คนญี่ปุ่นเริ่มฮิตทานขนมปังกันมาตั้งแต่สมัยเมจิ ปกติแล้วขนมปังที่ชาวยุโรปทานกันจะเป็นขนมปังแข็ง ๆ อย่างพวกบาร์เก็ต แต่คนญี่ปุ่นจะทานขนมปังแบบนุ่ม ๆ อย่างขนมปังขาวรูปร่างสี่เหลี่ยมที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า Shokupan (食パン) แปลว่า ขนมปังสำหรับทาน แต่สงสัยกันไหมคะว่าปกติ ขนมปังก็เป็นอาหารที่เอาไว้กินอยู่แล้ว ทำไมถึงต้องมีคำว่า Shoku (食) ที่แปลว่ากินอยู่ในชื่อเรียกด้วยนะ จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ก็มีหลายทฤษฎีหลายที่มา เราลองไปดูแต่ละทฤษฎีกันค่ะ
ทำไมถึงเรียกว่า Shokupan (食パン) ?
เวลาที่วาดรูปแล้วอยากจะลบให้จางลง จะมีทริคอย่างหนึ่งคือการใช้ขนมปังลบแทนยางลบ! เพราะการใช้ยางลบแข็ง ๆ อาจทำให้กระดาษขาดหรือมีรอยได้ แต่การใช้ขนมปังจะอ่อนโยนต่อกระดาษมากกว่า ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเรียกขนมปังแยกกันว่า Keshipan (消しパン) ขนมปังสำหรับลบ กับ Shokupan (食パン) ขนมปังสำหรับทาน โอ้โห! เพิ่งเคยได้ยินเลยนะคะเนี่ยว่ามีการใช้ขนมปังแทนยางลบด้วย ถ้าใครนึกภาพไม่ออกว่าจะลบได้ยังไง ลองไปดูคลิปตัวอย่างสั้น ๆ กันค่ะ
แต่ทั้งนี้ ก็มีที่บอกว่า Shokupan เป็นการแยกออกจากคำว่า pan ที่แปลว่ากระทะในภาษาอังกฤษ เนื่องจากคนญี่ปุ่นจะออกเสียงคำนี้เหมือนกับคำว่า “ปัง” จึงเรียกขนมปังว่า Shokupan (食パン) เพื่อให้แยกกับคำว่า pan
นอกจากนี้ บางทฤษฎีก็ว่า Shokupan (食パン) ย่อมาจากคำเต็มว่า 主食用のパン (Shushokuyou no Pan) หรือ 本食パン (Honshokupan) ซึ่งทั้งสองคำก็หมายถึงขนมปังสำหรับทานเหมือนกันค่ะ
Shokupan (食パン) ไม่ได้มีแค่ขนมปังสี่เหลี่ยม?!
ความจริงแล้วในวงธุรกิจเกี่ยวกับขนมปัง จะไม่ได้เรียกขนมปังทุกชนิดว่า Shokupan (食パン) แต่มีการเรียกแยกชนิดด้วยค่ะ อย่างขนมปังที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยม จะเรียกว่า Kakushoku (角食) ส่วนขนมปังที่ด้านบนโค้งมนขึ้นมาจะเรียกว่า Yamashoku (山食) เป็นขนมปังที่จะไม่ปิดฝาเวลาอบค่ะ จึงทำให้ด้านบนขยายตัวขึ้นมามากกว่าขนมปังสี่เหลี่ยม เอ๊ะว่าแต่ ขนมปังที่ด้านบนพองขึ้นมาแบบนี้ ภาษาไทยเรามีชื่อเรียกหรือเปล่าน้าา?
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ คนฮอกไกโดจะเรียกชื่อขนมปังเหล่านี้แยกกันเหมือนกับที่ใช้ในวงธุรกิจขนมปังด้วยนะคะ จะไม่เรียกรวมว่า Shokupan (食パン) เหมือนคนจังหวัดอื่น ๆ หากใครไปเที่ยวฮอกไกโดแล้วเจอคำว่า Kakushoku (角食) หรือ Yamashoku (山食) ก็ไม่ต้องแปลกใจนะคะ มันคือขนมปังนั่นเองค่าา ^^
สรุปเนื้อหาจาก nlab.itmedia