เวลาที่เราซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร วันหมดอายุน่าจะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ต้องพลิกดูว่าจะทานได้ถึงเมื่อไหร่ วันหมดอายุภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 消費期限 (shouhikigen) แต่ก็มีอีกคำที่ความหมายคล้ายกัน คือ 賞味期限 (shoumikigen) ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันเล็กน้อย วันนี้เราลองมาดูกันค่ะว่ามันแตกต่างกันอย่างไร และอาหารแบบไหนบ้างที่จะระบุ 消費期限 กับ 賞味期限
消費期限 (shouhikigen) : EXP : หมดอายุ
消費期限 คือวันหมดอายุที่ไม่สามารถทานอาหารนั้นได้ ในภาษาอังกฤษใช้ตัวย่อ EXP และในภาษาไทยใช้คำว่า หมดอายุ มักระบุบนอาหารที่เน่าเสียได้ง่ายอย่างพวกของสดหรืออาหารที่ทำสดใหม่ เช่น ข้าวกล่องที่ไม่ได้แช่เย็น/แช่แข็ง เบเกอรี่ แซนด์วิช เนื้อสด ฯลฯ หากเลยวันไปแล้วไม่แนะนำให้ทานเพราะอาจทำให้ป่วยหรืออาหารเป็นพิษได้
賞味期限 (shoumikigen) : BBE : ควรบริโภคก่อน
賞味期限 คือวันหมดอายุที่อาหารยังมีคุณภาพดีและสามารถทานได้อย่างอร่อย ในภาษาอังกฤษใช้ตัวย่อ BBE และในภาษาไทยใช้คำว่า ควรบริโภคก่อน มักระบุบนอาหารที่เน่าเสียได้ยาก เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง ฯลฯ แม้จะเลยวันนี้ไปก็ไม่ได้หมายความว่าจะทานไม่ได้ ยังทานได้อยู่ แต่รสชาติ รสสัมผัสอาจไม่อร่อยเท่าเดิม กลิ่น สีเปลี่ยนไป คุณภาพลดลง และหากเลยวันมาแล้วต้องทานให้หมดเร็วที่สุด
ผลิตภัณฑ์อาหารของญี่ปุ่นมีการระบุวันหมดอายุอยู่หลายแบบ ตัวอย่างเช่น หากวันหมดอายุคือ 15 มกราคม 2017 (ปีเฮเซที่ 29) ก็อาจระบุได้ทั้ง
消費期限 : 29. 1. 15 (หมดอายุ 15 มกราคม ปีเฮเซที่ 29) หรือ
消費期限 : 17. 1. 15 (หมดอายุ 15 มกราคม 2017)
ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดสามารถละเว้นการระบุวันหมดอายุทั้ง 賞味期限 และ 消費期限 ได้ เช่น หมากฝรั่ง น้ำตาล เกลือ ฯลฯ บางผลิตภัณฑ์มีอุณหภูมิการจัดเก็บที่เฉพาะเจาะจง เช่น อาหารแช่แข็งต้องเก็บที่อุณหภูมิ -15 องศา นม เนื้อสด ต้องเก็บที่อุณหภูมิ 10 องศา หรือบรรดาซอสขวดต่าง ๆ ที่สามารภเก็บในอุณหภูมิปกติได้ แต่หากเปิดใช้แล้วจะต้องเก็บในตู้เย็น
อาหารแต่ละชนิดมีวิธีเก็บรักษาแตกต่างกัน หากเก็บตามวิธีที่ถูกต้องก็ยิ่งยืดอายุอาหารให้ทานได้นานขึ้น แต่หากเก็บไม่ถูกวิธีก็อาจจะเน่าเสียก่อนวันหมดอายุได้นะคะ ^^
สรุปเนื้อหาจาก pref.kanagawa