“นารา” นอกจากจะเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน วัดสวยงาม และมีกวางเยอะแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งกำเนิดของขนม “มันจู” ของญี่ปุ่นอีกด้วย! โดยที่นารามีวิธีการทำขนมมันจูหลายประเภทที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีตกระทั่งพัฒนาต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมการทำขนมญี่ปุ่นให้หลายคนได้ลิ้มลองกันมาอย่างยาวนาน จนได้รับการขนานนามว่า “นารามันจู” ในบทความนี้จะพาทุกคนมารู้จักขนมชนิดนี้กันค่ะ
“มันจู” คืออะไร ?
“มันจู” เป็นขนมที่ทำขึ้นโดยการห่อส่วนผสม เช่น ถั่วแดงบด เข้าไปในแป้งที่ทำจากแป้งสาลีนึ่ง เป็นขนมสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากหมั่นโถวหรือซาลาเปาของจีน โดยว่ากันว่ามันจูในญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นในสมัยมูโรมาจิ (ค.ศ. 1336 –1568) เมื่อ “รินโจอิน” พระนิกายเซ็นในช่วงราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960 – 1279) เดินทางเข้ามาในญี่ปุ่น ก็ได้เผยแพร่มันจูเป็นครั้งแรก ทำให้มันจูกลายเป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัดนาราและกระจายความนิยมไปทั่วญี่ปุ่น โดยทุกวันที่ 19 เมษายนของทุกปีจะมีการจัดเทศกาลมันจูขึ้นที่ ศาลเจ้าฮายาชิ (Hayashi Shrine/ 林神社) ในเมืองนารา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและแสดงความขอบคุณให้กับรินโจอินหรือเทพเจ้าแห่งมันจู ในการเทศกาลจะมีการอธิษฐานขอให้อุตสาหกรรมขนมเจริญรุ่งเรือง และเป็นการอนุรักษ์สืบทอดขนมญี่ปุ่นให้ดำรงอยู่สืบไป
ส่วนสาเหตุที่รินโจอินเลือกไปที่นารา คาดว่ามี 3 เหตุผลหลัก ๆ ดังนี้
- ในตอนนั้นนาราเป็นศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรม
- เกียวโตซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้นมีการแย่งชิงอำนาจอย่างดุเดือด รินโจอินเลยต้องการเลี่ยงปัญหาดังกล่าว
- มีชาวจีนและเกาหลีจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ในนารา
ด้วยเหตุนี้ทำให้มันจูเกิดขึ้นที่นารา และได้รับการพัฒนาสร้างสรรค์จนเกิดเป็นมันจูขนาดต่าง ๆ มากมาย
“นารามันจู” ต้นตำรับมันจูญี่ปุ่น
นารามันจู (Nara Manjyuu) เป็นต้นแบบของมันจูที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นขนมที่มีความเรียบง่าย ข้างในเป็นไส้ถั่วแดงบดห่อด้วยแป้งบาง ๆ ว่ากันว่าเป็นมันจูแบบแรกที่รินโจอินทำขึ้นคล้ายซาลาเปาหรือหมั่นโถวไส้ถั่วแดง แต่เมื่อเวลาผ่านไปรูปร่างก็เปลี่ยนไป จนกลายเป็นมันจูแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน ตัวแป้งจะมีความหนาน้อยไม่เกิน 1 มม. จุดเด่นของขนมญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะอยู่ที่ไส้ค่ะ เพราะส่วนใหญ่จะใช้ถั่วแดงที่ปลูกในท้องถิ่นมาทำ ซึ่งจะให้รสชาติและสัมผัสที่แตกต่างกัน ขนมญี่ปุ่นที่นาราส่วนใหญ่จะใช้ถั่วแดงสายพันธุ์ไดนากอนที่ปลูกในแถบแม่นํ้าอุดะ เป็นถั่วแดงที่มีคุณภาพสูง รสชาตินุ่มนวลเหมาะสมสำหรับการนำมาทำเป็นไส้ขนมญี่ปุ่น ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างขึ้นมา 3 ชนิดค่ะ
1. บุโตะมันจู
この投稿をInstagramで見る
บุโตะมันจู (Buto Manjyuu) เป็นมันจูทอดและโรยด้วยนํ้าตาล ข้างในห่อด้วยถั่วบด ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเจ้า ว่ากันว่าได้ขนมที่คณะทูตนำกลับมาจากจีนช่วงราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) เป็นขนมในชนิดหนึ่งกลุ่ม “คาราคุดาโมโนะ” (Karakudamono) หรือขนมอบที่มีต้นกำเนิดจากจีนในราชวงศ์ถังที่ญี่ปุ่นรับอิทธิพลผ่านความสัมพันธ์ทางการทูต และนำมาใช้เป็นเครื่องบูชาในศาลเจ้าชินโตหรือวัดพุทธ ต่อมาก็กลายเป็นขนมขึ้นสำรับจัดเลี้ยงสำหรับขุนนางในสมัยเฮอัน (ค.ศ. 794 – 1185)
2. เมะโอะโตะมันจู (Meoto Manjyuu)
この投稿をInstagramで見る
เมะโอะโตะมันจู (Meoto Manjyuu) เป็นมันจูที่ตัวแป้งทำมาจากมันภูเขานึ่ง ห่อด้วยไส้ถั่วแดงบดหยาบและบดละเอียด ของฝากยอดนิยมในการเดินทางการแสวงบุญของชาวญี่ปุ่นในอดีต ได้รับความนิยมจนมักถูกหยิบยกขึ้นพูดถึงในวรรณกรรม ขนมชนิดนี้หายไปจากสังคมญี่ปุ่นอยู่ระยะหนึ่งแต่ก็กลับมาอีกครั้ง เนื่องจากร้านขนมแห่งหนึ่งในเมืองนาราได้กลับมาทำขนมชนิดนี้อีกครั้งโดยใช้สูตรดั้งเดิมตั้งแต่ในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – ค.ศ. 1868) กันเลยทีเดียว
3. โอริมันจู (Oori Manjyuu)
この投稿をInstagramで見る
เป็นมันจูที่ผสมกากสาเกที่เหลือจากการผลิตสาเก มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ หน้าตาจะคล้ายกับหมั่นโถว เป็นขนมที่ใช้ถวายเทพเจ้าใน “เทศกาลคาซุงะวากามิยะออน” ซึ่งจัดขึ้นที่ศาลเจ้าคาสุงะไทชะ (Kasuga Taisha Shrine / 春日大社) ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อขอพรให้พืชผลอุดมสมบูรณ์และชาวเมืองมีแต่ความสงบสุข ส่วนใหญ่ร้านขนมจะนิยมทำในช่วงหน้าเทศกาล เลยจะหาทานได้ในช่วงเดือนธันวาคมค่ะ
ตอนไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น ใกล้ ๆ หอพักมีร้านขนมสไตล์ญี่ปุ่นแบบบ้าน ๆ เลยลองเปิดใจจิ้ม ๆ มาลองกินดูสักสองสามอย่าง ปรากฏว่าติดใจในรสชาติมาก จากคนที่ไม่ชอบถั่วแดงกลายเป็นถั่วแดงเลิฟเวอร์ขึ้นมาทันที (แต่ต้องเป็นถั่วแดงบดหยาบเท่านั้นนะ) เคยมีคนบอกว่า “ขนมญี่ปุ่นมีแค่สองแบบไม่แป้งห่อถั่วก็ถั่วห่อแป้ง” มันก็จริงนะคะ วัตถุดิบก็มีแค่แป้ง ถั่ว นํ้าตาล แต่ก็ไม่รู้ทำไมขนมแต่ละร้านถึงรสชาติไม่เหมือนกัน ถ้าใครได้ไปนาราหรือญี่ปุ่นลองหาขนมมันจูทานกันดูนะคะ
สรุปเนื้อหาจาก : traditional-foods.maff.go.jp