เรื่องของขนม "ยัตสึฮาชิ" และ "นามะยัตสึฮาชิ" ของดีเมืองเกียวโต

ท่านผู้อ่านที่เคยไปเที่ยวเกียวโตน่าจะได้เคยเห็นขนม “ยัตสึฮาชิ” และก็ “นามะยัตสึฮาชิ” กัน โดยเฉพาะร้านขายตามแหล่งท่องเที่ยวเช่นที่อาราชิยามะ และก็ทางเดินขึ้นวัดคิโยมิซึ วันนี้จะขอเล่าถึงประวัติความเป็นมาของขนม “ยัตสึฮาชิ” กันก่อนนะครับ

ความเป็นมาของขนม “ยัตสึฮาชิ”

เรื่องของขนม "ยัตสึฮาชิ" และ "นามะยัตสึฮาชิ" ของดีเมืองเกียวโต
ขนมยัตสึฮาชิ

ว่ากันว่าขนมยัตสึฮาชินั้นมีมาแต่ปี พ.ศ.2232 (ปีที่สองแห่งศักราชเก็นโรคุ) ซึ่งเป็นปีที่ร้านขายขนมนี้ ได้แก่ ร้านโชโกะอิงยัตสึฮาชิโซฮอนเท็น (聖護院八ッ橋総本店) และ ร้านฮอนเคะนิชิโอะยัตสึฮาชิ (本家西尾八ッ橋) ได้ตั้งร้านขึ้น (โอ ตั้งมาสามร้อยกว่าปีแล้วหรือนี่)

เรื่องที่ว่าขนมนี้ถูกคิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมจึงใช้ชื่อนี้นั้น มีเรื่องเล่าสองกระแสดังนี้

กระแสแรก เขาว่าขนมนี้ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นที่ระลึกถึง ยัตสิฮาชิ เค็งเกียว (八橋検校) นักดีดพิณญี่ปุ่น (โคโดะ 琴) ชื่อดัง มันจึงเป็นขนมอบที่รูปร่างละม้ายพิณญี่ปุ่น โดยคิดทำและขายในปี พ.ศ.2232 (ปีที่สองแห่งศักราชเก็นโรคุ) สี่ปีให้หลังนับจากมรณกรรมของนักดีดพิณชื่อก้องผู้นั้น

กระแสที่สอง เขาว่าขนมนี้ได้ชื่อว่า “ยัตสึฮาชิ” ตามบทกวีในหนังสือ “อิเสะ โมโนกาตาริ” (伊勢物語) ที่มีบทกวีที่เอ่ยถึง “มิคาวะ โนะ คุนิ ยัตสึฮาชิ” (三河の国八橋) ซึ่งยัตสึฮาชิในบทกวีนั้น ทุกวันนี้คือ “ตำบลยัตสึฮาชิ” (八橋町) ในอำเภอจิริว (知立市) จังหวัดไอจิ ที่ซึ่งแม่น้ำแยกสายเหมือนขาแมงมุม จึงมีสะพานแปดแห่ง เลยเรียกที่นั่นว่า “แปดสะพาน” (ยัตสึฮาชิ) ขนมนี้ทำรูปร่างขึ้นมาให้ละม้าย “สะพาน” ตามที่กล่าวถึงในบทกวี

ผู้เขียนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเชื่อเรื่องเล่ากระแสใดดี?

ทุกวันนี้ร้านที่ขายขนมยัตสึฮาชิในเกียวโตนั้นมีเป็นสิบเจ้า เจ้าที่ดังๆ ก็ได้แก่ ร้านโชโกะอิงยัตสึฮาชิโซฮอนเท็น (聖護院八ッ橋総本店) ร้านฮอนเคะนิชิโอะยัตสึฮาชิ (本家西尾八ッ橋) และร้านอิซุทสึยัตสึฮาชิฮอนโปะ (井筒八ッ橋本舗) เป็นต้น

ขนมยัตสึฮาชิเป็นขนมอบทำจากแป้งข้าวเจ้า ปรุงด้วยน้ำตาล อบเชย และอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นรูปโค้งอย่างที่ว่า แต่ก็มีบางร้านทำเป็นแผ่นเรียบ บางร้านก็ใส่ลวดลายตามฤดูกาลลงบนขนมก็มี

พูดถึงขนม “นามะยัตสึฮาชิ”

เรื่องของขนม "ยัตสึฮาชิ" และ "นามะยัตสึฮาชิ" ของดีเมืองเกียวโต
ขนมนามะยัตสึฮาชิ

ขนม “นามะยัตสึฮาชิ” (生八ッ橋) เป็นขนมแป้งข้าวเจ้าแบบ “นิ่ม” คือไม่ใช่ขนมอบ ส่วนใหญ่นิยมทำแบบเอาแป้งมาใส่ไส้ตรงกลางแล้วพับเป็นรูปสามเหลี่ยม รสคลาสสิกมักเป็นรสอบเชย รสชาเขียว แต่เดี๋ยวนี้มีรสแปลก ๆ เอาใจคนยุ aคใหม่ เช่น รสรามูเนะ (เครื่องดื่มน้ำอัดลมของญี่ปุ่น) รสลูกพลับ รสยูสุ รสช็อกโกแลต รสช็อกโกแลตถั่วแดง ฯลฯ

พ้นยุคโควิดใครได้ไปเที่ยวเกียวโต ลองซื้อกินดูนะครับ โดยเฉพาะ “นามะยัตสึฮาชิ” มีขายตามย่านท่องเที่ยวทั่วไป ใครชอบขนมที่กินง่าย ๆ ดูเบา ๆ น่าจะชอบกันนะครับ

สรุปเนื้อหาจาก musyozoku
ผู้เขียน: TU KEIZAI-MAN

conomin

conomin คือกลุ่มนักเขียนใหม่ของ conomi ที่คอยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่น เพื่อคนรักญี่ปุ่น จากปลายปากกาคนรักญี่ปุ่นด้วยกัน

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า