ผู้คนส่วนใหญ่มักมองว่าภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ฟังดูน่ารัก คิขุอาโนเนะ ยิ่งเป็นเสียงเล็ก ๆ ยิ่งฟังดูแบ๊วไปหมด แต่พอได้ลองเรียนรู้จริง ๆ ก็พบว่ามันยากกว่าที่คิดเสียอีก! เราลองไปดูกันค่ะว่าสำหรับชาวต่างชาติในชาติอื่น ๆ เขารู้สึกอย่างไรกับภาษาญี่ปุ่น และเหตุผลใดบ้างที่รู้สึกว่ามันยาก น่าจะตรงใจใครหลาย ๆ คนเลยนะคะ
ชาวต่างชาติคิดอย่างไรกับภาษาญี่ปุ่น??
1.1 ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ยากที่สุดในโลก?
ชาวต่างชาติจำนวนมากมีอิมเมจว่า “ภาษาญี่ปุ่นยาก” มีข้อมูลอื่น ๆ ที่ยิ่งตอกย้ำได้อย่างชัดเจนอีกว่า “ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ยากจากมุมมองของคนทั่วโลก” ในการ “จัดอันดับความยากง่ายในการเรียนรู้ภาษา” ที่เคยตีพิมพ์โดยสถาบันฝึกอบรมภาษาชื่อ FSI (Foreign Service Institute) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ภาษาญี่ปุ่นจัดอยู่ในประเภท “ภาษาที่ใช้เวลานานที่สุดในการเรียนรู้” แม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่จัดทำโดยผู้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ แต่ในกลุ่มภาษาที่เรียนรู้ได้ยากที่สุดก็ยังรวมถึงเกาหลี จีน และอาหรับอีกด้วย
1.2 ฟังดูเร็ว
อีกประการหนึ่งคือ เมื่อชาวต่างชาติได้ยินภาษาญี่ปุ่น จะฟังดูเหมือนพูดเร็วมาก เนื่องจากพยางค์ในภาษาญี่ปุ่นมีสระเป็นศูนย์กลาง และตัวพยัญชนะก็ออกเสียงแยกกัน ไม่ได้ออกเสียงทับซ้อนกันเหมือนภาษาอังกฤษ เมื่อพยายามพูดเนื้อหาเดียวกันเทียบกับภาษาอื่น ภาษาญี่ปุ่นย่อมมีจำนวนพยางค์มากกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1.3 นุ่มนวลไร้เสียงหนักเบา
นอกจากนี้ เมื่อชาวต่างชาติฟังภาษาญี่ปุ่น หลายคนก็รู้สึกว่าเป็นภาษาที่นุ่มนวล ไม่เน้นเสียงหนัก ซึ่งเหตุผลก็เหมือนกับข้อที่กล่าวมาคือมีสระเป็นศูนย์กลาง ถึงแม้จะมีเสียงสูงต่ำ แต่ก็ไม่มีเสียงหนักเบาเหมือนภาษาอังกฤษ ในคำศัพท์ที่เขียนเหมือนกัน จะแยกความหมายจากการออกเสียงสูงต่ำ ที่พบเจอได้บ่อย ๆ ตัวอย่างเช่น
橋 (はし : ha shi : หะ ชิ : สะพาน) กับ 箸 (はし : ha shi : ฮะ ฉิ : ตะเกียบ)
飴 (あめ : a me : อะ เมะ : ลูกกวาด) กับ 雨 ( (あめ : a me : อ้ะ เหม่ะ : ฝน)
ทำไมชาวต่างชาติมองว่าภาษาญี่ปุ่นยาก?
2.1 มีตัวอักษรหลายประเภท
การเรียนรู้ภาษาใดก็ตาม แน่นอนว่าเราจะต้องรู้จักตัวอักษรของภาษานั้น ๆ ซึ่งในภาษาญี่ปุ่น ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ตัวอักษรถึงสามประเภท คือ ฮิรางานะ คาตาคานะ และคันจิ นอกจากภาษาญี่ปุ่นแล้ว ก็ไม่มีภาษาใดในโลกที่ใช้อักขระถึงสามประเภทแบบนี้ นับว่าเป็นความท้าทายแก่ชาวต่างชาติโดยแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวตะวันตกที่ไม่คุ้นเคยกับตัวอักษรจีนแล้วต้องมาจดจำอักขระทั้งสามประเภทนี้ ถือว่ายากพอสมควรเลยทีเดียว
2.2 การเรียงลำดับคำชวนงง
ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือไทย เรียงลำดับคำเป็น SVO (ประธาน+กริยา+กรรม) แต่ภาษาญี่ปุ่นจะเรียงเป็น SOV (ประธาน+กรรม+กริยา) จึงทำให้เกิดความสับสนได้ นอกจากนี้ เมื่อขยายคำนาม จะมีความแตกต่างในลำดับของคำที่เห็นได้ชัด คือ
ここは、私が去年訪れた場所です。
ส่วนขยายวางไว้หน้าคำนาม (場所)
This is the place I visited last year.
ส่วนขยายวางไว้หลังคำนาม (place)
ภาษาเกาหลีมีการเรียงลำดับคำที่คล้ายกับภาษาญี่ปุ่นมาก ดังนั้นจึงดูไม่เป็นปัญหาสำหรับชาวเกาหลี แต่สำหรับชาวต่างชาติที่มีภาษาแม่ต่างจากภาษาญี่ปุ่น เรื่องการเรียงลำดับคำก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่ายาก
2.3 คำช่วยใช้ยาก
มีชาวต่างชาติจำนวนมากที่ไม่ถนัดเรื่องการใช้คำช่วยอย่าง は を に で และอีกมากมาย ในภาษาเกาหลีมีการใช้คำช่วยเช่นกัน จึงไม่น่าจะใช่เรื่องยากสำหรับชาวเกาหลี แต่สำหรับชาวต่างชาติคนอื่น ๆ อาจเพิ่งได้รู้จักคำช่วยเป็นครั้งแรกก็มี ในภาษาอังกฤษ จีน หรือไทย จะแสดงความหมายออกมาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดเรียงคำ แต่ภาษาญี่ปุ่นจะใช้วิธีเปลี่ยนคำช่วย ในประโยคที่เรียงประธาน กรรม กริยาเหมือนกัน เพียงแค่เปลี่ยนคำช่วย ความหมายจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เช่น
わたし ( は ) 友達 ( を ) 怒る。ฉันโกรธเพื่อน
わたし ( を ) 友達 ( が ) 怒る。เพื่อนโกรธฉัน
わたし ( と ) 友達 ( が ) 怒る。ฉันกับเพื่อนโกรธ
เรื่องคำช่วยเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากจนแม้แต่คนที่มีความรู้ภาษาญี่ปุ่นระดับกลางถึงระดับสูงก็อาจใช้คำช่วยผิดหรือกังวลว่าตัวไหนถูกต้องกันแน่
2.4 สำนวนคลุมเครือ
ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมแบบ High Context คือการสื่อสารแบบอ้อม มีรายละเอียดเยอะ และเน้นใช้อวัจนภาษา ทำให้ในภาษาญี่ปุ่นมีสำนวนที่คลุมเครือมากมายโดยไม่แสดงความรู้สึกออกมาตรง ๆ เนื่องจากความเกรงใจอีกฝ่าย ตัวอย่างเช่น เมื่อหัวหน้าชวนไปทานข้าวหลังเลิกงาน น้อยคนนักที่จะพูดปฏิเสธตรง ๆ ซึ่งวัฒนธรรมการตอบอย่างสุภาพโดยไม่ทำให้อีกฝ่ายเสียน้ำใจและการใช้คำพูดที่เข้ากับบรรยากาศ สถานที่ นั้นถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของญี่ปุ่นก็ว่าได้ ชาวต่างชาติจำนวนมากจึงมองว่าเป็นการยากที่จะเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำพูดเหล่านั้น
2.5 คำเลียนเสียงธรรมชาติจำยาก
จุดที่ยากอีกอย่างหนึ่งคือคำเลียนเสียงธรรมชาติในญี่ปุ่นที่มีจำนวนมากมายมหาศาลจนแทบจะจำได้ไม่หมด ตัวอย่างเช่น
雨がザーザー降る。ฝนตกหนัก
雨がしとしと降る。ฝนตกพรำ ๆ
คำเลียนเสียงใช้อธิบายสภาพการณ์หรือความรู้สึกได้ละเอียดมากขึ้น แต่สำหรับชาวต่างชาติคงจะจินตนาการถึงสภาพนั้นไม่ออกและจำเป็นต้องนั่งจำความหมายกันไปทีละคำ ๆ
การเริ่มเรียนรู้ภาษาใดก็ตามที่ไม่ใช่ภาษาแม่แถมยังมีรูปแบบไวยากรณ์ไม่คุ้นชินมาก่อนก็ย่อมรู้สึกว่ายากเป็นธรรมดา แต่การเรียนรู้ภาษาจะช่วยให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรม ความคิดความอ่านของคนต่างวัฒนธรรมได้สนุกยิ่งขึ้น แล้วตอนที่ทุกคนฟังภาษาญี่ปุ่นครั้งแรก First impression เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ^^
สรุปเนื้อหาจาก japanese-bank