ในญี่ปุ่นมีอาหารประจำท้องถิ่นที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ ทงบุริ (とんぶり) ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อของ จังหวัดอาคิตะ ที่สามารถหารับประทานได้ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนเท่านั้น มารู้จักทงบุริ คุณค่าสารอาหาร และวิธีการนำมารับประทานแบบคนญี่ปุ่นกันค่ะ
รู้จักทงบุริและรสชาติ
ทงบุริเป็นเมล็ดของต้นโคเชีย (Kochia scoparia, コキア) หรือเรียกอีกชื่อโฮคิกิ (Houkigi, ホウキギ) ที่ได้จากการนำเมล็ดแห้งของต้นโคเชียมาต้ม แช่น้ำไว้จนเปลือกของเมล็ดโคเชียหลุดลอกออก แล้วแยกเอาส่วนเปลือกทิ้งและนำเมล็ดที่มีสีเขียวเข้มมารับประทานและใส่บรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่าย
ลักษณะทั่วไปของทงบุริคือ เป็นเม็ดกลม ๆ ที่มีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีสีเขียวเข้มใสและมีเนื้อสัมผัสกรุบแตกในปาก ทงบุริไม่มีรสชาติทำให้สามารถนำมารับประทานร่วมกับวัตถุดิบต่าง ๆ ได้หลากหลาย โดยทงบุริได้ชื่อว่าเป็น “คาเวียร์แห่งท้องทุ่ง” เพราะมีรูปร่างและเนื้อสัมผัสกรุบที่ใกล้เคียงกับไข่ปลาคาเวียร์
คุณค่าสารอาหารของทงบุริ
ทงบุริ 100 กรัมมีคุณค่าสารอาหารดังนี้
- พลังงาน 89 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 12.9 กรัม
- โปรตีน 6.1 กรัม
- เส้นใยอาหาร 7.1 กรัม
- ไขมัน 3.5 กรัม
- บีต้า แคโรทีน 800 ไมโครกรัม
ทงบุริอุดมไปด้วย เส้นใยอาหาร ซึ่งช่วยให้การขับถ่ายดี ป้องกันการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย และ บีตา แคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันของร่างกาย
วิธีการนำมารับประทาน
ทงบุริไม่มีรสชาติแต่มีเนื้อสัมผัสกรุบอร่อยแตกตัวในปาก คนญี่ปุ่นนิยมนำมารับประทานกับเต้าหู้คินุ ข้าวสวยร้อน ๆ โดยเหยาะซีอิ้วลงไปเล็กน้อย ใส่ในสลัดผัก ผัดกับเส้นสปาร์เก็ตตี้ ใส่ในอาเอะโมโนะหรือยำแบบญี่ปุ่น รับประทานกับปลาดิบและซาชิมิ และใส่ในซุปต่าง ๆ เป็นต้น
แม้จะเป็นเพียงผลผลิตจากเมล็ดพืช แต่ทงบุริเป็นอาหารประจำฤดูใบไม้ร่วงที่มีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นจำนวนมาก หากไปเยือนจังหวัดอาคิตะในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ก็ลองซื้อคาเวียร์แห่งท้องทุ่งไปเป็นของฝากญาติมิตรดูค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: delishkitchen.tv