ในภาษาญี่ปุ่นโดยทั่วไปคำว่า Houkago (放課後) จะแปลว่า หลังเลิกเรียน หมายถึงช่วงเวลาหลังเลิกเรียนที่เด็ก ๆ กลับบ้านหรือไปทำกิจกรรมอื่น ๆ กันต่อตามแต่ละคน แต่รู้ไหมคะว่าสำหรับโรงเรียนในจังหวัดไอจิจะใช้คำนี้ในความหมายที่ต่างออกไปจากภาษากลางจนเรียกว่าเป็นภาษาถิ่นของไอจิเลยก็ว่าได้!
ความหมายของคำว่า Houka
ความหมายของคำว่า Houka (放課) ตามพจนานุกรมแปลว่า “การสิ้นสุดการเรียนที่โรงเรียนของวันนั้น” หมายถึงช่วงที่ชั้นเรียนของวันนั้นสิ้นสุดลง เมื่อเติม 後 (go) ที่หมายถึง หลังจาก เข้าไปก็จะหมายถึง ช่วงเวลาหลังจากเลิกเรียนในแต่ละวัน
ความหมายของ Houka (放課) ในจังหวัดไอจิ
ปกติแล้วคำว่า Houka (放課) ในภาษากลางใช้พูดถึงช่วงเวลาหลังเลิกเรียน แต่สำหรับโรงเรียนในจังหวัดไอจิจะใช้หมายถึงช่วงเวลาพักระหว่างคาบเรียนได้ด้วย เช่น
「○○さん、放課に職員室に来なさい」”คุณ xx กรุณามาที่ห้องเจ้าหน้าที่ช่วงเวลาพัก“
「放課の間にトイレにちゃんと行くように」”เข้าห้องน้ำในช่วงเวลาพักให้เรียบร้อย”
คำนี้ใช้กันทั้งในหมู่นักเรียนและคุณครู ซึ่งชาวเมืองไอจิจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกประหลาดใจเช่นกันที่ทราบว่าจังหวัดอื่นไม่ได้ใช้หมายถึงช่วงเวลาพัก
ทำไมถึงใช้หมายถึงช่วงเวลาพัก ?
สำหรับเหตุผลว่าทำไมในจังหวัดไอจิจึงใช้หมายถึงช่วงเวลาพักนั้นยังไม่มีที่มาที่ไปที่แน่ชัด แต่อาจวิเคราะห์ได้ว่า เนื่องจากอิมเมจความหมายของ Houka (放課) คือจะต้องออกจากคาบเรียน จึงอาจถูกนำมาใช้เพื่อหมายถึงช่วงระหว่างจบคาบเรียนหนึ่งกับเริ่มคาบเรียนถัดไปก็เป็นได้ นอกจากนี้ บางโรงเรียนยังมีการเติมจำนวนนาทีเข้าไปด้วยแล้วแต่ว่าพักกี่นาที เช่น「◯◯分放課」”ช่วงพัก xx นาที”
Houka (放課) เป็นภาษาถิ่นหรือไม่?
ปัจจุบันคำว่า Houka (放課) ก็ถือเป็นคำมาตรฐานที่มีอยู่ในภาษากลาง แต่เนื่องจากว่ามีเพียงโรงเรียนในจังหวัดไอจิเท่านั้นที่ใช้คำนี้เพื่อกล่าวถึงช่วงเวลาพักระหว่างแต่ละคาบเรียน ซึ่งต่างจากความหมายที่ใช้กันในภาษากลาง จึงสามารถมองว่าเป็นภาษาถิ่นอีกคำหนึ่งก็ได้
คำศัพท์เฉพาะของโรงเรียนในจังหวัดไอจิและบางส่วนในจังหวัดกิฟุ
นอกจากคำว่า Houka (放課) แล้วยังมีคำอื่น ๆ ที่ใช้เฉพาะในโรงเรียนในจังหวัดไอจิรวมถึงบางโรงเรียนในจังหวัดกิฟุ นั่นคือ B shi (B紙 : กระดาษขนาด B) ซึ่งหมายถึง กระดาษลอกลายแบบญี่ปุ่น (imitation Japanese vellum) โดยพื้นที่อื่นส่วนใหญ่ในประเทศจะใช้คำว่า Mozoushi (模造紙) สาเหตุที่เรียกกระดาษลอกลายว่า B shi ก็เพราะว่ากระดาษลอกลายส่วนมากจะเป็นกระดาษขนาด B บางครั้งใช้ในกิจกรรมของโรงเรียน เช่น งานเทศกาลโรงเรียน การนำเสนองานของนักเรียน
จังหวัดไอจิตั้งอยู่ระหว่างคันโตและคันไซทำให้มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมฝั่งตะวันออกและตะวันตก จนเกิดวัฒนธรรมทางภาษาเฉพาะตัว ยังมีคำภาษาถิ่นอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เหมือนกับคำบางคำในภาษาไทยที่เราเข้าใจว่าเป็นภาษากลาง แต่บางท้องที่กลับใช้คำเดียวกันนี้ในความหมายที่ต่างออกไป หากเพื่อน ๆ มีคำภาษาถิ่นคำไหนที่น่าสนใจก็มาเล่าสู่กันฟังได้นะคะ
สรุปเนื้อหาจาก : kotobanogimon