ตัวเลขอารบิก 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 ที่เราใช้กันอย่างคุ้นเคย ในภาษาไทยเองก็มีตัวเลขไทย ส่วนในภาษาญี่ปุ่นโดยทั่วไปจะเป็นตัวคันจิ 一 二 三 四 五 六 七 八 九 十 แต่ความจริงแล้วญี่ปุ่นยังมีตัวเลขคันจิอีกแบบหนึ่งที่เส้นเยอะกว่าและเป็นทางการกว่า แล้วตัวเลขแบบนั้นมันคือเลขอะไรกัน ? วันนี้เราก็ได้รวบรวมข้อมูลมาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ
ตัวเลขคันจิแบบ 壱, 弐, 参 คืออะไร ?
ตัวเลขคันจิอย่าง 壱, 弐, 参 นั้นมีชื่อเรียกว่าไดจิ (大字) ใช้แทนตัวเลขคันจิแบบง่าย ซึ่งในปี 701 ปลายสมัยอาซูกะ ประมวลกฎหมายไทโฮได้กำหนดให้ใช้ตัวเลขแบบไดจิในเอกสารทางการ โดยกำหนดตั้งแต่เลข 1-10,000 เพื่อป้องกันการอ่านผิดและเขียนผิด รวมถึงป้องกันการฉ้อโกงอย่างการเพิ่มจำนวนเส้นคันจิเพื่อเพิ่มมูลค่าของตัวเลข
ยกตัวอย่างเช่น ตัวเลข 一万円 (10,000 เยน) หากเพิ่มขีดเข้าไปก็จะกลายเป็น 二万円 (20,000 เยน) หรือหากเพิ่มขีดตรงเข้าไปก็จะกลายเป็น 十万円 (100,000 เยน) และจาก 二万円 (20,000 เยน) หากเพิ่มขีดเข้าไปก็จะกลายเป็น 三万円 (30,000 เยน) ได้ง่าย ๆ หรืออีกแบบคือจาก 三万円 (30,000 เยน) หากเพิ่มขีด 2 ขีดเข้าไปก็จะกลายเป็น 五万円 (50,000 เยน) ได้อย่างไม่ยากเลย
จะเห็นได้ว่าตัวเลขคันจิแบบง่ายนี้ เพียงแค่เพิ่มขีดเข้าไปก็สามารถเปลี่ยนจำนวนมูลค่าได้ ดังนั้นเอกสารสำคัญต่าง ๆ จึงใช้ตัวเลขแบบไดจิเพื่อหลีกเลี่ยงกรณีที่เอกสารอาจถูกปลอมแปลงหรือสงสัยว่ามีการใส่ข้อมูลเพิ่มเติมลงไป โดยในปัจจุบันตัวเลขแบบไดจิยังคงใช้ในเอกสารทางบัญชีอย่างพวกใบเสร็จรับเงินและเอกสารทางกฎหมายอย่างทะเบียนครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคันจิแบบง่ายก็ใช่ว่าจะสามารถปลอมแปลงได้ทุกตัว อย่างเช่น 四 (4) กับ 五 (5) จะปลอมแปลงได้ยาก หากยิ่งพยายามเพิ่มเส้นเข้าไปก็ดูออกได้ทันที ดังนั้นในปัจจุบันเอกสารทางการต่าง ๆ จึงใช้ตัวเลขแบบไดจิเฉพาะตัวเลขคันจิ 4 ตัวที่ปลอมแปลงได้ง่ายคือ 一 (1), 二 (2), 三 (3) และ 十 (10) จะใช้ตัวเลขแบบไดจิคือ 壱, 弐, 参 และ 拾 ผู้คนจึงคุ้นเคยกับตัวเลขแบบไดจิเพียง 4 ตัวนี้ สังเกตได้จากธนบัตรญี่ปุ่น จะมีตัวเลขคันจิบนธนบัตร ดังนี้
1,000 เยน คือ 千円
2,000 เยน คือ 弐千円
5,000 เยน คือ 五千円
10,000 เยน คือ 壱万円
ธนบัตรที่ใช้ตัวเลขแบบไดจิคือ 2,000 เยนกับ 10,000 เยน (สามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับธนบัตร 2,000 เยนได้ที่บทความ “ธนบัตร 2,000 เยน” หายไปไหนแล้วนะ?
ตัวเลขแบบไดจิ 1-10,000
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้คนญี่ปุ่นจะนิยมใช้ตัวเลขแบบไดจิเพียงแค่ 4 ตัว แต่ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าความจริงแล้วประมวลกฎหมายไทโฮได้กำหนดให้ใช้ตัวเลขแบบไดจิซึ่งมีตั้งแต่เลข 1-10,000 เราไปดูกันค่ะว่านอกจาก 4 ตัวนั้นแล้ว ตัวเลขอื่น ๆ จะเขียนแบบไหนบ้าง
1 = 壱
2 = 弐
3 = 参
4 = 肆
5 = 伍
6 = 陸
7 = 漆
8 = 捌
9 = 玖
10 = 拾
11 = 拾老
12 = 拾弐
.
.
.
20 = 弐拾
21 = 弐拾老
22 = 弐拾弐
.
.
.
30 = 参拾
40 = 肆拾
50 = 伍拾
60 = 陸拾
70 = 漆拾
80 = 捌拾
90 = 玖拾
.
.
.
100 = 佰
1,000 = 阡 หรือ 仟
10,000 = 萬
นอกจากเอกสารทางการแล้ว การใส่ซองเพื่อร่วมแสดงความยินดีในโอกาสต่าง ๆ ก็ต้องเขียนจำนวนเงินด้วยตัวเลขแบบไดจิจึงจะถือเป็นมารยาทที่ดี และใส่คำว่า 金 (เงิน) เอาไว้ก่อนจำนวนตัวเลข เช่น
10,000 เยน จะเขียนว่า 金壱萬円 หรือ 金壱萬圓
30,000 เยน จะเขียนว่า 金参萬円 หรือ 金参萬圓
นอกจากนี้เรายังพบเห็นตัวเลขแบบไดจิได้จากในมังงะหรืออนิเมะ อย่างในเรื่องโตเกียวรีเวนเจอร์ส มีการปักบนแขนเสื้อแก๊งด้วยตัวเลขแบบไดจิว่า 壱番隊隊長 (Ichibantai Taichou – หัวหน้าหน่วยที่หนึ่ง) หรือในมังงะเรื่องดาบพิฆาตอสูร เมื่อตัวละครใช้ปราณ จะเขียนด้วยตัวเลขแบบไดจิ เช่น 弐ノ型 (Ni no Kata – กระบวนท่าที่สอง)
สรุปเนื้อหาจาก jpnculture