ภาษาไทยมีอักขระ ไม้ยมก (ๆ) ที่ใช้ในการซ้ำคำ ในภาษาญี่ปุ่นเองก็มีเช่นกัน แถมไม่ได้มีแค่ตัวเดียว! แต่ยังมีมากมายหลายแบบอีกด้วย! ยกตัวอย่างคำที่มีการซ้ำคำเช่น shoushou (少々), suzume (スヾメ), gakumon no susume (学問のすゝめ) มีการใช้อักขระ 々, ヾ, ゝ ขีดหน้าตาแปลก ๆ เหล่านี้นี่แหละคือ สัญลักษณ์ซ้ำคำ (繰り返し記号) ของภาษาญี่ปุ่น ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักสัญลักษณ์ซ้ำคำแบบต่าง ๆ ว่ามีชื่อเรียกและวิธีการใช้อย่างไร รวมถึงวิธีพิมพ์สัญลักษณ์ซ้ำคำเหล่านี้บนคอมพิวเตอร์ ไปดูกันเลยยย!
々,ヽ,ヾ,ゝ,ゞ,〃,仝,〱,〲 สัญลักษณ์เหล่านี้คืออะไร ?
々,ヽ,ヾ,ゝ,ゞ,〃,仝,〱,〲 ไม่ใช่ตัวอักษรแต่เป็น สัญลักษณ์ซ้ำคำ ที่ใช้ในการซ้ำคำก่อนหน้า มีหน้าที่คล้ายไม้ยมก (ๆ) ในภาษาไทย มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น
- kurikaeshi kigou (繰り返し記号)
- odoriji (踊り字)
- hanpuku kigou (反復記号)
- kurikaeshi fugou (繰り返し符号)
- kasaneji (重ね字)
- okuriji (送り字)
- jyouji (畳字)
ยกตัวอย่างคำที่มีสัญลักษณ์ซ้ำคำ เช่น คำว่า shoushou (少々), suzume (スヾメ), gakumon no susume (学問のすゝめ) หากเขียนโดยไม่ใช้สัญลักษณ์ซ้ำคำ จะเขียนได้เป็น
- 少々 = 少少 - スヾメ = スズメ - 学問のすゝめ = 学問のすすめ
ความเป็นมาของสัญลักษณ์ซ้ำคำ
ในสมัยราชวงศ์ซางของประเทศจีนมีการใช้สัญลักษณ์ = ในการซ้ำคำ อย่างเช่นคำว่า 子子孫孫 จะถูกเขียนเป็น 子=孫= ว่ากันว่าอักษรคันจิถูกถ่ายทอดจากประเทศจีนสู่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงราวศตวรรษที่ 4-5 แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าสัญลักษณ์ซ้ำคำถูกถ่ายทอดมาพร้อมกันหรือไม่
ทั้งนี้ เชื่อกันว่าในญี่ปุ่นมีการใช้สัญลักษณ์ซ้ำคำมาตั้งแต่ก่อนสมัยนารา ตัวอย่างจาก มันโยชู (万葉集) หนังสือรวมบทกวีวากะที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นซึ่งรวบรวมขึ้นเมื่อปลายสมัยนารา มีข้อความว่า 何時毛〻〻〻อ่านว่า itsumo itsumo
ต่อมา เมื่อมาถึงในสมัยเฮอัน มีการสร้างอักษรฮิรางานะและคาตากานะขึ้น โดยสัญลักษณ์ซ้ำคำ〻ก็ถูกนำมาใช้กับอักษรฮิรางานะและคาตากานะด้วยเช่นกัน แต่ถูกย่อกลายเป็นตัวゝโดยให้ใช้กับฮิรางานะ และตัวヽใช้กับคาตากานะ
สัญลักษณ์ซ้ำคำแบบต่าง ๆ ในภาษาญี่ปุ่น
สัญลักษณ์ซ้ำคำในภาษาญี่ปุ่นมีหลายแบบหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีชื่อเรียกและวิธีการใช้งานที่แตกต่างกันไป เราลองไปดูกันค่ะ
1. 々
々 มีชื่อเรียกว่า dou no jiten (同の字点) บ้างก็เรียกว่า noma (ノマ) หรือ nomaten (ノマ点) เนื่องจากเหมือนตัว no (ノ) กับตัว ma (マ) มารวมกัน ใช้ในการซ้ำคันจิตัวเดิม เป็นสัญลักษณ์ซ้ำคำที่พบเห็นได้มากที่สุด เช่น
- hibi (日々) - ifuudoudou (威風堂々) - tenten (点々) - shishisonson (子々孫々)
อีกทั้งยังสามารถใช้กับชื่อคนได้ เช่น
- sasaki (佐々木) - nanako (奈々子)
2. ゝ และ ゞ
ゝและゞ ทั้ง 2 ตัวนี้มีชื่อเรียกว่า ichi no jiten (一の字点) หรือ hitotsuten (一つ点) ใช้ในการซ้ำฮิรางานะตัวเดิม แต่ถ้าหากมีเครื่องหมาย tenten หรือเสียงขุ่น (ขีด 2 ขีดเล็ก ๆ ที่มุมขวาบน) ฮิรางานะที่เป็นตัวซ้ำก็ต้องมีเครื่องหมาย tenten ด้วย เช่น
- kokoro (こゝろ = こころ) - mamagoto (まゝごと = ままごと) - tsuduku (つゞく = つづく) - isuzu jidousha (いすゞ = いすず 自動車)
อีกทั้งยังสามารถใช้กับชื่อคนได้ เช่น
- momoko (もゝ子) - suzuko (すゞ子)
3. ヽ และ ヾ
ヽและヾ ทั้ง 2 ตัวนี้มีชื่อเรียกว่า ichi no jiten (一の字点) หรือ hitotsuten (一つ点) ใช้ในการซ้ำคาตากานะตัวเดิม แต่ถ้าหากมีเครื่องหมาย tenten หรือเสียงขุ่น (ขีด 2 ขีดเล็ก ๆ ที่มุมขวาบน) คาตากานะที่เป็นตัวซ้ำก็ต้องมีเครื่องหมาย tenten ด้วย เช่น
- susuki (スヽキ = ススキ) - tatami (タヽミ = タタミ) - shijimi (シヾミ = シジミ) - suzume (スヾメ = スズメ)
4. 〃
〃 มีชื่อเรียกว่า nonoten (ノノ点) หรือ nono jiten (ノノ字点) หรือ onajiku kigou (同じく記号) ใช้ในการซ้ำประโยคหรือวลีเดิมจากบรรทัดบน ใช้กับตารางหรือการเขียนที่เรียงกันเป็นข้อลงมา เช่น
no. | อาหาร (料理) | ผลไม้ (くだもの) |
---|---|---|
1 | ซูชิ (すし) | แอปเปิ้ล (りんご) |
2 | ราเม็ง (ラーメン) | 〃 |
3 | แกงกะหรี่ (カレー) | 〃 |
4 | 〃 | ส้ม (みかん) |
5 | 〃 | กล้วย (バナナ) |
5. 仝
仝 มีชื่อเรียกว่า dou (どう) ใช้ในการซ้ำประโยคหรือวลีเดิมจากข้อความด้านบน คล้ายกับ 〃 แต่จะใช้ในความหมายว่า “ดังเช่นด้านบน” มักใช้ในเอกสารทางการ เช่น
Satsumahan (薩摩藩) SaigouTakamori (西郷隆盛)
dou (仝) Ookubo Toshimichi (大久保利通)
6. 〱 และ 〲
〱และ 〲 มีชื่อเรียกว่า ku no jiten (くの字点) มีลักษณะคล้ายตัว く ของฮิรางานะ ส่วนมากพบเห็นได้ในการเขียนภาษาญี่ปุ่นแบบแนวตั้ง ใช้ในการซ้ำคำเดิมที่มีอักษรตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป แต่ถ้าหากมีเครื่องหมาย tenten หรือเสียงขุ่น (ขีด 2 ขีดเล็ก ๆ ที่มุมขวาบน) ตัวอักษรแรกที่เป็นตัวซ้ำก็ต้องมีเครื่องหมาย tenten ด้วย เช่น
วิธีพิมพ์สัญลักษณ์ซ้ำคำ
สำหรับวิธีการพิมพ์สัญลักษณ์ซ้ำคำ สามารถพิมพ์คำว่า onaji (おなじ) หรือ kurikaeshi (くりかえし) หรือ dou (どう) แล้วกดสเปซบาร์ ก็จะปรากฎสัญลักษณ์ขึ้นมาให้เลือกใช้ได้ ในสมาร์ทโฟนก็สามารถพิมพ์ได้เช่นกัน แต่สำหรับสัญลักษณ์ 〱 และ 〲 ยังไม่มีข้อมูลวิธีการพิมพ์ในสมาร์ทโฟน จึงสามารถพิมพ์ได้เฉพาะบนคอมพิวเตอร์เท่านั้น
วิธีการพิมพ์สัญลักษณ์ 〱 และ 〲 แบบแนวตั้ง
ในการพิมพ์เป็นแนวตั้ง ก็สามารถพิมพ์คำว่า onaji (おなじ) หรือ kurikaeshi (くりかえし) หรือ dou (どう) แล้วกดสเปซบาร์ ก็จะปรากฎสัญลักษณ์ขึ้นมา ให้เลือกเฉพาะเส้นแทยงส่วนบนก่อน จากนั้นพิมพ์หาสัญลักษณ์อีกครั้งแล้วเลือกเส้นแทยงส่วนล่าง ก็จะประกอบกันได้เป็นตัว 〱 ดังนี้
ทั้งนี้ สัญลักษณ์ 〱 และ 〲 เป็นอักขระที่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม กล่าวคือจะอ่านได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ ทำให้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนบางรุ่นอาจจะไม่สามารถอ่านอักขระตัวนี้ได้ ด้วยเหตุนี้คนส่วนมากจึงไม่นิยมใช้สัญลักษณ์นี้
ข้อควรระวังในการใช้สัญลักษณ์ซ้ำคำ
- สัญลักษณ์ซ้ำคำถูกกำหนดให้เป็นอักขระที่ห้ามใช้เป็นตัวแรกของบรรทัด ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์บนคอมพิวเตอร์หรือการเขียนลงในกระดาษ เนื่องจากอาจทำให้ประโยคดูไม่บาลานซ์ อ่านยากหรืออ่านผิดได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสัญลักษณ์อื่น ๆ เช่น 、。!?เป็นต้น
- สัญลักษณ์ซ้ำคำ ヽ,ヾ,ゝ,ゞ,〃,仝,〱,〲 จะไม่ใช้ในหนังสือพิมพ์หรือตำราเรียน ยกเว้นชื่อเฉพาะ เช่น isuzu jidousha (いすゞ自動車), momoko (もゝ子)
- หนังสือพิมพ์หรือตำราเรียนจะใช้สัญลักษณ์ซ้ำคำแค่เพียงตัว 々
ในเอกสารเก่าแก่สามารถพบเห็นการใช้สัญลักษณ์ซ้ำคำได้มากมายหลายแบบ แต่ในปัจจุบันมีเพียงตัว 々 ที่นิยมใช้กันเป็นส่วนมากจนคุ้นหน้าคุ้นตา ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเหตุใดตัวอื่น ๆ จึงถูกใช้น้อยลง แต่เราก็สามารถเรียนรู้ไว้เป็นความรู้ติดตัว เผื่อว่าไปเจอสัญลักษณ์เหล่านี้ที่ไหนสักแห่ง เราก็จะสนุกกับการอ่านภาษาญี่ปุ่นมากขึ้นด้วยนะคะ!
สรุปเนื้อหาจาก jpnculture