(เผยแพร่ครั้งแรก 26 มี.ค. 2022) หลายท่านที่รู้ภาษาญี่ปุ่นหรือเคยเสพสื่อบันเทิงจากญี่ปุ่น คงเคยได้ยินว่าในภาษาญี่ปุ่นเองก็มีสิ่งที่เรียกว่า “ภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่น” แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะพูดถึงภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่นอยู่เพียง 2 แบบคือ “คะตะกะนะ-เอโงะ (カタカナ英語)” และ “วะเซ-เอโงะ (和製英語)” แต่ที่จริงแล้วภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่นมีความซับซ้อนหลายรูปแบบมากกว่าเพียง 2 ประเภทที่กล่าวมา แต่ก่อนอื่นมาดูทั้ง “คะตะกะนะ-เอโงะ (カタカナ英語)” และ “วะเซ-เอโงะ (和製英語)” กันก่อนว่าหมายถึงอะไรบ้าง
คะตะกะนะ-เอโงะ (カタカナ英語)
อักษรคะตะกะนะนั้นมีไว้เพื่อสะกดคำที่มาจากภาษาต่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น คะตะกะนะ-เอโงะ ก็คือภาษาอังกฤษตามปกติที่สะกดด้วยระบบการออกเสียงภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น คือเป็นภาษาอังกฤษปกติที่ผู้พูดภาษาอังกฤษสามารถเข้าใจได้ถ้ารู้ระบบการออกเสียงของญี่ปุ่น ไม่ได้เป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ญี่ปุ่นประดิษฐ์ขึ้นเองแต่อย่างใด เช่น
ファミリーレストラン (ฟะ-มิ-รี่-เระ-สุ-โตะ-รัน) | Family Restaurant |
マクドナルド (มะ-คุ-โดะ-นะ-รุ-โดะ) | McDonald’s |
ユニバーシティー (ยุ-นิ-บา-ชิ-ตี้) | University |
วะเซ-เอโงะ (和製英語)
“วะเซ” แปลว่า Made in Japan ดังนั้นคำว่า วะเซ-เอโงะ เลยแปลตรงตัวว่า “ภาษาอังกฤษที่ประดิษฐ์ขึ้นในญี่ปุ่น” ซึ่งภาษาอังกฤษประเภทนี้ล่ะที่ผู้พูดภาษาอังกฤษทั่วโลกจะไม่เข้าใจหรอก เพราะเป็นภาษาอังกฤษที่ชาวญี่ปุ่นสร้างคำขึ้นเอง เช่น
サラリーマン (ซะ-ระ-รี่-มัง) | Salaryman |
エアコン (เอะ-อะ-คง) | Air conditioner |
カラオケ (คะ-ระ-โอะ-เกะ) | Karaoke |
วะเซ-เอโงะเหล่านี้ หากไม่ใช่คนที่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นพอสมควร จะไม่มีทางเข้าใจได้เลย แม้ว่าคนญี่ปุ่นจะเข้าใจกันไปเองว่าคำเหล่านี้ “คือภาษาอังกฤษ” แต่เป็นภาษาอังกฤษที่ชาวโลกไม่เข้าใจ มีเพียงคนญี่ปุ่นเท่านั้นที่เข้าใจ
ภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่นอีกหลายรูปแบบ
มีนักวิชาการหลายท่านพยายามรวบรวมรูปแบบของภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่นไว้ บางท่านรวมไว้ละเอียดมากเกิน 10 รูปแบบก็มี (เช่น Himeda, 2005; Moody, 2006; Sube, 2013) แต่ในคอลัมน์นี้จะสรุปสั้น ๆ 5 รูปแบบเท่านั้นคือ
1) ภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่นที่เป็นภาษาอังกฤษปกติ เพียงแต่ออกเสียงด้วยเสียงญี่ปุ่น
อันนี้คือความหมายเดียวกับคะตะกะนะ-เอโงะ ที่กล่าวไปด้านบน
2) ภาษาอังกฤษที่ผสมกับภาษาญี่ปุ่นแบบ Crossover
คือการเอาคำศัพท์อังกฤษและคำศัพท์ญี่ปุ่นมาผสมกันจนกลายเป็นคำใหม่ เช่น
- カラオケ (คะ-ระ-โอะ-เกะ) มาจากภาษาญี่ปุ่นว่า Kara (ว่างเปล่า) + ภาษาอังกฤษว่า Orchestra (เสียงดนตรี)
- チャレンジ精神 (ชะ-เรน-จิ-เซ-ชิน) มาจากภาษาอังกฤษว่า Challenge (ท้าทาย) + ภาษาญี่ปุ่นว่า Seishin (จิตวิญญาณ)
- 食品ロス (โชะ-คุ-ฮิน-โระ-สุ) มาจากภาษาญี่ปุ่นว่า Shokuhin (เสบียงอาหาร) + ภาษาอังกฤษว่า Loss (ความสูญเปล่า)
3) ภาษาอังกฤษที่ชาวญี่ปุ่นตัดหางทิ้งไป ทำให้ดูไม่เหมือนภาษาอังกฤษ
เช่น
- デパート (เดะ-ป้า-โตะ) คือคำว่า Department Store ที่ตัดส่วนของ -ment store ทิ้งไป
- セクハラ (เซะ-คุ-ฮะ-ระ) คือคำว่า Sexual Harassment ที่ตัดเสียงทิ้งไปทั้งพยางค์หน้าและพยางค์หลัง
4) ภาษาอังกฤษที่ดูเผิน ๆ เหมือนภาษาอังกฤษ
จะเป็นคำที่ดูเหมือนภาษาอังกฤษปกติ แต่คนญี่ปุ่นใช้เป็นอีกความหมายหนึ่งที่ไม่เหมือนความหมายต้นฉบับในภาษาอังกฤษ เช่น
- マナーモード (มะ-นา-โม-โดะ) แปลว่า Manner Mode แต่จริง ๆ ในภาษาอังกฤษคือ Silent Mode
- マイブーム (ไม-บู-มุ) แปลว่า My Boom แต่จริง ๆ ในภาษาอังกฤษคือ Personal Obsession
- レジュメ (เระ-จุ-เมะ) แปลว่า Resume แต่จริง ๆ ในภาษาอังกฤษคือ Handout
5) ภาษาอังกฤษที่ผสมกับไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่นแบบดื้อ ๆ
เช่น
- コピる (โคะ-พิ-รุ) คือคำว่า copy บวกกับไวยากรณ์ ซุรุ ในภาษาญี่ปุ่น แล้วยุบเสียงเหลือเท่านี้
- メモる (เมะ-โมะ-รุ) คือคำว่า memo บวกกับไวยากรณ์ ซุรุ ในภาษาญี่ปุ่น แล้วยุบเสียงเหลือเท่านี้
- ググる (กุ-กุ-รุ) คือคำว่า google บวกกับไวยากรณ์ ซุรุ ในภาษาญี่ปุ่น แล้วยุบเสียงเหลือเท่านี้
กล่าวโดยสรุป
ชาวเอเชียเรา ๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราได้รับอิทธิพลจากตะวันตกอย่างมาก โดยเฉพาะอิทธิพลจากภาษาอังกฤษ อย่างในภาษาไทยเองเราก็ได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษอย่างมาก เพียงแต่ในระบบการเขียนอักษรไทยไม่ได้มีการแยกอักษรสำหรับสะกดภาษาต่างประเทศเหมือนในอักษรคะตะกะนะของญี่ปุ่น แต่การศึกษาปรากฏการณ์การใช้ภาษาอังกฤษในภาษาเอเชียต่าง ๆ อย่างเช่นในภาษาญี่ปุ่น ก็จะช่วยให้เข้าใจภาษาและสภาพจิตใจของชาวญี่ปุ่นได้ดีขึ้น และมีผลให้ติดต่อการงานหรือรักษาสัมพันธภาพกับชาวญี่ปุ่นได้ราบรื่นมากขึ้น
หนังสืออ้างอิง
Himeda, S. (2005). Compound Words in Japanese English. Ryukoku International Center Research Bulletin, 14, 59–67.
Moody, A. J. (2006). English in Japanese Popular culture and J-Pop music. World Englishes, 25 (2), 209–222.
Sube, M. (2013). Katakana English and Japanese English: Focusing on their Recent Trends. Enrivonment and Management: Journal of Shizuoka Sangyo University, 19 (2), 127–137.
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas