เลข 13 นั้นตามที่ทุกคนทราบกันดี คือจัดว่าเป็นเลขอัปมงคลในอารยธรรมตะวันตก เพราะในความเชื่อตะวันตกนั้นอะไร ๆ ที่ไม่ดีก็มักจะเป็นเลข 13 เช่น ตามตำนานของชาวนอร์ส (Norse Mythology) ว่ามีเทพ 12 องค์จัดงานเลี้ยง แต่มีแขกไม่ได้รับเชิญคือเทพโลกิ (Loki) ที่โผล่มาเป็นองค์ที่ 13 และก่อหายนะในงานเลี้ยงนั้น หรือในตำนานของชาวคริสต์ที่ว่าในอาหารมื้อสุดท้าย (The Last Supper) นั้น มีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 13 คน และผู้ที่หักหลังพระเยซูคือ ยูดาส อิสคาริโอท (Judas Iscariot) ซึ่งเป็นสาวกที่นั่งลงที่โต๊ะเป็นคนที่ 13 และนำไปสู่การตรึงกางเขนพระเยซู หรือในอังกฤษเองก็มีความเชื่อท้องถิ่นมาแต่โบราณว่าเมื่อไรก็ตามที่มีผู้ร่วมโต๊ะอาหาร 13 คนแล้ว คนที่ลุกจากโต๊ะไปเป็นคนแรกจะต้องตาย เป็นต้น
แต่วันนี้จะไม่ได้พูดถึงอาถรรพณ์เลข 13 แบบตะวันตก แต่จะพูดถึงความน่ากลัวของเลข 13 สำหรับล่ามแนะนักแปลภาษาญี่ปุ่นกันว่าน่าสะพรึงกลัวเพียงใด หากได้รับเลข 13 (十三) มาแล้วให้หาเสียงอ่านหรือให้แปลแบบไม่ได้แจ้งบริบทให้ทราบกันล่วงหน้า
เสียงอ่านและความหมายของเลข 13 เท่าที่ผู้เขียนทราบ (อาจมีอีกก็ได้ เพียงแต่ยังไม่เคยเจอ)
1. กรณีปกติทั่วไป
เวลาเขียน 13 ว่า 十三 ในภาษาญี่ปุ่นก็จะอ่านตามปกติว่า “จู-ซัง (じゅうさん)” ที่แปลว่าสิบสาม ตามปกติ
2. กรณีชื่อสถานที่
ปัญหาจะเกิดเมื่อเลข 13 กลายเป็นชื่อสถานที่ในโอซาก้า เพราะในโอซาก้าจะมีบริเวณหนึ่งที่เขียน 13 ด้วยอักษร 十三 เหมือนปกติเปี๊ยบ แต่ให้อ่านแบบพิเศษว่า “จู-โซ (じゅうそう)” ซึ่งอยู่ในเขตโยะโดะงะวะ (淀川区) ทางตอนเหนือของโอซาก้า และสถานีรถไฟฟ้าของสถานีนี้จึงอ่าน 十三 ว่า “จู-โซ (じゅうそう)” เช่นกัน ตามวิธีอ่านของคนท้องถิ่น
3. กรณีชื่อคนญี่ปุ่น
กรณีชื่อคนญี่ปุ่นก็จะยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก โดยแยกเป็น 4 กรณีย่อยคือ
a) เขียนเลข 13 ว่า 十三 แต่ให้อ่านนามสกุลของตระกูลนี้ว่า “จู-โซ (じゅうぞう)” ที่อ่านเสียง โซ ด้วยเสียงด้วย z
b) เขียนเลข 13 ว่า 十三 แต่ให้อ่านนามสกุลของตระกูลนี้ว่า “จู-สะ (じゅうざ)” ที่อ่านเสียง สะ ด้วยเสียงด้วย z
c) เขียนเลข 13 ว่า 一三 แต่ให้อ่านนามสกุลของตระกูลนี้ว่า “อิจิ-โซ (いちぞう)” ที่อ่านเสียง โซ ด้วยเสียงด้วย z
d) เขียนเลข 13 ว่า 一三 แต่ให้อ่านนามสกุลของตระกูลนี้ว่า “คะสึ-มิ (かずみ)” ที่อ่านเสียง สึ ด้วยเสียงด้วย z
4. กรณีเป็นชื่อของท่ารำคะตะในวิชาคาราเต้
ผู้อ่านอาจจะคิดว่าคาราเต้เป็นวงการเฉพาะทางมาก แต่อย่าลืมว่าในประเทศญี่ปุ่นนั้น คาราเต้ก็จัดเป็นวิชาฮิตมาก และเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยวิชาคาราเต้ของสำนักโกจูริว (剛柔流) นั้นเป็นคาราเต้ 1 ใน 4 สำนักใหญ่ที่เผยแพร่ไปทั่วโลกและมีผู้ฝึกหลายล้านคน จึงมีโอกาสที่ล่ามและนักแปลอาจจะเจอเลข 13 ในเวอร์ชั่นของวิชาคาราเต้ได้
โดยสำหรับคาราเต้สำนักโกจูริวนั้น เมื่อเขียน 13 ว่า 十三 จะอ่านว่า “เซ-ซัง (せいさん)” แต่นิยมเขียนร่วมกับอักษร 手 (มือ) เพื่อแสดงความหมายของคาราเต้ (空手) โดยจะเขียนเป็นอักษร 3 ตัวว่า 十三手 แต่อ่านควบ 3 อักษรว่า “เซ-ซัง (せいさん)” เพราะมีท่าก้าวเดินทั้งหมด 13 ก้าวในเพลงมวยนี้
5 สาเหตุที่เสียงอ่านในภาษาญี่ปุ่นจึงไม่คงที่เช่นนี้
อักษรจีนในภาษาจีนนั้นจริง ๆ มีหลายร้อยหลายพันสำเนียง เพียงแต่ภาษาจีนกลางในปัจจุบันถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลางของจีนให้ออกเสียงเพียงสำเนียงเดียวคือสำเนียงปักกิ่งเท่านั้น จริง ๆ มีแต้จิ๋ว, กวางตุ้ง, ฮกเกี้ยน, ไหหลำ ฯลฯ อีกมากมาย ในขณะที่ภาษาญี่ปุ่นรับอักษรจีนมาใช้ในอารยธรรมตัวเองตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 และรับมาใช้หมดทุกสำเนียง จึงมีความซับซ้อนของการออกเสียงมากกว่าภาษาจีนกลางในปัจจุบัน โดยเสียงอ่านอักษรจีนในภาษาญี่ปุ่นแบ่งเป็น 5 ยุคคือ
1. เสียงโกะ-อง (呉音)
อักษร โกะ (呉) ในที่นี้หมายถึงแคว้นอู๋ในประเทศจีน แต่ชาวไทยเราจะคุ้นเคยกับเสียงจีนแต้จิ๋วว่า “ง่อก๊ก” มากกว่า เราคุ้นเคยกับแคว้นง่อก๊กในเรื่องสามก๊ก เป็นเสียงที่เก่าแก่ที่สุดที่ญี่ปุ่นรับเข้ามาผ่านทางเกาหลีโบราณ รับเข้ามาก่อนที่กระแสหลักจะรับสำเนียงชาวฮั่นเข้ามาเสียอีก
2. เสียงคัง-อง (漢音)
อักษร คัง (漢) หมายถึงราชวงศ์ฮั่น จัดเป็นเสียงอ่านที่ฮิตที่สุดในอักษรคันจิของญี่ปุ่น ก็เล่นเอาอักษรตัวนี้มาเรียกอักษรจีนทุกชุดที่ญี่ปุ่นรับจากจีนกันเลยทีเดียว ญี่ปุ่นรับเสียงอ่านแบบคัง-องประมาณศตวรรษที่ 7 ที่เป็นช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนผ่านยุคนะระเข้าไปสู่ยุคเฮอันของญี่ปุ่น
3. เสียงโท-อง (唐音)
อักษร โท (唐) หมายถึงราชวงศ์ถัง ญี่ปุ่นรับเสียงอ่านนี้มาใช้เมื่อประมาณศตวรรษที่ 12 ญี่ปุ่นอยู่ในปลายยุคเฮอันพอดี
4. เสียงโซ-อง (宋音)
อักษร โซ (宋) หมายถึงราชวงศ์ซ้อง แต่เสียงโท-องและเสียงโซ-องในภาษาญี่ปุ่นนั้นทับซ้อนกันจนผสมผสานกลายเป็นชุดเดียวกันไปแล้ว บางตำราจึงนับเสียงโซ-องว่าเป็นแค่กลุ่มย่อยของเสียงโท-องเท่านั้น
5. คังโย-อง (慣用音)
เสียงนี้เองที่ยากที่สุด เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีความสมเหตุสมผลใด ๆ รองรับ หมายถึงเสียงที่ “ยอมรับกันโดยทั่วไป” คือเสียงอ่านที่จัดกลุ่มให้เข้ากับ 4 แนวทางด้านบนไม่ได้ เนื่องจากออกเสียงผิดพลาด หรือเสียงค่อย ๆ เพี้ยนออกไปจากต้นฉบับเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ จนกลายเป็นเสียงที่ “มันฮิต” ก็เลยยอมให้อ่านตามนั้นดื้อ ๆ แบบไม่มีความสมเหตุสมผลรองรับ อย่างเช่นเสียงอ่านเพลงมวย 13 ก้าวในคาราเต้ ก็ไม่ได้อ่านตามความสมเหตุสมผลใด ๆ ในภาษาญี่ปุ่นเพราะว่าเป็นเสียงอ่านจากภาษาจีนที่เข้าไปในราชอาณาจักรริวกิวโบราณก่อนที่ริวกิวจะตกเป็นของญี่ปุ่น เสียงอ่านจึงพิเศษเพราะไม่ได้เป็นไปตามหลักภาษาญี่ปุ่นแต่อย่างใด
ใครที่สนใจเวลาเปิดพจนานุกรมคันจิแบบที่ชาวญี่ปุ่นใช้ (漢字辞典) จะมีระบุทั้งยุคสมัยที่รับอักษรตัวนั้น ๆ เข้ามา พร้อมทั้งระบุว่าเสียงของยุคไหนอ่านว่าอะไร พจนานุกรมคันจิของชาวญี่ปุ่นจึงละเอียดมาก ๆ
กล่าวโดยสรุป
แต่อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมเองก็ไม่สามารถลงรายละเอียดไปถึงระดับชื่อสถานที่ หรือชื่อและนามสกุลคนญี่ปุ่นได้ โดยเฉพาะอักษรเฉพาะวงการอย่างชื่อวิชาในคาราเต้ เรียกว่าหมดสิทธิ์หาเสียงอ่านหรือความหมายกันเลยแน่นอน ถ้าเป็นโลกยุคก่อนอินเทอร์เน็ต รับรองว่าล่ามและนักแปลเจออาถรรพณ์แน่นอนถ้าเจอศัพท์เฉพาะอย่างที่ว่ามา แต่พวกเราทุกท่านโชคดีที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาในชีวิตแล้ว ทำให้สามารถค้นคว้าทุกสรรพสิ่งได้ และรู้ถึงเสียงอ่านแปลก ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในพจนานุกรมใด ๆ ของภาษาญี่ปุ่นเช่นนี้ได้ ดังนั้นในโลกปัจจุบันจึงมีคนเก่งภาษาต่างประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากการเชื่อมต่อกันของทั้งโลกนั่นเอง
เกี่ยวกับผู้เขียน
วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วถึง 4 แห่ง โดยเคยได้รับทุนแลกเปลี่ยนระหว่างที่ว่าการจังหวัด Okinawa และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษาที่ The University of the Ryukyus รวมทั้งเคยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแบบสอบผ่านสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ไปศึกษาที่ 1) Tokyo University of Foreign Studies / 2) International Christian University / และ 3) Keio University มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย เคยเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ให้บริษัท Nippon Production Service (บริษัทในเครือสถานีโทรทัศน์ NHK) / เป็นผู้สอนภาษาไทยที่สถาบันภาษาไทยหลายแห่งในโตเกียว / เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดให้บริษัท Corporate Directions Inc. ของประเทศญี่ปุ่น / เป็นผู้ก่อตั้งสาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจของคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ / เป็นผู้อำนวยการบริษัท AIRA Capital และเป็นทีมงานก่อตั้งบริษัท AIRA and AIFUL รวมทั้งบัตรกดเงินสด A-Money / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท TOYO Business Service / เป็นที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท JECC ประเทศญี่ปุ่น / เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจของบริษัท Business Consultants South East Asia / มีประสบการณ์สอนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่งในประเทศไทย / เป็นที่ปรึกษาและจัดฝึกอบรมให้องค์กรหลายแห่ง
ปัจจุบันมีธุรกิจเล็ก ๆ ของตัวเองคือ บริษัท Consulting Agency for Talent จำกัด ทำธุรกิจให้คำปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HROD และ HRD) / เป็นนักวิชาการอิสระ / วิทยากรอิสระ / นอกจากเขียนคอลัมน์ที่ Conomi แห่งนี้แล้ว ก็เขียนคอลัมน์ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ / เขียนคอลัมน์ให้ The PEOPLE Online Magazine / เขียนคอลัมน์ให้ Marumura และยังคงใฝ่เรียนรู้สิ่งใหม่ต่าง ๆ อยู่เสมอแม้ว่าจะมีปริญญา 7 ใบแล้วก็ตาม
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่
Facebook : รวมผลงานของวีรยุทธ – Weerayuth’s Ideas