ภาษาญี่ปุ่น

ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีคำทักทายหรือคำกล่าวที่พูดในชีวิตประจำวันมากมายหลายคำ นอกจากคำทักทายทั่วไปอย่าง โอฮาโย คอนนิจิวะ ก็ยังมีคำกล่าวที่ใช้ในสถานการณ์อื่นอย่าง อิทาดาคิมัส ที่พูดก่อนทานอาหาร โกจิโซซามะ ที่พูดหลังทานอาหาร อิตเตะคิมัส ที่พูดก่อนออกจากบ้าน ใครชอบดูหนัง ซีรีส์ญี่ปุ่น หรืออนิเมะ จะต้องคุ้นเคยกับคำเหล่านี้แน่นอน บทความนี้เราจะมาอธิบายความเป็นมาของคำกล่าวเหล่านี้กัน บอกเลยว่าแต่ละคำน่าสนใจมาก ๆ

1. Arigatou (ありがとう)

ภาษาญี่ปุ่น

คำที่แสดงถึงความรู้สึกขอบคุณ เขียนเป็นคันจิว่า 有難う เดิมทีเป็นคำที่แปลงมาจากคำในพุทธศาสนาว่า arigatashi (有り難し) ซึ่งมีความหมายว่า “การมีอยู่ที่พบได้ยากยิ่ง” เป็นคำแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นก็กลายเป็นคำพูดแสดงความขอบคุณสำหรับเหตุการณ์ที่หายาก เกิดได้ยากและมีค่า ต่อมาก็กลายเป็นคำพูดแสดงความขอบคุณทั่วไปที่ใช้กันในปัจจุบัน

2. Omedetou (おめでとう)

ภาษาญี่ปุ่น

คำที่แสดงความรู้สึกยินดีในโอกาสอันเป็นมงคล ผันมาจากคำว่า medetai (めでたい) ซึ่งประกอบด้วยคำว่า medu (愛づ) ผันเป็น mede (めで) รวมกับคำว่า itashi (甚し) เป็น medeitashi (めでいたし) แล้วย่อเหลือเพียงแค่ medetai (めでたい)

*คำว่า medu (愛づ) หมายถึงการชื่นชม เอ็นดู ยกย่อง สรรเสริญ
*คำว่า itashi (甚し) หมายถึงอย่างมาก อย่างยิ่ง อย่างสูง

medetai (めでたい) จึงมีหมายความว่า ชื่นชมอย่างมาก ยกย่องอย่างยิ่ง

จากนั้นก็ผันเป็น medetou (めでとう) แล้วเติม o (お) ไว้ข้างหน้าเพื่อความสุภาพ ก็จะกลายเป็น omedetou (おめでとう) ที่เราคุ้นเคยกัน เขียนเป็นคันจิได้ว่า 御目出度う หรือ 御芽出度う ซึ่งทั้งสองแบบนี้เป็นอาเทจิ (คันจิที่ใช้แค่เสียงโดยไม่คำนึงถึงความหมาย) แต่ถึงแม้จะใช้อาเทจิ ก็ยังสามารถตีความหมายจากตัวคันจิได้ว่า “ยินดีที่มีโชคดี, ยินดีที่สมหวัง”

3. Ohayougozaimasu (おはようございます)

ภาษาญี่ปุ่น

คำทักทายตอนเช้า ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจากละครคาบูกิ เนื่องจากนักแสดงคาบูกิต้องใช้เวลานานในการแต่งตัวและแต่งหน้า นักแสดงจึงต้องรีบมาที่โรงละครให้เร็วเพื่อเตรียมตัวก่อนการแสดงจะเริ่ม ทำให้ทีมงานเบื้องหลังเริ่มใช้คำทักทายนักแสดงเพื่อแสดงความซาบซึ้งใจ อย่างเช่น

ohayai otsuki degozaimasu (お早いお着きでございます)
ohayaku kara gokurousamadesu (お早くからご苦労様です)

= ขอบคุณที่มาถึงเร็ว

และต่อมาก็กลายเป็น ohayougozaimasu (おはようございます) ที่ใช้ในความหมายว่า สวัสดีตอนเช้า ซึ่งถ้าพูดย่อ ๆ ก็จะเหลือเพียงแค่ ohayou (おはよう)

3. Konnichiha (こんにちは)

ภาษาญี่ปุ่น

คำทักทายตอนกลางวัน แปลตรงตัวได้ว่า “วันนี้” ทฤษฎีส่วนมากกล่าวว่าเดิมทีมาจากคำทักทายที่เป็นประโยคยาว เช่น

konnichi ha gokigen ikagadesuka (今日はご機嫌いかがですか) วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
konnichi ha ii otenki desune (今日はいいお天気ですね) วันนี้อากาศดีจังเลยนะ

จนต่อมาก็ถูกตัดเหลือเพียงแค่ konnichiha (こんにちは)
นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีว่า หลังจากตัดส่วนหลังของ 今日は ไป ในหนังสือเรียนสมัยเมจิก็เริ่มนิยมเขียนเป็นตัวฮิรากานะว่า こんにちは แทน

4. Konbanha (こんばんは)

ภาษาญี่ปุ่น

คำทักทายตอนเย็นหรือตอนกลางคืน แปลตรงตัวได้ว่า “คืนนี้” กรณีเดียวกับ konnichiha คือเดิมทีมาจากคำทักทายที่เป็นประโยคยาว เช่น

konban ha tsuki ga kirei desune (今晩は月が綺麗ですね) คืนนี้พระจันทร์สวยดีนะ
konban ha sukoshi haemasune (今晩は少し冷えますね) คืนนี้อากาศเย็นนิดหน่อยเนอะ

จนต่อมาก็ถูกตัดเหลือเพียงแค่ konbanha (こんばんは)

5. Itadakimasu (いただきます)

ภาษาญี่ปุ่น

คำกล่าวก่อนเริ่มทานอาหาร มีความหมายคือ “ขอบคุณทุกชีวิตที่กลายมาเป็นอาหารให้เรา” เช่น ผัก เนื้อสัตว์ ปลา นอกจากนี้ยังสื่อถึงว่า “ขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องในมื้ออาหาร” ทั้งชาวนาชาวไร่ คนเลี้ยงสัตว์ คนจัดหาวัตถุดิบ พ่อครัวแม่ครัว รวมไปถึงผู้ที่เสิร์ฟอาหารให้เรา

คำนี้มาจากคำว่า itadaku (いただく) ที่แปลว่า ได้รับ แต่เดิมที itadaku (いただく) หมายถึง เอาบางสิ่งบางอย่างมาไว้บนหัว เนื่องจากในอดีต เวลาจะทานของที่ถวายแด่เทพเจ้าแล้ว ก็จะถืออาหารไว้เหนือศีรษะก่อนนำมาทาน itadaku (いただく) จึงใช้ในความหมายว่า ได้รับ(อาหาร) ต่อมาก็กลายเป็นคำสุภาพของคำว่า taberu (食べる) กิน กับ morau (もらう) ได้รับ

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการกล่าว itadakimasu (いただきます) ก่อนทานอาหารเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ว่ากันว่ากลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายกันในสมัยโชวะ ส่วนใหญ่สื่อต่าง ๆ จะนิยมแปลว่า จะทานแล้วนะ

6. Gochisousama (ごちそうさま)

ภาษาญี่ปุ่น

คำกล่าวหลังจากทานอาหารเสร็จ เขียนเป็นคันจิว่า 御馳走様 โดยคันจิคำว่า chisou (馳走) แปลว่าวิ่งไปรอบ ๆ เนื่องจากในอดีตที่ยังไม่มีซูเปอร์มาร์เกตหรือตู้เย็นเหมือนเช่นทุกวันนี้ การจะจัดหาวัตถุดิบดี ๆ มาทำอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในการเลี้ยงรับรองแขก ก็ต้องขี่ม้าวิ่งไปหาวัตถุดิบที่เหมาะสมมาประกอบอาหาร จึงเกิดคำว่า chisou (馳走) ขึ้นมา ต่อมาได้เติม go (御) ไว้ข้างหน้าเพื่อความสุภาพ กลายเป็นคำว่า gochisou (御馳走) หมายถึงอาหารหรูหราสำหรับเลี้ยงรับรองแขก

หลังจากนั้นก็มีการเติม sama (様) ต่อท้ายเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้ที่พยายามอย่างเต็มที่ในการเตรียมอาหารให้เรา กลายเป็นคำกล่าวหลังทานอาหารเสร็จว่า gochisousama (御馳走様) หรือ gochisousama deshita (御馳走様でした) ซึ่งส่วนใหญ่สื่อต่าง ๆ จะนิยมแปลว่า ขอบคุณสำหรับอาหาร

7. Ittekimasu (いってきます)

ภาษาญี่ปุ่น

คำกล่าวเมื่อจะออกไปข้างนอก เขียนเป็นคันจิว่า 行って来ます แปลตรงตัวได้ว่า “ไปแล้วมา” ส่วนใหญ่สื่อต่าง ๆ จะนิยมแปลว่า ไปแล้วนะ/ไปก่อนนะ คำกล่าวนี้มีความหมายว่า “จะไปที่ไหนก็ตาม แต่จะกลับมาแน่นอน” เนื่องจากในอดีตการออกเดินทางหรือไปที่ไหนไกล ๆ ก็ล้วนเสี่ยงต่อชีวิต จึงเหมือนเป็นการให้สัญญากับคนที่รออยู่ว่าจะไปที่ที่ห่างไกลแต่จะกลับมาอย่างแน่นอน

8. Itterasshai (いってらっしゃい)

ภาษาญี่ปุ่น

คำกล่าวเมื่อส่งผู้อื่นออกไปข้างนอก ย่อมาจาก itte irasshai (行っていらっしゃい) แปลตรงตัวได้ว่า “ไปแล้วมา” เหมือนกับ ittekimasu แต่คำนี้เป็นคำสุภาพ ส่วนใหญ่สื่อต่าง ๆ จะนิยมแปลว่า ไปดีมาดีนะ เมื่อมีคนกำลังจะออกไปข้างนอกแล้วพูดว่า ittekimasu (いってきます) เราที่รออยู่ที่บ้านก็จะตอบว่า itterasshai (いってらっしゃい) คำกล่าวนี้มีความหมายว่า “ไปที่ที่ห่างไกลก็ขอให้กลับมาอย่างปลอดภัย”

9. Sayonara (さようなら)

ภาษาญี่ปุ่น

คำกล่าวอำลา ย่อมาจากคำว่า sayonaraba (さようならば) แปลว่า “ถ้าอย่างนั้น” มาจากประโยคกล่าวอำลากันแบบยาว อย่างเช่น

sayonaraba mata gojitsu (さようならば、また後日) ถ้าอย่างนั้นก็ไว้เจอกัน
sayonaraba ogenkide (さようならば、お元気で) ถ้าอย่างนั้นก็ดูแลตัวเองด้วย

จากนั้นก็ถูกย่อเหลือเพียงแค่ sayonaraba (さようならば) และย่อลงอีกเป็น Sayonara (さようなら) เขียนเป็นคันจิว่า 然様なら หรือ 左様なら

คำทักทายหรือคำกล่าวแต่ละแบบล้วนมีที่มาที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตในอดีต จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกมาจนปัจจุบัน นอกจากวิธีใช้งานแล้ว ยิ่งได้เรียนรู้ความเป็นมาของคำทักทายเหล่านี้ด้วยก็ยิ่งทำให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงมากขึ้นนะคะ

สรุปเนื้อหาจาก jpnculture

AsmarCat

นักเขียนทาสแมวที่คอสเพลย์เป็นงานอดิเรก ชื่นชอบ Pop Culture ของญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ดูเมะ ฟังเพลง และ Cafe Hopping มามองญี่ปุ่นในมุมใหม่ ๆ ไปด้วยกันนะคะ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า