
เริ่มแรกภาษาญี่ปุ่นยังไม่มีตัวอักษร ตัวอักษรถูกสร้างขึ้นในภายหลังเพื่อใช้ในการเขียนบันทึกภาษา และไม่ใช่แค่ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ทุกภาษาล้วนก็ไม่ได้มีตัวอักษรมาตั้งแต่ต้นเช่นกัน มีทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับจำนวนภาษาที่ปรากฎอยู่บนโลกในปัจจุบัน โดยประมาณไว้ตั้งแต่ 3,000 – 8,000 ภาษา ขึ้นอยู่กับมาตรฐานที่ใช้ในการนับ แต่ไม่ว่าจะนับแบบใดเราก็จะเห็นได้ว่าบนโลกเรามีจำนวนภาษาอยู่ค่อนข้างมาก แต่มีเพียงราว 400 ภาษาที่มีตัวอักษร!
แล้วภาษาจะมีตัวอักษรขึ้นมาได้อย่างไร ? การกำเนิดตัวอักษรสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธีคือ การสร้างตัวอักษรขึ้นมาใหม่เอง และการยืมตัวอักษรจากภาษาอื่นมาใช้ ซึ่งหลาย ๆ ภาษาที่มีตัวอักษรในปัจจุบันก็เริ่มมาจากการยืมตัวอักษรจากภาษาอื่น ในกรณีของภาษาญี่ปุ่น เริ่มต้นด้วยการยืมตัวอักษรจากภาษาอื่นมาใช้ซึ่งก็คืออักษรจีน โดยจะเรียกว่า “คันจิ”
นอกเหนือจากการใช้คันจิแล้ว ชาวญี่ปุ่นยังสร้างตัวอักษรฮิรางานะและคาตาคานะโดยมีพื้นฐานมาจากคันจิอีกด้วย ทำให้ในภาษาญี่ปุ่นสมัยใหม่ใช้ทั้งคันจิและอักษรคานะผสมกันในประโยค นับว่าหาได้ยากยิ่งที่จะมีภาษาที่ใช้ตัวอักษร 2-3 ชุดร่วมกันแบบนี้
ศตวรรษที่ 1 : ตราประทับทองคำและเหรียญเงิน
คาดว่าชาวญี่ปุ่นพบการใช้คันจิเป็นครั้งแรกราวศตวรรษที่ 1 จากตราประทับทองคำ (ขุดพบที่เกาะชิกะจิมะ จังหวัดฟุกุโอกะ) และเหรียญเงิน (ขุดพบที่ซากโบราณสถานชิเกโนดัน จังหวัดนางาซากิ) ทั้งสองสิ่งถูกสร้างขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ตราประทับทองคำมีตัวอักษรเขียนว่า “漢委奴国王” ส่วนเหรียญเงินมีตัวอักษรเขียนว่า “貸泉”
ศตวรรษที่ 5 : ดาบเหล็กและกระจกทองแดง
ประมาณศตวรรษที่ 5 บนดาบเหล็กและกระจกทองแดงที่ผลิตในญี่ปุ่นมีการสลักชื่อคนกับชื่อสถานที่ไว้ด้วยคันจิ อย่างบนดาบเหล็กที่ขุดพบที่อินาริยามะโคะฟุน จังหวัดไซตามะ มีคำจารึกเป็นชื่อคนว่า “乎獲居” (wowake) กับ “意富比垝” (ohohiko) และชื่อสถานที่ว่า “斯鬼” (shiki) นอกจากนี้บนดาบเหล็กที่ขุดพบที่เอตะฟุนายามะโคะฟุน จังหวัดคุมาโมโตะ และกระจกทองแดงที่สืบทอดมาจากศาลเจ้าสุมิดะฮาจิมัน จังหวัดวากายามะ ก็มีการสลักชื่อคนกับชื่อสถานที่เป็นคันจิไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การผลิตสิ่งของเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับผู้ที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่
ศตวรรษที่ 6-7 : พุทธศาสนา ลัทธิเต๋าและขงจื๊อ
จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 6-7 ญี่ปุ่นเริ่มรับเอาพุทธศาสนา ลัทธิเต๋าและขงจื๊อมาจากจีนแผ่นดินใหญ่และคาบสมุทรเกาหลี แต่การจะเรียนรู้แนวคิดและหลักคำสอนเหล่านี้ จำเป็นต้องมีความสามารถในการอ่านบันทึกต่าง ๆ ที่เขียนด้วยภาษาจีนซะก่อน ทำให้ในศตวรรษที่ 7 เริ่มมีประชากรที่รู้หนังสือ มีความสามารถในการอ่านและเขียนคันจิเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผู้ที่กลับมาจากจีนราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง และนักศึกษาวรรณกรรมจีนจากมหาวิทยาลัยหลวงเองก็มีเช่นกัน
สมัยนารา : พระใหญ่ไดบุตสึและการคัดลอกพระสูตร
เมื่อเข้าสู่สมัยนารา พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างมากดังจะเห็นได้จากการเริ่มก่อสร้างพระใหญ่ไดบุตสึโดยจักรพรรดิโชมุ รวมถึงจัดการคัดลอกพระสูตรจำนวนมากไปด้วย อีกทั้งยังมีการจัดตั้งสำนักคัดลอกพระสูตรที่ดำเนินการโดยรัฐบาล มีเจ้าหน้าที่คัดลอกพระสูตรโดยเฉพาะที่เรียกว่า shakyoushou (写経生) ทำหน้าที่คอยคัดลอกพระสูตรที่เขียนด้วยคันจิ
ปลายศตวรรษที่ 7 ถึงปลายศตวรรษที่ 8 : หนังสือรวมบทกวีมันโยชู
ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 7 จนถึงปลายศตวรรษที่ 8 มีการรวบรวมมันโยชู หนังสือรวมบทกวีวากะที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น มีฉันทลักษณ์แบบ 5-7-5-7-7 บทกวีจะเขียนด้วยคันจิทั้งหมด แต่จะเป็นระบบมังโยงานะ ซึ่งเป็นระบบการเขียนสมัยโบราณที่ใช้ตัวอักษรจีนที่มีเสียงใกล้เคียงเสียงภาษาญี่ปุ่น โดยไม่คำนึงถึงความหมายของอักษรจีนตัวนั้น ตัวอย่างเช่น
余能奈可波 牟奈之伎母乃等 志流等伎子 伊与余麻須万須 加奈之可利家理
(よのなかは むなしきものと しるときし いよよますます かなしかりけり)
(Yononakaha Munashikimonoto Shirutokishi Iyoyomasumasu Kanashikarikeri)
จากวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์เหล่านี้จะเห็นได้ว่าก่อนที่ชาวญี่ปุ่นจะเริ่มสร้างตัวอักษรฮิรางานะและคาตาคานะขึ้นมา ตัวคันจิมีบทบาทสำคัญอย่างมากหลาย ๆ ด้านในสมัยนาราจนอาจกล่าวได้ว่าเป็น “ยุคสมัยของคันจิ” เลยทีเดียว
สรุปเนื้อหาจาก kotobaken