อาหารฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารจานด่วนอย่างแฮมเบอร์เกอร์และโดนัท ถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงต้นยุค 70 ทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาในการตระเตรียมอาหารมากนัก จัดว่าสะดวกมาก ๆ ในช่วงเวลาเร่งรีบ ในทุกธุรกิจย่อมมีคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการทำงาน ธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดก็เช่นกัน เราลองไปดูคำที่น่าสนใจกันค่ะ
ファストフード หรือ ファーストフード คำไหนกันแน่ที่ถูกต้อง ?
ในภาษาญี่ปุ่น คำว่า Fast Food สามารถเขียนได้ 2 แบบโดยใช้ตัวคาตาคานะ คือ ファストフード (เสียงอ่าน : fasuto fuudo) กับ ファーストフード (เสียงอ่าน : faasuto fuudo) ต่างกันที่การลากเสียงยาวในคำว่า ฟาส แล้วแบบไหนล่ะคือคำที่ถูกต้อง ? ปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะใช้ทั้ง 2 แบบ แต่คำว่า ファーストフード จะเป็นที่รู้จักมากกว่า และอย่างที่ทราบกันดีว่า Fast ในภาษาอังกฤษหมายถึงเร็ว ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นจะเขียนว่า ファスト ส่วนคำว่า First ในภาษาญี่ปุ่นจะเขียนว่า ファースト ดังนั้นการใช้คำว่า ファーストフード จึงไม่ถูกต้องนัก
แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีเรื่องของสำเนียงภาษาอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กล่าวคือ คำว่า Fast สำเนียงบริติชจะออกเสียงยาวกว่า ส่วนสำเนียงอเมริกันจะออกเสียงสั้นกว่า นอกจากนี้ ตามสื่อต่าง ๆ อย่างหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์มักใช้คำว่า ファストフード ซึ่งมีจำนวนตัวอักษรน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะออกเสียงแบบไหนหรือเขียนอย่างไรก็ไม่สำคัญ ขอแค่ให้สื่อความหมายของคำว่า Fast Food ไว้ได้ก็เพียงพอ
“Serving Time” ที่ดี ต้องเร็วเข้าไว้
สิ่งแรกที่ลูกค้าต้องทำเมื่อเข้าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดก็คือการไปเลือกเมนูที่เคาท์เตอร์ บางร้านจะเรียกว่า “カウンターリーフレット” (Counter Leaflet) หรือก็คือใบเมนูบนเคาน์เตอร์ ใบเมนูนี้ ในบริษัทจะใช้คำว่า “お品書き” (Oshinagaki) แต่ชื่อที่เรียกกันทั่วไปก็คือคำว่า เมนู นั่นเอง
เมื่อเลือกเมนูได้แล้วก็สั่งที่พนักงานและสามารถรอรับได้ทันที ช่วงเวลาตั้งแต่รับออเดอร์จากลูกค้าจนถึงการส่งอาหารให้ลูกค้า จะเรียกว่า “サービングタイム” (Serving Time) หรือบางครั้งคำว่า “ウェイト” (Wait) ก็ใช้ในความหมายเดียวกัน แต่จะให้อารมณ์ในเชิงที่ว่า “ให้ลูกค้ารอ” อารมณ์ของคำจึงแตกต่างกันเล็กน้อย
การให้บริการอย่างรวดเร็วคือหัวใจของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ดังนั้นเวลาในการให้บริการที่นานกว่าเดิม อย่างเช่นไม่มีสต็อกสินค้า อาจนำไปสู่การถูกร้องเรียนและทำให้ลูกค้าหายได้ อีกปัญหาที่พบได้บ่อยในการซื้อแบบ Take Out หรือ Drive Thru ก็คือการใส่ของไปให้ไม่ครบหรือลืมใส่ ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “入れ忘れ” (Irewasure)
ขนมปังก็มีหลายชนิดนะ
ขนมปังที่เสิร์ฟในร้านกาแฟหรือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดก็มีหลายประเภทหลายชนิดถึงแม้ว่าจะเป็นขนมอบเหมือนกันก็ตาม ขนมปังกลม ๆ ที่มักใช้สำหรับเบอร์เกอร์ เรียกว่า “Buns” หรือภาษาญี่ปุ่นคือ “丸パン” (Maru Pan) ซึ่งจะมีด้านล่างแบนและด้านบนกลมเหมือนโดม ส่วน “Muffin” หรือ “マフィン” (Mafin) ขนมที่จะดูเหมือนขนมปังก็ไม่ใช่ เหมือนเค้กก็ไม่เชิง แต่เข้ากันได้ดีกับกาแฟ ส่วน “Scone” หรือ “スコーン” (Sukoon) จะเข้ากันได้ดีกับผลไม้
ในญี่ปุ่น “Biscuit” หรือ “ビスケット” (Bisuketto) โดยทั่วไปมักถูกมองว่าเป็นขนมอบที่มีความหวานน้อย แต่สำหรับทางอเมริกาเหนือ จะเป็นขนมปังเนื้อนุ่มที่ไม่มีน้ำตาล อีกทั้ง ถ้าเป็น Biscuit ในอังกฤษและไอร์แลนด์ คนญี่ปุ่นจะมองว่าเป็น Cookie นอกจากนี้ยังมีขนมปังที่เรียกว่า “Sub” หรือ “サブ” (Sabu) มีลักษณะเป็นขนมปังชิ้นยาว คำว่า Sub มาจากคำว่า Submarine ที่แปลว่าเรือดำน้ำ เนื่องจากขนมปังชนิดนี้จะยาวคล้ายกับเรือดำน้ำค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก maidonanews