งานวิวาห์จิ้งจอก

ถ้าพูดถึงฝนที่ให้ความรู้สึกแปลกที่สุดเพื่อนๆ จะนึกถึงฝนแบบไหนกันเอ่ย? คำตอบอันดับต้น ๆ คงไม่พ้น “ฝนตกแดดออก” หรือภาษาญี่ปุ่นคือ “โซบาเอะ (日照雨)” แน่นอน ซึ่งลักษณะของฝนตกแดดออกก็ตรงตามชื่อของมัน นั่นคือฝนที่ตกขณะที่ยังมีแดดอยู่ ผิดกับฝนประเภทอื่นที่จะตกในบรรยากาศอึมครึมของเมฆฝน ที่น่าสนใจคือคนญี่ปุ่นมีชื่อเรียกพิเศษสำหรับฝนชนิดนี้ว่า “งานวิวาห์จิ้งจอก (狐の嫁入り)” เริ่มสงสัยกันแล้วใช่ไหมว่าทำไม? ตามไปดูที่มากันเลยค่ะ

ถ้าพูดถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับจิ้งจอกในวัฒนธรรมญี่ปุ่นแล้วนับว่ามีเยอะมากจนนับไม่ไหว ซึ่งภาพลักษณ์ของจิ้งจอกในเรื่องเล่าส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวละครที่หลอกมนุษย์ด้วยกลต่างๆ เช่นกันแปลงร่างและสร้างภาพลวงตา โดยสรุปคือมีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เรื่องเล่าที่มาของชื่อเรียก “งานวิวาห์จิ้งจอก” นี้ ถือว่าเป็นเรื่องเล่าที่นำเสนอภาพลักษณ์ของจิ้งจอกในแบบที่ต่างออกไป ซึ่งในบทความนี้เราจะมาดูเรื่องเล่า 2 เรื่อง 2 รสกันค่ะ

เรื่องแรก: นางจิ้งจอกถูกใช้เป็นเครื่องสังเวย

จิ้งจอก

ในอดีตมีหมู่บ้านแห่งหนึ่งกำลังเจอกับภัยแล้งอย่างหนัก ชาวบ้านจึงตกลงกันว่าจะหาเครื่องสังเวยมาถวายแด่เทพเจ้าเพื่อขอฝน โดยวางแผนว่าจะหลอกจับจิ้งจอกมาใช้สังเวย และที่ใกล้ ๆ หมู่บ้านนี้เองก็มีนางจิ้งจอกตัวหนึ่งที่ปลอมเป็นมนุษย์ผู้หญิงอาศัยอยู่ ชาวบ้านจึงส่งชายหนุ่มคนหนึ่งไปขอจิ้งจอกตัวนั้นแต่งงานตามแผนที่วางไว้ โดยมีแผนว่าเมื่อถึงวันส่งตัวจะจับจิ้งจอกตัวนั้นฆ่าสังเวย แต่ในระหว่างนั้นทั้งจิ้งจอกและชายหนุ่มต่างก็มีใจให้กันขึ้นมาจริง ๆ และแม้ว่าจิ้งจอกจะรู้ถึงแผนการของชาวบ้านแต่ก็ยังยอมสละตัวเองเป็นเครื่องสังเวยเพื่อความอยู่รอดของหมู่บ้าน ว่ากันว่าน้ำตาของนางจิ้งจอกนั้นได้กลายเป็นฝนเม็ดใหญ่ที่ตกลงมาช่วยหมู่บ้านเอาไว้

เรื่องที่สอง: ขบวนเจ้าสาวของจิ้งจอกซ่อนตัวจากมนุษย์

จิ้งจอก

เรื่องนี้น่าจะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายพอสมควร เรื่องนี้มีอยู่ว่ามีขบวนเจ้าสาวของจิ้งจอกที่ต้องเดินทางผ่านหมู่บ้านของมนุษย์ในตอนกลางวัน และเพื่อไม่ให้ชาวบ้านจับได้ ขบวนจิ้งจอกจึงทำพิธีขอฝนให้ฝนตกแค่เฉพาะรอบ ๆ ขบวนเพื่อใช้พรางตัวระหว่างเดินทาง จึงเป็นที่มาของปริศนาที่ว่าทำไมฝนตกทั้งที่อากาศแจ่มใสอยู่

นอกจากทั้งสองเรื่องนี้แล้วยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวกับฝนแต่ก็เกี่ยวกับงานวิวาห์ของจิ้งจอก เล่ากันว่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีธรรมเนียมเดินขบวนเจ้าสาวในตอนกลางคืนโดยจะจุดโคมไฟเวลาเดินขบวน วันหนึ่งมีประกาศเกี่ยวกับการเดินขบวนเจ้าสาวในหมู่บ้าน แต่พอถึงคืนที่กำหนดมีแสงโคมไฟปริศนาส่องแสงอยู่ในป่า และแสงโคมนั้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีใครเห็นคนเดินในขบวนนั้นแม้แต่คนเดียว มีเพียงโคมไฟลอยเป็นขบวนอยู่ในป่า ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าเป็นขบวนของจิ้งจอก

อีกเหตุผลหนึ่งที่คาดว่าเป็นที่มาของชื่อเรียกฝนชนิดนี้ว่า “งานวิวาห์จิ้งจอก” นั้นน่าจะมาจากวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่เชื่อว่าจิ้งจอกเป็นสัตว์ที่มีความเชื่อมโยงกับเทพเจ้า ดังนั้นฝนที่เปรียบเสมือนพรจากเทพเจ้าจึงถูกนำมาผูกกับจิ้งจอกไปโดยปริยายค่ะ

ฝนตกแดดออก

ไม่ว่าฝนตกแดดออกจะเกิดจากน้ำตาของนางจิ้งจอกหรือเป็นการพรางตัวของขบวนจิ้งจอกจริงหรือไม่ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วฝนชนิดนี้ถือเป็นฝนที่ให้ความรู้สึกสดชื่นและสบายใจทุกครั้งที่ได้เจอ

นอกจากนี้เรื่องเล่าเกี่ยวกับงานวิวาห์จิ้งจอกยังมีอีกมากตามจังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่น เพื่อน ๆ ที่สนใจสามารถเข้าไปค้นหาอ่านกันได้ที่เว็บไซต์ Nichibun (ภาษาญี่ปุ่น) ค่ะ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า