บนโลกใบนี้มีภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารกันหลายพันภาษาอยู่ทั่วทุกมุมโลก ทั้งภาษาที่มีลายลักษณ์อักษรและภาษาที่เป็นเพียงการจดจำต่อกันมา นานวันเข้าบางภาษาก็อาจจะเริ่มสูญหายไปบ้างตามกาลเวลา รวมไปถึงภาษาท้องถิ่นที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นด้วย! เราไปดูกันค่ะว่ามีภาษาไหนบ้างในญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงต่อการสูญหาย
ภาษาท้องถิ่นในญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงต่อการสูญหาย!
ในปี 2009 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้เผยแพร่ข้อมูลของแผนที่โลกว่าด้วยภาษาที่เสี่ยงจะสาบสูญ (Atlas of the World’s Languages in Danger) ซึ่งเป็นรายชื่อภาษาที่ใกล้สูญหายมากที่สุดในโลก จากข้อมูลนี้มีประมาณ 2,500 ภาษาในโลกมีความเสี่ยงที่จะสูญหาย ซึ่งในจำนวนนี้มีภาษาท้องถิ่นที่ใช้กันในประเทศญี่ปุ่นอยู่ด้วยจำนวน 8 ภาษา ประกอบด้วย
- ภาษาไอนุ (アイヌ語)
- ภาษายาเอยามะ (八重山語)
- ภาษาโยนากุนิ (与那国語)
- ภาษาฮาจิโจ (八丈語)
- ภาษาอามามิ (奄美語)
- ภาษาคุนิกามิ (国頭語)
- ภาษาโอกินาว่า (沖縄語)
- ภาษามิยาโกะ (宮古語)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาไอนุถูกจัดอยู่ในประเภท “มีความเสี่ยงร้ายแรง” ภาษายาเอยามะและโยนากุนิถูกจัดอยู่ในประเภท “มีความเสี่ยงสูง” อีก 5 ภาษาจัดว่า “มีความเสี่ยง”
1. ภาษาไอนุ
ภาษาไอนุถือเป็นภาษาที่แตกต่างจากภาษาญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง ทั้งโครงสร้างของประโยคและคำศัพท์ต่าง ๆ อีกทั้งภาษาไอนุก็ไม่มีการเขียนบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องมาจากใน วัฒนธรรมของชาวไอนุ จะให้ความสำคัญกับการท่องจำมากกว่าการเขียนจดบันทึก อย่างไรก็ตาม ราว 100 ปีที่ผ่านมาก็ได้มีการพยายามเขียนภาษาไอนุขึ้นมาโดยใช้ตัวอักษรจากภาษาญี่ปุ่น ทั้งโรมาจิ ฮิรากานะ คาตาคานะ ด้วยเป้าหมายที่จะอนุรักษ์ภาษาไอนุเอาไว้
สาเหตุที่ภาษาไอนุค่อย ๆ เลือนหายไปก็เนื่องมาจากการปรับตัวของ ชาวไอนุ หลังสมัยเมจิที่พยายามเริ่มศึกษาเรียนรู้ด้วยภาษาญี่ปุ่น พ่อแม่ชาวไอนุจำนวนมากคิดถึงอนาคตของลูก ๆ และต้องการให้ลูกเรียนภาษาญี่ปุ่นติดตัวไว้มากกว่าภาษาไอนุ
คนญี่ปุ่นมีความพยายามในการอนุรักษ์ภาษาไอนุเอาไว้หลากหลายวิธี อย่างการตีพิมพ์หนังสือ Ainu Shin Youshuu (アイヌ神謡集) และ Ainugo Hougaisetsu (アイヌ語法概説) และในปี 2019 ก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Ainu on Drops สำหรับสอนภาษาไอนุเพื่อให้คนจำนวนมากสามารถเรียนภาษาไอนุได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบาย
2. กลุ่มภาษาริวกิว
จาก 8 ภาษาท้องถิ่นในญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงจะสูญหาย มีภาษายาเอยามะ, โยนากุนิ, อามามิ, คุนิกามิ, โอกินาว่า และมิยาโกะ ภาษาเหล่านี้คือกลุ่มภาษาริวกิว ใช้กันมากในจังหวัดโอกินาว่าและหมู่เกาะอามามิในจังหวัดคาโกชิม่า แม้ว่าจะเป็นกลุ่มภาษาริวกิวเหมือนกัน แต่แต่ละภาษาก็ยังมีความแตกต่างกันอย่างมากเนื่องจากระยะที่ตั้งของแต่ละเกาะที่ห่างไกลกันรวมถึงการไม่เคยได้รับอิทธิพลจากภาษากลาง
ตัวอย่างเช่น Yonahasedo Touyumya ผู้ปกครองเกาะมิยาโกะได้ไปเยี่ยมเยียนเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ปกครองเกาะโอกินาว่าเมื่อประมาณปี 1390 ซึ่งภาษาที่ใช้กันบนเกาะโอกินาว่าและภาษาที่ใช้บนเกาะมิยาโกะนั้นแตกต่างกันมากทำให้ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าพวกเขาจะสามารถสื่อกันได้อย่างเข้าใจ
ปัจจุบันมีความพยายามร่วมกันในการสืบทอดกลุ่มภาษาริวกิวเอาไว้ อย่างเช่นการจัดทำหนังสือภาพเกี่ยวกับเรื่องเล่า ตำนาน หรือนิทานในท้องถิ่น พร้อมใส่ภาษาของท้องถิ่นลงไปให้ผู้คนทั่วไปได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานไม่น่าเบื่อ
ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศจะมีภาษากลางที่ใช้เป็นหลัก แต่ความจริงก็ยังคงมีผู้ใช้ภาษาท้องถิ่นแฝงอยู่ในแต่ละท้องที่ หากภาษาท้องถิ่นเหล่านี้ไม่ได้รับการสืบทอด เอกลักษณ์และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ในภาษาเหล่านี้ก็อาจสูญหายไปตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน
สรุปเนื้อหาจาก mag.japaaan