สำหรับคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินคำว่า baikingu (バイキング) ที่แปลว่า การทานอาหารแบบไม่อั้น หรือถ้าเรียกง่าย ๆ แบบบ้านเราก็คือการทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์นั่นแหละ อ้าว? แล้วทำไมออกเสียงว่า baikingu ที่คล้ายกับคำว่าไวกิ้งล่ะ คำนี้มีที่มาอย่างไร ไปหาคำตอบกันค่ะ!
ความหมายของคำว่า baikingu
baikingu (バイキング) หรือ ไบกิงกุ เป็นคำที่ญี่ปุ่นเป็นคนคิดขึ้นมาค่ะ ใช้เรียกการทานอาหารแบบไม่อั้นโดยจ่ายในราคาที่กำหนด คำนี้ใช้ทั้งในกรณีที่บริการตนเองโดยการตักอาหารที่ตัวเองชอบมาทานได้แบบไม่อั้น หรือนั่งทานอยู่ที่โต๊ะ แล้วเมื่ออาหารหมดก็ออเดอร์กับพนักงานให้มาเสิร์ฟที่โต๊ะ
ที่มาของคำว่า baikingu
ที่มาของคำนี้จริง ๆ แล้วมาจากโรงแรมแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า Imperial Hotel (帝国ホテル) ค่ะ
เจ้าของโรงแรมในช่วงนั้นที่ชื่อคุณ Inumaru Tetsuzo (犬丸徹三) ได้ไปเที่ยวเดนมาร์กและเกิดสนใจวิธีการกินอาหารที่เรียกว่า smorgasbord ซึ่งเป็นการทานอาหารแบบเลือกเฉพาะส่วนที่ชอบแบ่งมากิน ต่อมา คุณ Inumaru Tetsuzo จึงได้นำวิธีการทานอาหารแบบนี้มาเริ่มให้บริการที่โรงแรม Imperial Hotel ที่ญี่ปุ่น ในปี 1958
ตอนที่ได้เริ่มบริการนี้ที่โรงแรมนี้เอง คุณ Inumaru Tetsuzo ได้นึกถึงการทานอาหารแบบหรูหรา นึกถึงความเป็นยุโรปเหนือ แล้วก็ไปนึกถึงชาวไวกิ้ง โจรสลัดในแถบยุโรปเหนือขึ้นมา จึงตั้งชื่อบริการนี้ว่า インペリアルバイキング อ่านว่า imperial baikingu (อิมพีเรียลไวกิ้ง) หลังจากนั้นคำว่า baikingu จึงใช้เรียกการทานอาหารแบบทานไม่อั้นกันเรื่อยมา
แล้วคำว่า buffet ล่ะ?
คำว่า buffet (ビュッフェ) ก็มีการใช้ในญี่ปุ่นเช่นกันค่ะ ในภาษาญี่ปุ่น จะใช้กับความหมายว่าสไตล์การยืนกิน หรือสไตล์บริการตัวเอง เป็นการตักส่วนที่ตัวเองชอบและจ่ายแค่ส่วนนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการกินไม่อั้นเสมอไป ส่วนใหญ่จะเป็นการเลือกอาหารจากโต๊ะบุฟเฟ่ต์ที่มีทั้งอาหารจานหลัก ของหวาน ซุปวางเรียงราย แล้วเราไปเดินตักมาทาน คำนี้รวมถึงการเลือกอาหารภายในโรงอาหารของโรงเรียน โรงอาหารของบริษัท นำใส่ถาด จากนั้นนำมาคิดเงินด้วยค่ะ
ตัวอย่างโปสเตอร์โปรโมทที่มีคำว่า baikingu
และนี่ก็เป็นที่มาของคำว่า baikingu ค่ะ จากชื่อเรียกบริการอาหารในโรงแรม กลายเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปซะได้ นึกแล้วก็เหมือนคำว่า มาม่าหรือแฟ้บที่ในบ้านเราเลยนะคะ
สรุปเนื้อหาจาก news.mynavi, biz.trans-suite, chisou-media