(เผยแพร่ครั้งแรก 6 ก.พ. 2022) ในซีรีส์ญี่ปุ่นหรือในมังงะและอนิเมะ เรามักจะเห็นฉากที่ตัวละครในเรื่องพอเลิกเรียนแล้วก็ต้องไปเข้าชมรม ซึ่งชมรมเหล่านี้ก็อาจจะมีทั้งชมรมเชิงวัฒนธรรมหรือชมรมกีฬาก็ได้ หรืออาจเป็นทั้ง 2 แบบคือเป็นชมรมกีฬาที่เป็นกีฬาเชิงวัฒนธรรมด้วย คือกีฬาประจำชาติญี่ปุ่น อะไรลักษณะนั้น แต่สิ่งที่ผู้เขียนเคยข้องใจมาตลอด ก็คือทำไมกีฬาบางประเภทในภาษาญี่ปุ่นถึงต้องเรียกด้วยภาษาอังกฤษ ในขณะที่กีฬาบางประเภทกลับจะเรียกด้วยภาษาญี่ปุ่น วันนี้เลยไปค้นคว้ามาเล่าสู่กันฟังดังนี้
จุดเปลี่ยนสำคัญคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
หากจะแบ่งกีฬาออกเป็น กีฬาสากลที่ประเทศอื่น ๆ เล่นกัน และ กีฬาประจำชาติญี่ปุ่น บอกได้คำเดียวว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นส่งผลกับกีฬาทั้ง 2 ประเภทอย่างมาก
สำหรับกีฬาสากลนั้น ส่วนใหญ่จะถ่ายทอดมาจากตะวันตกเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (คือประมาณช่วงต้น ๆ ปี 190X ไปจนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) แต่เดิมกีฬาทุกประเภทมีคำเรียกญี่ปุ่นและมีอักษรคันจิเกือบทั้งหมด เช่น ฟุตบอลใช้อักษร 蹴球 (ลูกกลมที่ไว้เตะ) บาสเก็ตบอลใช้อักษร 籠球 (ลูกกลมตะกร้า) วอลเลย์บอลใช้อักษร 排球 (ลูกกลมแหวกทาง) เป็นต้น แต่เนื่องจากกีฬาเหล่านี้ในยุคแรก ๆ นั้นความนิยมยังไม่มากนัก ยกเว้นแค่กีฬา 2 ชนิด คือเบสบอลที่เข้ามาในญี่ปุ่นตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1871 คือเข้ามาก่อนกีฬาประเภทอื่นหลายทศวรรษ ทำให้มีความนิยมแพร่หลายในญี่ปุ่นก่อนกีฬาชนิดอื่น ๆ และกีฬาปิงปองที่ค่อนข้างฮิตในญี่ปุ่นมานานจนถึงขั้นมีการพัฒนาอุปกรณ์และโต๊ะปิงปองแบบฉบับญี่ปุ่นเองขึ้น ทำให้เบสบอลและปิงปองเลยกลายเป็นกีฬาที่ยังคงนิยมเรียกด้วยภาษาญี่ปุ่นและมีอักษรคันจิมาจนกระทั่งปัจจุบัน เบสบอลจะเรียกว่า ยะคิว (野球) ส่วนปิงปองจะเรียกว่า ทัคคิว (卓球)
ส่วนกีฬาสากลประเภทอื่นนั้น หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 (ค. ศ. 1939-1945) และประเทศย่อยยับอย่างหนัก อเมริกาเข้ามาวางรากฐานของญี่ปุ่นให้ใหม่ทั้งหมด ทำให้กีฬาสากลหลายประเภทที่เคยไม่ฮิตในระดับเกิดเป็นกระแส (เพราะช่วงก่อนสงครามโลกเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นต่อต้านตะวันตกด้วย ถึงขั้นห้ามใช้ภาษาอังกฤษในคำศัพท์หลาย ๆ คำก็มี) กลับมาฮิตอีกครั้งด้วยอิทธิพลของอารยธรรมอเมริกัน กีฬาสากลพวกฟุตบอลก็เริ่มหันมาเรียกด้วยภาษาอังกฤษแบบอเมริกันว่าซ็อกเกอร์ (サッカー) และกีฬาสากลประเภทอื่น ๆ ก็เลยเรียกทับศัพท์ด้วยภาษาอังกฤษมากขึ้นผ่านการใช้อักษรคะตะกะนะเป็นสื่อกลาง อีกทั้งมีกระแสการใช้กีฬาเพื่อกระตุ้นขวัญและกำลังใจของคนในชาติที่หดหู่สิ้นหวังหลังสงคราม รัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานหลายภาคส่วนจึงหันมารณรงค์ใช้กีฬาเพื่อรวมใจคนในชาติ มีผลให้กีฬาทุกประเภทเกิดเป็นระบบองค์กรขึ้นและสืบเนื่องการเล่นกีฬาแบบวิชาชีพมาจนปัจจุบัน
อีกด้านหนึ่งคือ กีฬาประจำชาติญี่ปุ่น แต่เดิมก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น กีฬาเหล่านี้ยังไม่ถูกนับว่าเป็นกีฬา เพราะใกล้เคียงกับศิลปะการต่อสู้ หรือศิลปะประจำชาติ มากกว่าจะเป็นกีฬา แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มรณรงค์เรื่องกีฬา ทำให้ศิลปะประจำชาติเหล่านี้ก็ค่อย ๆ เป็นที่ยอมรับว่าเป็นกีฬามากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งมีการใช้การบริหารจัดการแบบตะวันตกในการวางมาตรฐานศิลปะเหล่านี้ ประกอบกับการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วย จึงทำให้ศิลปะประจำชาติเหล่านี้หลายประเภทกลายเป็นกีฬาขึ้นมา เช่น ยูโด (柔道) คาราเต้ (空手) เคนโด้ (剣道) คิวโด (弓道) บุโด (武道) คะคุโทงิ (格闘技)
สถานการณ์ของกีฬาประเภทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นปัจจุบัน
ระบบชมรมกีฬาของญี่ปุ่นตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยนั้นค่อนข้างจริงจังมาก หรือแม้แต่ระดับบริษัทก็เข้มงวดพอสมควร มีการเช็คชื่อ มีระบบโค้ช ระบบฝึกซ้อมอย่างจริงจัง ราวกับเป็นทีมชาติ ส่วนในระดับนักกีฬาอาชีพก็มีการสร้างระบบนิเวศน์ของธุรกิจกีฬาในญี่ปุ่น มีการสร้างอาชีพต่าง ๆ ในวงการกีฬา ไม่ใช่เพียงแค่สำหรับนักกีฬาเท่านั้น แต่มีอาชีพอื่น ๆ เกี่ยวกับกีฬาอีกมากมาย เช่น โค้ช เทรนเนอร์ นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา นักวิจัยด้านอุปกรณ์การกีฬา แพทย์เฉพาะทางด้านกีฬา สื่อมวลชนที่เน้นทำข่าววงการกีฬา ฯลฯ ซึ่งระบบนิเวศน์ของธุรกิจกีฬาเหล่านี้แข็งแกร่งพอที่จะทำให้เกิดเป็นอาชีพได้จริง ในญี่ปุ่นจึงไม่แปลกเวลามีใครบอกอาชีพตัวเองว่าเป็น “นักสู้” หรือ “นักดาบ” เพราะมันคืออาชีพ ๆ หนึ่งจริง ๆ ที่นอกเหนือไปกว่าการเป็นนักฟุตบอล หรือ นักบาสเก็ตบอล (ถ้าเป็นเมืองไทย ใครบอกว่ามีอาชีพเป็นนักสู้ หรือ นักดาบ คนคงจะงงกันไม่น้อย)
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas