“นัมปะ” ในภาษาญี่ปุ่นจะหมายถึงการจีบสาว เต๊าะสาว ถึงแม้ว่าจะฟังดูเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยใหม่ แต่ความจริงหนุ่มญี่ปุ่นเขาก็จีบสาวกันมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว! เราไปรู้จักคำนี้กันให้มากขึ้นและไปดูกันค่ะว่าตั้งแต่อดีต หนุ่ม ๆ เขามีวิธีการจีบสาวอย่างไร และมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง บางทีอาจจะมีเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ในยุคปัจจุบันได้นะคะ
รู้จักความหมายของนัมปะ
นัมปะเขียนด้วยตัวคันจิว่า 軟派 เดิมทีหมายถึงคนหัวอ่อน คนที่ไม่มีจุดยืนหรือความคิดเห็นที่หนักแน่นเป็นของตนเอง ต่อมาคำนี้ได้เปลี่ยนไปใช้หมายถึงคนที่เอาใจใส่เกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนเองหรือมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม ปัจจุบันนี้นิยมเขียนด้วยตัวคาตากานะว่า ナンパ และได้เปลี่ยนไปใช้เรียกผู้ชายที่เข้าหาผู้หญิงที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกเพื่อการเดต ถึงแม้ในทุกวันนี้การจีบหรือการเข้าไปเต๊าะสาวดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สำหรับสมัยก่อนมองว่าเป็นการเข้าหาที่เหมาะสมและคำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย งั้นเรามาย้อนดูเรื่องราวการจีบสาวของคนญี่ปุ่นในอดีตเพื่อให้เข้าใจคำว่านัมปะกันมากขึ้นกันค่ะ
สมัยเอโดะ : จดหมายรักเป็นสื่อกลาง
ในปัจจุบันผู้คนมักจะไปวัดและศาลเจ้าเฉพาะช่วงที่มีงานหรือเทศกาลพิเศษ แต่ในสมัยเอโดะวัดและศาลเจ้าเป็นสถานที่ที่คนทั่วไปจะได้มาพบปะกับเพศตรงข้าม!? หากชายหนุ่มพบเจอหญิงสาวคนไหนที่ถูกใจ สิ่งที่พวกเขาจะทำเลยก็คือเขียนจดหมายรักแสดงความรู้สึก หลังจากนั้นก็เฝ้ารอการตอบกลับมา ซึ่งแม้ว่าจะไม่รู้ที่อยู่ของอีกฝ่ายก็ไม่เป็นไร! เพราะยังสามารถใช้วิธีการสอดจดหมายรักลงในแขนเสื้อกิโมโนของหญิงสาวคนนั้นแล้วกระซิบเบา ๆ ว่า “เก็บไว้อ่านทีหลังนะ” ได้เลย! การจีบลักษณะนี้กล่าวกันว่าช่วยให้ผู้หญิงสามารถพิจารณาลักษณะนิสัย ความคิด ความอ่าน ความฉลาดที่ถ่ายทอดผ่านหน้าตา รูปลักษณ์ น้ำเสียง ภาษากาย ตลอดจนเนื้อหา และลายมือในจดหมายไปพร้อม ๆ กันได้
นอกเหนือจากนั้นสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ การหยิกก้น ฟังดูแล้วช่างเป็นวิธีที่กล้าหาญจริง ๆ ในการเข้าไปจีบหญิงสาวที่ชอบ ไม่รู้ว่าสาว ๆ เอโดะเขาปลื้มกับวิธีนี้หรือเปล่า แต่ถ้าเป็นสมัยนี้เจ้าหนุ่มคนนั้นอาจโดนตบหน้าก็เป็นได้
สมัยเมจิและไทโช : รอเธอที่ใต้ต้นซากุระ
แม้วันเวลาจะผ่านไป แต่ชายหนุ่มก็ยังคงบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อหญิงสาวผ่านจดหมายเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการมานัดเจอกันใต้ต้นซากุระ ในช่วงเวลานี้การที่ผู้หญิงจะเป็นคนเข้าหาก่อนถือว่าไม่สุภาพและเป็นเรื่องไม่สมควร ดังนั้นหญิงสาวจึงมักทำข้าวกล่องแล้วออกไปยืนตรงใต้ต้นซากุระเพื่อรอให้ชายหนุ่มมาส่งเสียงเรียก ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องราวน่ารัก ๆ ที่โรแมนติกมาก อีกทั้งในสมัยเมจิคำว่า ไฮคาระ (ハイカラ) กับ บังคาระ (バンカラ) ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยไฮคาระจะมีความหมายเหมือนกับนัมปะ ส่วนบังคาระจะมีความหมายเหมือนคำว่าโคฮะ (硬派) หมายถึงคนหัวแข็ง ดื้อด้าน
สมัยโชวะ : เป้าหมายมีไว้พุ่งชน!
เข้าสู่สมัยโชวะหลังสิ้นสุดสงคราม ผู้คนจำนวนมากโหยหาความรักที่เป็นอิสระมากกว่าการแต่งงานแบบคลุมถุงชนที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัยเมจิ วัฒนธรรมการเขียนจดหมายก็ยังคงมีอยู่ แต่วิถีของเหล่าลูกผู้ชายก็เปลี่ยนไปเป็นตรงไปตรงมาและกล้าหาญมากขึ้นตามการเติบโตที่รวดเร็วทางเศรษฐกิจ ถ้าถูกใจใครก็จะเข้าไปเชิญชวนแบบไม่มีการรีรอให้เสียเวลา “สาวน้อย ไปดื่มชากันมั้ย” ซึ่งฝ่ายหญิงก็จะตอบกลับไปอย่างไร้ความเขินอายว่า “ไปค่ะ!” เช่นกัน นับว่าเป็นยุคสมัยที่ความเป็นกันเองระหว่างหญิงชายและการจีบโดยการเข้าไปตีสนิทตรง ๆ ได้รับการยอมรับ ซึ่งก็เข้ากับสังคมช่วงเวลานั้นที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู
อย่างไรก็ตามแม้จะตรงไปตรงมามากขึ้น แต่ทั้งชายและหญิงก็ยังคงต้องปฎิบัติตามบรรทัดฐานค่านิยมความเป็นชายและความเป็นหญิงในสังคมอยู่ดี
สมัยเฮเซ : อยู่คนเดียวสบายใจกว่า
ในสมัยเฮเซ ขอบเขตของเพศถูกมองในมุมใหม่ แนวคิดความเป็นชายและหญิงเริ่มมีความสำคัญน้อยลง ผู้คนโฟกัสไปที่งานอดิเรกและแนวทางไลฟ์สไตล์ของตนเองมากขึ้น ขณะเดียวกันความบันเทิงรูปแบบต่าง ๆ ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม พร้อมทั้งจำนวนคนที่ยังไม่แต่งงานก็เพิ่มมากขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ช่วงปี 2000 อัตราการเกิดต่อปีก็ลดลง หนุ่มสาวสมัยใหม่เริ่มนิยมวัฒนธรรมการอยู่คนเดียว วัยรุ่นในยุคอินเทอร์เน็ตเพียงแค่ลงทะเบียนแอปหาคู่ก็สามารถนัดเจอกับคนที่ตรงสเปคได้ทันที จนในบางครั้งสาว ๆ ก็รับบทเป็นผู้ล่าเสียเองและรุกเข้าหาหนุ่ม ๆ ที่ไม่ได้สนใจเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ
ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ค่านิยมและการปฏิบัติตัวของผู้คนในสังคมก็แปรผันไม่แพ้กัน จนอดคิดไม่ได้ว่าในวันข้างหน้าการเข้าหาเพศตรงข้ามและความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงจะมีทิศทางเป็นอย่างไร เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปในอนาคต
สรุปเนื้อหาจาก oggi