรือ Tohyama ก็ได้
– โคโนะ 河野 เขียนเป็นโรมาจิว่า Kono หรือ Kohno ก็ได้

3. ชื่อบริษัท ห้างร้าน: อย่าง Matsuda กับ Fujitsu ที่เราคุ้นเคยกันก็เป็นโรมาจิแบบเฮบง จะไม่ใช้โรมาจิแบบคุนเร (Matuda, Huzitu)

ไม่คิดเลยนะคะว่าโรมาจิที่เราใช้กันจะถูกปรับปรุงมาหลายเวอร์ชันขนาดนี้ ซึ่งก็มีประโยชน์ไม่เพียงแต่กับผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับเหล่านักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถอ่านภาษาญี่ปุ่นได้เช่นกันว่าไหมคะ

สรุปเนื้อหาจาก kotobaken

AsmarCat

นักเขียนทาสแมวที่คอสเพลย์เป็นงานอดิเรก ชื่นชอบ Pop Culture ของญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ดูเมะ ฟังเพลง และ Cafe Hopping มามองญี่ปุ่นในมุมใหม่ ๆ ไปด้วยกันนะคะ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า