เซ็ตสึบุน (Setsubun, 節分) เป็นวันสุดท้ายของฤดูกาลซึ่งมีสี่ครั้งต่อปี (ญี่ปุ่นมี 4 ฤดูกาล) แต่เนื่องจากคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับวันเซ็ตสึบุนที่แบ่งฤดูหนาวกับฤดูใบไม้ผลิเป็นพิเศษจึงทำให้มีเทศกาลเซ็ตสึบุนขึ้นในวันก่อนวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิที่เรียกว่าริชชุน (Risshun, 立春) ตามปฏิทินจีน ในปี 2024 นี้เทศกาลเซ็ตสึบุนตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ซึ่งในวันนี้มีกิจกรรมที่โดดเด่นคือการปาถั่วเพื่อไล่ปิศาจหรือสิ่งชั่วร้ายออกจากชีวิต และมีการรับประทานซูชิม้วนหรือเอโฮมากิ (Ehomaki, 恵方巻) มารู้ความเป็นมากันว่าทำไมคนญี่ปุ่นรับประทานเอโฮมากิในวันนี้ พร้อมกับเรื่องราวน่ารู้และกฎการรับประทานเอโฮมากิกันค่ะ
ที่มาของการรับประทานเอโฮมากิ
ที่มาของการรับประทานเอโฮมากิมาจาก แผนการส่งเสริมการตลาดของผู้ผลิตสาหร่ายและร้านขายซูชิซึ่งเริ่มต้นขึ้นในโอซาก้า โดยมีลำดับเหตุการณ์ดังนี้คือ ในปี 1932 สมาคมร้านค้าซูชิในโอซาก้าบอกกับลูกค้าว่าการรับประทานเอโฮมากิโดยหันหน้าไปในทิศทางที่โชคดีในคืนเซ็ตสึบุนจะนำความโชคดีมาให้
ต่อมาในปี 1973 สมาคมสหกรณ์ผู้ค้าส่งสาหร่ายโอซาก้าก็ได้ตีพิมพ์ใบปลิวที่ระบุว่า “มีคำกล่าวนานมาแล้วว่า หากรับประทานเอโฮมากิทั้งครอบครัวในคืนเซ็ตสึบุนโดยหันหน้าเข้าหาทิศทางที่เป็นมงคลความสุขจะมาเยือนคุณ” และนำไปแจกจ่ายตอนไปส่งสาหร่ายที่ร้านซูชิ ซึ่งพร้อมกันนั้นเองห้างสรรพสินค้าในโอซาก้าก็ได้เริ่มวางขายเอโฮมากิในวันที่ 3 กุมภาพันธ์เช่นกัน
เรื่อยมาจนถึงปี 1977 ได้มีการจัดงานเทศกาลสาหร่ายขึ้นโดยอุตสาหกรรมสาหร่าย มีการประกวดการรับประทานเอโฮมากิและมีการถ่ายทอดทางทีวีซึ่งทำให้คนทั้งประเทศรู้จักเทศกาลสาหร่ายและการรับประทานเอโฮมากิมากขึ้น จนในปี 1983 ร้านค้าสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ทในโอซาก้าและจังหวัดเฮียวโงะก็ได้เริ่มวางจำหน่ายเอโฮมากิกับเขาบ้าง ส่วนร้านค้าสะดวกซื้อ 7-11 นั้นเริ่มวางจำหน่ายเอโฮมากิที่ฮิโรชิม่าในปี 1989 และพื้นที่การจำหน่ายก็ขยายขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในพื้นที่ทางตะวันตกของคันไซ และทั่วประเทศ ในปัจจุบันเองเมื่อถึงเทศกาลเซ็ตสึบุนร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านซูชิ ก็จะเปิดจำหน่ายเอโฮมากิโดยมีทั้งการสั่งจองไว้ล่วงหน้าหรือไปซื้อได้ที่ร้านค้าในวันเซ็ตสึบุน
ไส้ของเอโฮมากิมีความหมายอย่างไรบ้าง
โดยทั่วไปไส้พื้นฐานของเอโฮมากิจะมีส่วนผสมของวัตถุดิบถึงเจ็ดชนิด โดยคนญี่ปุ่นเชื่อว่าเลขเจ็ดนั้นเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าเจ็ดองค์ที่นำความโชคดีมาให้ นอกจากนี้ เอโฮมากิก็มีลักษณะคล้ายกับไม้กระบองของปีศาจญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากรับประทานกระบองเสียก็จะเป็นการกำจัดปิศาจและความโชคร้ายออกไปด้วย โดยความหมายของไส้ทั้งเจ็ดของเอโฮมากิมีดังนี้
- คัมเปียว (Kanpyo) หมายถึงการมีอายุยืนและพบเจอเนื้อคู่
- เห็ดหอม มีลักษณะคล้ายร่มจึงหมายถึงการช่วยปกป้องจากสิ่งไม่ดี
- ไข่หวานทามาโกยากิหรือไข่ม้วนดาเตะมากิ สีเหลืองของไข่หมายถึงการเพิ่มความโชคดีในด้านการเงิน และลักษณะที่ม้วนเหมือนกระดาษเขียนหนังสือที่ใช้ในสมัยโบราณของดาเตะมากิหมายถึงวิชาความรู้ที่ติดตัว
- ปลาไหล หมายถึงการได้รับการเลื่อนขั้นในหน้าที่การงาน
- ผงปลาป่นสีชมพูหรือซากุระเด็นบุ สีชมพูที่สื่อถึงการมาเยือนของฤดูใบไม้ผลิเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมงคล
- แตงกวา จากชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Kyuri (きゅり) พ้องเสียงกับเลข 9 (Kyu) จึงหมายถึงการได้รับสิ่งดี ๆ 9 ประการ
- กุ้ง หมายถึงการมีชีวิตที่ยืนนานจนหลังโค้งงอเหมือนกุ้ง
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้มีไส้ของเอโฮมากิมากมายให้เลือกรับประทานได้ตามความชอบ
กฎของการรับประทานเอโฮมากิเพื่อความโชคดี
- ไม่ควรใช้มีดตัดแบ่งเอโฮมากิเพื่อรับประทานเพราะการใช้มีดตัดหมายถึงตัดความโชคดีและโชคลาภออกไป
- รับประทานโดยหันหน้าไปยังทิศโชคดีซึ่งเปลี่ยนทุกปี สำหรับในปี 2024 นี้ ทิศโชคดีคือ ตะวันออกเฉียงเหนือ
- รับประทานเอโฮมากิให้หมดแท่งในครั้งเดียวโดยห้ามพูดอะไรจนกว่าจะทานหมด
มิใช่เพียงการรับประทานเอโฮมากิในเทศกาลเซ็ตสึบุนแต่ยังมีวันการรับประทานปลาไหลในวันโดโยโนะอุชิโนะฮิ (Doyo no Ushinohi, 土用の丑の日) ซึ่งได้รับอิทธิพลการส่งเสริมการตลาดจนทำให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ปฏิบัติกันด้วย ทั้งนี้ในญี่ปุ่นยังมีวันที่เกี่ยวกับอาหารเยอะมาก ไว้ผู้เขียนจะมาเล่าให้ฟังอีกค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: allabout