แกงกะหรี่

แกงกะหรี่เป็นเมนูอาหารที่คนญี่ปุ่นนิยมทำทานกันในบ้าน เพราะทั้งทำง่าย สามารถทำได้เยอะในคราวเดียวและเก็บไว้ทานได้หลายวัน แต่การจัดเก็บอย่างไม่เหมาะสมก็อาจทำให้แกงกะหรี่เน่าเสียง่ายจนเกิดอาหารเป็นพิษได้! วันนี้เราก็จะมาพูดถึงลักษณะของแกงกะหรี่ที่เริ่มเน่าเสียและไม่ควรนำมาทานต่อ รวมไปถึงวิธีการจัดเก็บอย่างเหมาะสมเพื่อยืดอายุให้ทานได้นานขึ้น ใครชอบทำแกงกะหรี่ญี่ปุ่นทานเอง จดไว้ได้เลย!

แกงกะหรี่ที่ทิ้งไว้ข้ามคืนอันตรายกว่าที่คิด!

แกงกะหรี่

คนส่วนใหญ่มักบอกกันว่า “แกงกะหรี่จะอร่อยยิ่งขึ้นในวันถัดไป” ซึ่งก็จริงอยู่ที่เครื่องเทศจะซึมเข้าเนื้อและให้รสชาติเข้มข้นยิ่งขึ้น แต่เบื้องหลังความอร่อยนี้ก็มีอันตรายที่คาดไม่ถึงซ่อนอยู่ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษได้หากไม่ได้จัดการอย่างเหมาะสม สิ่งที่ต้องระวังก็คือ แบคทีเรีย Clostridium perfringens แบคทีเรียชนิดนี้ทนความร้อนได้ เมื่อมันเติบโตก็จะไม่สามารถฆ่าให้ตายได้แม้ว่าจะโดนความร้อนก็ตาม แบคทีเรีย Clostridium perfringens มีลักษณะเด่นคือ

  • – ขยายพันธุ์ได้ง่ายในอุณหภูมิ 12-50°C
  • – ชอบสภาพแวดล้อมที่ไม่มีออกซิเจน (และขยายพันธุ์ได้ง่ายในอาหารที่มีความข้นหนืดสูงโดยเฉพาะแกงกะหรี่)
  • – สร้างสปอร์และสามารถทนความร้อนได้ถึง 100°C

ด้วยลักษณะเหล่านี้ หากเก็บแกงกะหรี่ไว้ไม่ดีก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษโดยไม่รู้ตัวได้ ยิ่งหากเป็นคนชอบทำเยอะ ๆ แล้วทิ้งไว้ทานทีหลังก็ยิ่งควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากทานเข้าไปเพราะรู้สึกเสียดายแล้วป่วยขึ้นมาก็คงไม่คุ้ม

แกงกะหรี่เก็บไว้ได้นานแค่ไหน ?

แกงกะหรี่

ระยะเวลาของแกงกะหรี่จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวิธีการจัดเก็บ โดยแต่ละวิธีมีระยะเวลาคร่าว ๆ ดังนี้

– วางในอุณหภูมิห้อง : หากอากาศร้อน เก็บได้ประมาณ 3 ชั่วโมงถึงครึ่งวัน หากอากาศเย็น เก็บได้ 1 วัน
– เก็บในตู้เย็น : เก็บได้ประมาณ 2-3 วัน
– เก็บในช่องแช่แข็ง : เก็บได้ประมาณ 1 เดือน

นี่เป็นเพียงระยะเวลาคร่าว ๆ เท่านั้น แกงกะหรี่จะเสียช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ยิ่งในสภาพแวดล้อมแบบร้อนชื้นอย่างไทยเราก็ยิ่งทำให้แบคทีเรียเติบโตเร็ว ส่วนในสภาพแวดล้อมที่เย็นอย่างตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งก็จะช่วยลดการเติบโตของแบคทีเรียไปได้บ้าง แต่ความจริงแล้วควรทานให้หมดตั้งแต่หลังทำเสร็จจะดีที่สุด

7 ลักษณะของแกงกะหรี่ที่ไม่ควรนำมาทานต่อ

แกงกะหรี่

1. มีแผ่นเยื่อสีขาวอยู่บนผิว

หากมีแผ่นเยื่อสีขาวอยู่บนผิวแกงกะหรี่แสดงว่าคุณภาพอาหารแย่ลง หากทานเข้าไปอาจมีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่อร่างกาย ทิ้งไปได้เลยไม่ต้องเสียดาย แม้จะเห็นว่ามันมีแค่นิด ๆ หน่อย ๆ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่แบคทีเรียจะเติบโตอยู่ในส่วนที่มองไม่เห็น

2. น้ำแกงเหนียวยืด

หากตักขึ้นมาแล้วน้ำแกงกะหรี่มีความเหนียวยืดกว่าปกติ นี่เป็นสัญญาณว่ามีแบคทีเรีย Clostridium perfringens กำลังเติบโต ต้องระวังโดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก อาการอาจรุนแรงได้ ห้ามทานเด็ดขาด

3. มีจุดสีขาวหรือสีเขียวลอยอยู่

หากเห็นจุดสีขาวหรือสีเขียวลอยอยู่บนผิวแกงกะหรี่ แสดงว่าอาจมีเชื้อรา แม้ว่าจะตักส่วนที่เป็นเชื้อราออกไปแต่ก็ยังมีสปอร์ที่แพร่กระจายอยู่ในน้ำแกงและมองไม่เห็น จึงควรทิ้งแกงทั้งหมดไปไม่ต้องเสียดาย

4. มีกลิ่นเปรี้ยว

หากแกงกะหรี่มีกลิ่นฉุนหรือกลิ่นเปรี้ยว แสดงว่ามีการเน่าเสีย หากมีกลิ่นที่แตกต่างกับตอนทำเสร็จอย่างชัดเจนก็ห้ามทานเช่นกัน บางครั้งเราอาจจะไม่ทันสังเกตเนื่องจากผสมกับกลิ่นเครื่องเทศ แต่หากรู้สึกว่ามีกลิ่นแปลก ๆ แม้แต่น้อยก็อย่าเสี่ยงดีกว่า

5. ทานแล้วแสบลิ้นหรือมีรสเปรี้ยวแปลก ๆ

หากทานเข้าไปแล้วรู้สึกแสบชาที่ลิ้นหรือมีรสเปรี้ยวแปลก ๆ คงไม่ต้องเดาแล้วว่าแกงกะหรี่เสียแล้วแน่นอน คายทิ้งทันทีและทิ้งแกงที่เหลือในหม้อด้วย หากยังฝืนทนทานไปเพราะแค่รู้สึกเสียดาย ร่างกายจะมีปัญหาตามมาแน่นอน

6. น้ำมันแยกตัวอย่างผิดปกติ

หากมีน้ำมันลอยอยู่บนผิวแกงกะหรี่มากกว่าปกติหรือน้ำมันเปลี่ยนสี อาจหมายความว่าไขมันที่อยู่ในส่วนผสมนั้นเกิดการสลายตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษได้ อย่าคิดแค่ว่าคนผสมกันไม่เป็นไรหรอก แต่ให้เททิ้งไปจะปลอดภัยกว่า

7. สีของวัตถุดิบเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

หากสีของวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใส่ลงไป เช่น เนื้อสัตว์หรือผัก เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับตอนหลังทำเสร็จ โดยเฉพาะถ้าเนื้อเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือเขียวคือเกิดจากการเน่าเสียแน่นอนไม่ต้องเดา อย่าทานเด็ดขาด

นี่ก็เป็นลักษณะคร่าว ๆ ของแกงกะหรี่ที่เริ่มเน่าเสียและไม่ควรนำมาทานต่อ แม้รูปลักษณ์หรือกลิ่นจะไม่มีอะไรผิดปกติ แต่หากรู้สึกแปลก ๆ ขึ้นมาสักเล็กน้อยก็แนะนำให้ทิ้งไปเลยดีกว่าเพื่อความปลอดภัย

เก็บแกงกะหรี่อย่างไรให้ปลอดภัยจากแบคทีเรีย?

การเก็บรักษาอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้แกงกะหรี่อยู่ได้นานขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษได้ ขอแนะนำ 4 วิธีดังนี้

แกงกะหรี่

1. ทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็ว

หลังจากทำเสร็จก็ทำให้แกงกะหรี่มีอุณหภูมิเย็นลงให้เร็วที่สุด แนะนำให้ใส่น้ำเย็นใส่หม้อใบใหญ่แล้วนำหม้อแกงกะหรี่แช่ลงไป จะช่วยให้แกงกะหรี่ผ่านช่วงอุณหภูมิ 12-50°C ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิที่แบคทีเรีย Clostridium perfringens เติบโตได้ง่าย บางคนอาจจะคิดว่าหากนำไปใส่ตู้เย็นน่าจะเร็วกว่า แต่ไม่แนะนำเพราะตู้เย็นจะทำงานหนักและแกงกะหรี่ร้อน ๆ จะทำให้ในตู้เย็นกลายเป็น Temperature Danger Zone อาหารอื่น ๆ ที่แช่ไว้จะเน่าเสียง่ายไปด้วย

2. แบ่งเก็บสำหรับทานทีละมื้อ

แนะนำให้แบ่งเก็บเป็นพอร์ชั่นเล็ก ๆ สำหรับทาน 1 มื้อ จะสามารถนำมาอุ่นได้ง่ายและทานหมดได้ในครั้งเดียว ส่วนที่เหลือก็ยังเก็บไว้ได้โดยไม่ถูกอุ่นซ้ำ ๆ เคล็ดลับในการอุ่นแกงกะหรี่คือการใช้ภาชนะทรงแบน ถ้าเป็นทรงถ้วยหรือภาชนะหนาจะทำให้ตรงกลางยังเย็นอยู่ เพิ่มความเสี่ยงที่แบคทีเรียจะเจริญเติบโต

3. ใช้ภาชนะที่ปิดมิดชิด

ใช้ภาชนะที่สะอาดและปิดมิดชิดในการจัดเก็บ แต่ไม่ต้องถึงขนาดแบบสุญญากาศ แค่ภาชนะมีฝาปิดให้อากาศเข้าไปได้บ้างก็เพียงพอ นอกจากนี้การใช้ภาชนะสำหรับแช่เย็นหรือแช่แข็งโดยเฉพาะยังสามารถป้องกันไม่ให้ภาชนะเสื่อมสภาพเนื่องจากอุณหภูมิได้

4. อุ่นให้ทั่วถึง

เมื่อนำแกงกะหรี่ที่เก็บไว้มาอุ่นทาน จะต้องผ่านความร้อนอย่างทั่วถึง อุ่นให้อุณหภูมิตรงกลางอยู่ที่ 75°C อย่างน้อย 1 นาที สิ่งสำคัญคือต้องคอยคนให้เข้ากันเพื่อให้ความร้อนกระจายทั่วถึง หลาย ๆ คนอาจคิดว่าอุ่นในไมโครเวฟก็พอ แต่การอุ่นในไมโครเวฟมักได้รับความร้อนไม่สม่ำเสมอ หากเป็นไปได้ควรเทใส่หม้อแล้วอุ่นบนเตา คนให้ทั่ว ความร้อนจะทั่วถึงแถมยังอร่อยกว่าอุ่นในไมโครเวฟอีกด้วย

แกงกะหรี่เป็นอาหารที่ผู้คนมากมายชื่นชอบ การจัดเก็บอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากมีสิ่งใดผิดปกติไปจากเดิมแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ต้องเสียดาย ทิ้งไปดีกว่าเพื่อสุขภาพของเราเอง แบ่งเก็บเป็นมื้อไว้ในภาชนะที่เหมาะสม เมื่อนำมาอุ่น ต้องแน่ใจว่าอุ่นได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ เท่านี้ก็สามารถเพลิดเพลินกับแกงกะหรี่ญี่ปุ่นได้อย่างอร่อยและปลอดภัยหายห่วง

สรุปเนื้อหาจาก shufuse

AsmarCat

นักเขียนทาสแมวที่คอสเพลย์เป็นงานอดิเรก ชื่นชอบ Pop Culture ของญี่ปุ่นเป็นพิเศษ ดูเมะ ฟังเพลง และ Cafe Hopping มามองญี่ปุ่นในมุมใหม่ ๆ ไปด้วยกันนะคะ

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า